วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ - ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ"


คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ - ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ"
ชาตรี ประกิตนนทการ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สนพ. ศิลปวัฒนธรรม

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jun 9 2009, 07:15 PM

มีวันหนึ่งได้มีโอกาสนั่งดูรายการ กระจกหกด้าน ตอนสถาปัตย์รัฐนิยม เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในสมัย คณะราษฎร, จอมพล ป. ซึ่งมีลักษณะที่เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และลักษณะที่ว่านั้น มาแค่ในเวลาหนึ่งๆเท่านั้น และหลังจากนั้นกระแสว่าสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไม่ดีก็ตามมา ซึ่งดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ประเด็นของเล่มนี้ ฉะนั้นการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ได้หมายความว่าเราต้องเออออห่อหมกไปกับ กลุ่มผู้สร้างแรกๆ (จอมพล ป.หรือคณะราษฎร) หรือกลุ่มนักวิจารณ์อนุรักษ์นิยมในทุกกรณีไปเช่นกัน แต่ปัจจุบันกระบวนการรื้อสร้างใหม่กลับกำลังดำเนินไป ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สมควรที่เราจะหันกลับมาพิจารณาบ้าง ก่อนที่ทุกอย่างที่ ไม่(หรือว่าใช่) ไทยในความหมายใดๆก็ตามจะหายไป

ชาตรี นับว่าเป็นนักเขียนดาวรุ่งคนหนึ่งสำหรับเรื่องสถาปัตยกรรมไทยในขณะนี้ ก่อนหน้านั้นเรามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายท่านที่เขียนหนังสือออกมา ทั้งวิชาการเพียวๆแบบการทดลองต่างๆ, ทั้งกึ่งๆตำราเรียน (มีทั้งประยุกต์จาก text อังกฤษ และ แบบลอกทั้งดุ้น), กึ่งปรัชญาการออกแบบ (ที่บางเล่มก็ค่อนข้างจะเฉพาะกลุ่มมากๆ ประเภทท่านอยู่นอกกลุ่มนอกพื้นที่ท่านอาจไม่เก็ท), แบบสถาปัตยกรรมต่างประเทศ (ทั้งฝั่งยุโรป, ญี่ปุ่น และแบบอียิปต์โบราณ), แบบอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย และ แบบพื้นถิ่น (ผมว่าประเภทหลังนี้ให้มุมมองใหม่ที่หลากหลายอย่างงานของ อ. อรศิริ) ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้พูดถึงแต่หนังสือในภาคภาษาไทยโดยคนไทยเป็นผู้แต่ง เท่านั้น จริงๆยังมีอีกหลายเล่มที่เหมือนเคยได้ยินว่าจะมีคนรวมเล่มหรือแต่งใหม่ออกมาขาย อย่าง รวมงานของ สเปียร์ สถาปนิกของฮิตเลอร์ หรือ พวกงานสถาปัตยกรรมเชิงอำนาจในอิรักสมัยซัดดัม จริงๆน่าสนใจทั้งนั้นแต่อาจติดที่ตลาดไม่กว้างพอก็เป็นได้ (แต่เล่มเรื่องอันโดของ art4d นั่นรู้สึกพิมพ์ครั้งที่ 2แล้วนะ)

ทำไมด้านสถาปัตยกรรมประยุกต์ หรือ ว่าด้วยเรื่องดีไซน์แบบไทย (ไม่ว่าจะสมัยใหม่หรือเก่า) หนังสือถึงน้อย หรือไม่แพร่หลาย (หลายปีก่อน เคยได้ยินรุ่นน้องคนหนึ่งว่า อาจมีอาจารย์บางท่านสนใจ เขียนเรื่องของสถาปนิกต่างชาติ เยอรมันรึไงเนี่ยผมไม่แน่ใจ ที่มาทำงานออกแบบในไทย สมัย ร.5 จริงๆผมว่าน่าสนใจมากๆนะครับ ไม่รู้มีพิมพ์รึยัง) ถ้าจำไม่ผิด สถาปนิกสยามเคยทำออกมาเหมือนกัน แต่ผมว่าค่อนข้างน่าเบื่อไปนิด / กลับมาที่ ชาตรี ครับ ผมติดตามงานเขียนของเขาหลายงานโดยมากจาก นิตยสารอย่าง ศิลปวัฒนธรรม, อ่าน หรือ บางชิ้นในนิตยสารอื่นๆ บางบทความเป็นเหมือนหัวข้อที่คุยในวงเหล้ากับเพื่อนแต่ก่อนมาก อย่าง คำถามยอดฮิต "อะไรที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมไทย"(ใช่ที่แค่ใส่หน้าจั่ว กับ กาแล รึเปล่า หรือที่เราชอบหลอกฝรั่งว่าใส่ ลานกลาง-ยกพื้น เข้าไปไง เหอๆแถมเจดีย์หรือศาลาเข้าไปหน่อย แจ่มมม แต่ของ คุณชาตรี มีมุมมองที่เป็นวิชาการมากกว่าวงเหล้าของผม) หรือมีที่เป็นรวมเล่มใหญ่ๆอีกเล่มคือ "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม" ซึ่งเล่มนี้ก็น่าสนใจได้รางวัลจากเครืออมรินทร์มาด้วย ใครสนใจต่อก็น่าหามาอ่านต่อเนื่อง

เล่มนี้ ชาตรี เสนอถึงบริบท และความสำคัญในแง่ความหมาย และคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ มากกว่าบรรทัดฐานว่าด้วยความงาม (มีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดให้นักศึกษาฟังนานมาแล้วว่า ความงามนั้นไม่มีกฎ หรือบรรทัดฐาน มันอยู่ที่ใครมอง หรือมอง ณ เวลาใด) ถ้าเป็นเรื่องความงาม หลายคนคงเคยได้ยินแบบทั้งบ่นทั้งก่นด่ามาก็มาก แต่ในเล่มนี้มีการยกหลายข้อความขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการลดคุณค่างานสถาปัตยกรรมเหล่านี้ในแง่การเมือง เพื่อเจตนาทำลายเสียให้สิ้น อย่างกรณีที่ ศึกฤทธิ์ เขียนบทความกรณีรื้อศาลาเฉลิมไทยว่าดีเพราะมันต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง (น.23) หรือวิจารณ์งานหลายชิ้นที่มีอิทธิพลของสมัย คณะราษฎร (ที่มีความเป็น modern ในด้านที่ว่า เป็นสถาปัตยกรรมรับใช้คนทุกชนชั้นให้มีความเท่าเทียม และไม่ใส่เครื่องยศตกแต่งเพื่อแสดง ฐานานุศักดิ์ในอาคาร) ในแง่ที่ว่ามีความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ไทยมากเกิน
ไป แต่จริงๆแล้วสมัยนั้นมีแบ่งอยู่แล้วเป็นแบบใหญ่ๅ 2 แบบ คือ แบบสมัยใหม่ กับแบบไทยเครื่องคอนกรีต ในสายตาท่าน ศึกฤทธิ์ อาจคิดว่า มันยังไม่มากพอหรือว่าท่านจะมีนัยอื่น (เรียกแบบปัจจุบันว่าผลประโยชน์ทับซ้อน ได้หรือเปล่า) เหมือนที่หนังสือเล่มชูไว้หรือไม่ เพราะท่านเองก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ประดิษฐ์ความเป็นไทยหรืออะไรที่เรียกว่าไทยออกมามากมาย แต่อาคารบางประเภทผมก็ไม่เห็นด้วยจริงๆอย่างแบบโบสถ์ ก, ข, ค ที่มันดูว่าจะอนุรักษ์ก็ได้จะลดคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นก็ได้เช่นกัน

เขาว่ากันว่ารูปหนึ่งรูปแทนคำนับพัน แม้รูปมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก แต่ถือว่าสวยและคมชัด ถึงจะเป็นเพียงรูปขาวดำ แค่เสียดายเล็กไปนิด เล่มนี้ แบ่งออกเป็น 3 บท ได้แก่ สถาปัตยกรรมคณะราษฎร - ประวัติศาสตร์ที่ถูก(ทำให้)ลืม, ลพบุรี - เมืองทหารทันสมัยฯ และงานฉลองรัฐธรรมนูญ - รัฐพิธีสำคัญฯ / ทุกบทจะเริ่มด้วย บทความแล้วปิดท้ายด้วย ภาพประกอบพร้อมคำอธิบาย จริงๆแล้วในทุกๆบทถือว่าภาพประกอบมีความน่าสนใจและหาดูยาก ส่วนความสำคัญหรือความหมาย ก็คงต้องอ่านประกอบกันดู เล่มนี้น่าจะเหมาะสำหรับผู้ไม่ค่อยชอบอ่านแต่ชอบดูรูปเป็นสำคัญ ลองมาดูสถาปนิกดังๆ(สมัยก่อน) กันดูบ้างอย่าง หมิว อภัยวงศ์, พระพรหมพิจิตร หรือ นารถ โพธิประสาท ว่ามีส่วนเพียงไรในสังคมสถาปัตยกรรม และ สังคมการเมืองสมัยนั้น และหวังว่าจะมีหนังสือสถาปัตย์ นอกกระแสเล็กๆอย่างนี้ออกมาอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น