วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ในความนิ่งนึก - ฟรันซ์ คาฟคา


ในความนิ่งนึก - ฟรันซ์ คาฟคา
รวมงานเขียนขนาดสั้นทั้งหมดในช่วงชีวิตผู้เขียน - ดลสิทธิ์ บางคมบาง แปล
สนพ. ชมนาด

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Aug 25 2009, 11:05 PM

ในครั้งแรกว่าจะแนะนำเป็นนวนิยายเรื่องยาวของเขาที่ชื่อว่า "ปราสาท" ตีพิมพ์โดย อมรินทร์ เพราะอ่านได้ลื่นกว่า เหมาะสำหรับการอ่านแบบครั้งแรก หรืออ่านหลังจากอ่านเรื่องสั้นขนาดยาวอื่นๆของเขามาก่อน แต่ให้เพราะเล่มที่มีหน้าดันหายไปเมื่อถึงกลางเล่ม เหอๆเซ็งจิดไปเลย กำลังสนุกและเห็นภาพกับสัญลักษณ์ที่มีในนวนิยายพอดี / เล่มนี้เป็นการรวมงานที่เป็นเรื่องสั้นทั้งหมด โดยผู้แปลกล่าวว่าสมบูรณ์ที่สุดที่เคยรวมกันมา และจุดมุ่งหมายของผู้แปลคือ การคงไว้ซึ่งอรรถรสและถ่ายทอดวิธีการเขียนของนักเขียนให้ออกมาใกล้เคียงมากที่สุด ทำให้บางตอนบางเรื่องจะอ่านไม่ไหลลื่นตามความเคยชินของผู้อ่านชาวไทย เพราะวิธีการเขียนของนักเขียนก็แปลก (อันนี้ผู้แปลว่าไว้) ส่วนตัวเองไม่เคยอ่านในฉบับอังกฤษ (ยิ่งเยอรมันยิ่งผ่านเลย) มาก่อน ผมเลยไม่แน่ใจนักว่า มันจะติดสไตล์อ่านแล้วเหนื่อยๆ เหมือนกันรึไม่

ในส่วนแรกจะเป็นบทที่แนะนำจากผู้แปล ซึ่งไม่ใช่หน้าใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น สมัยก่อนใช้ในชื่อ สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปลงานระดับสุดๆมาแล้วหลายชิ้นอย่างงานของ ลีโอ ตอสสตอย เป็นต้น ซึ่งผู้แปลก็ได้ชี้แจงและอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องการแปล / ในเล่มแบ่งงานเขียนออกเป็น 8 เรื่องใหญ่ (หรือ 8 ส่วนหลัก) ในแต่ละเรื่องใหญ่ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นมากบ้างน้อยบ้าง การเรียงลำดับก็ไล่ตามปีเป็นสำคัญ

- ในความนิ่งนึก หรือ Meditation
น่าจะเป็นบทที่ค่อนข้าง เหมือนลอยในหัว ทำให้ถ้าไม่เคยอ่านงานของ คาฟคา มาก่อนเลย ไม่ใคร่แนะนำให้เริ่มอ่านบทนี้ น่าจะลองไปอ่านเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว จะดีกว่าแต่ถ้าอยากลองอ่านเลยก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด / ส่วนดังกล่าวประกอบไปด้วยเรื่องขนาดสั้นมากๆหลายเรื่อง บางเรื่องแค่หน้าเดียว และตามชื่อเลย มันเหมือนกับว่าเป็นการเขียนแบบฉับพลัน หรือมาจากอารมณ์ ณ ขณะนั้นของผู้เขียน (อันนี้ผมรู้สึกเอง) เพราะมันค่อนข้างสั้นมาก คล้ายเรานึกอะไร เห็นอะไร ก็เขียนมันออกมาเลย ฉะนั้นบางทีมันก็จะจบลงแบบดื้อๆด้วย แต่ที่ได้แน่ๆคือได้ความสดใหม่ของความคิดของ คาฟคา ผู้ที่มีความเก่งในด้านการเล่นกับภาษาสัญลักษณ์มากๆคนหนึ่ง บทนี้อยากเรียกว่าเป็นบทพรรณา น่าจะเห็นภาพกว่า ส่วนตัวผมชอบ "ความแน่วนิ่ง", "โชคร้ายของคนโสด", "คนค้าขาย", "บนรถราง", "หน้าต่างฝั่งถนน" และ "ต้นไม้" เป็นต้น

- คำพิพากษา หรือ The Judgement
เรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวพอควร คือไม่ถึงกับยาวมาก ประมาณ 10 กว่าหน้า เรื่องจบแบบหักมุมนิดหน่อย หดหู่และดุดันพอตัวในความคิดผมเอง

- ช่างไฟห้องเครื่อง หรือ The Stoker
เช่นกันเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว เพียงแต่ไม่ยาวที่สุดของเล่มนี้ ถ้าเรื่องที่แล้วว่าหดหู่ เรื่องนี้เกือบจะยืนอยู่อีกข้าง ถือว่าเกือบเพราะรู้สึกว่าจะมีแอบเล็กๆซ่อนไว้ของผู้เขียนนี่เองถ้าพูดถึงที่มาที่ไป ผมค่อนข้างว่ามันแปลกๆนิดหน่อย แต่การดำเนินเรื่อง กับตอนจบไม่ถึงกับแปลกมากเท่าโครงเรื่องหลัก

- ความเปลี่ยนแปลง หรือ The Metamorphosis
เรื่องนี้คือเรื่องที่ผมว่าดังสุดๆแล้ว ช่วงหนึ่งเกือบจะกลายเป็นมหาคำภีร์ของนักเรียนออกแบบด้วยซ้ำไป ว่ากันถึงการกลายร่าง แต่ไม่รู้ทำไมหลังจากอ่าน "ปราสาท" ไปครึ่งเล่มเทียบกับเรื่องนี้ ในแง่ตัวตน กับกรอบสังคม หรือระบบสังคม ที่ครอบงำตัวตนของตัวเอกอยู่ มองแบบกว้างๆผมว่าหันกลับเทียบได้กับสังคมปัจจุบันเหมือนกันนะ เพียงแต่เรื่องนี้ลงไปที่ตัวบุคคลสูงกว่าในแง่เกี่ยวกับระบบ ในเรื่อง"ปราสาท" / เรื่องนี้ตอนจบตลกแบบแดกดันดีในความรู้สึกผมนะ
"วิถีทางที่มีเหตุผลที่สุดก็คือต้องเสี่ยงทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับความหวังที่น้อยนิดที่สุดที่จะออกไปได้จากมัน" น.110

- ในนิคมลงทัณฑ์ หรือ In The Penal Colony
เรื่องนี้ผมชอบรองมาจาก The Metamorphosis บางครั้งผมเองก็บอกไม่ถูก แต่ผมชอบเรื่องประมาณนี้แหละ ดุดัน ไม่รอมชอม สัญลักษณ์เยอะๆ อ่านแล้วปวดกบาลไปครึ่งวัน / จินตนาการในการกระทำลงโทษนี่ ผมว่าหลายครั้งมันก็อยู่บนขอบเส้นของความปกติได้เหมือนกัน จะเป็นอย่างไงต้องลองอ่านดูครับ
"เขาไม่รู้คำตัดสินโทษที่มีขึ้นกับเขาหรอกรึ" - "ไม่เห็นต้องบอกอะไรกับเขา เขาจะเรียนรู้มันบนร่างเขานั่นเลย" น.172

- หมอชนบท หรือ A Country Doctor
ในชุดนี้จะประกอบไปด้วยเรื่องสั้นหลายเรื่อง เหมือนกับในส่วน "ในความนิ่งนึก" เพียงแต่มันค่อนข้างจะอ่านลื่นกว่า ที่ว่าค่อนข้างก็เพราะบางเรื่องก็ยังคงอ่านได้แบบเหนื่อยๆเหมือนเดิม เหอๆ เรื่องที่ผมชอบก็ "เอกสารเก่าฉบับหนึ่ง" กับ "เบื้องหน้ากฏหมาย" - มีการหักมุมท้ายเรื่องดี ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ออกแนวหักมุม ในเรื่อง "ความห่วงใยของคนในครอบครัว" ผมชอบประโยคหนึ่ง - [อะไรก็แล้วแต่ที่ตายได้มันต้องมีเป้าหมายซักอย่างในชีวิต] / ที่แปลกสุดๆ ก็ต้องเรื่อง "บทรายงานต่อที่ประชุมวิชาการ" ผมชอบนะ เหอๆ คือผมว่า ชุดนี้มีแต่เรื่องแนวแปลก สัญลักษณ์มากมายอยู่หลายเรื่อง

- นักขี่ถัง หรือ The Bucket Rider
เป็นเรื่องขนาดสั้นอีกเรื่องหนึ่ง จบได้สุดยอดมาก ทั้งโครงเรื่องและการดำเนินเรื่อง หรือตอนจบ เหนือชั้นมาก

- ศิลปินนักอดอาหาร หรือ A Hunger Artist
ส่วนนี้ก็เช่นกันมีเรื่องสั้น 4 เรื่องประกอบอยู่ภายใน โดยทั้ง 4 เรื่องนี้ ว่าด้วยเรื่องของศิลปิน ทั้งนักไต่ลวด, นักอดอาหาร, นักร้อง มีเพียงเรื่องเดียวที่ต่างออกไป และเรื่องสุดท้ายนี่แหละผมว่าอ่านแล้วเหนื่อยพอตัว ต้องลองอ่านดูเองครับ ในส่วนของอาชีพ นักอดอาหารให้ภาพเชิงสัญลักษณ์ที่น่าสนใจดีทีเดียว

เสน่ห์ที่แท้ในการอ่านงาน คาฟคา คือการค้นพบด้วยตัวเอง ตีความเอง ศึกษาภาษาสัญลักษณ์ด้วยความสนุกเอง ให้สมกับความต้องการของผู้เขียนที่ ว่าหนังสือที่ดีต้องทำให้เราคิด หากไม่กระตุ้นให้เราคิดก็ปล่าวประโยชน์ในการอ่าน แต่จะจริงรึไม่ต้องลองดู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น