วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Sophie's World - Jostein Gaarder


Sophie's World - Jostein Gaarder
โลกของโซฟี - สายพิณ ศุพุทธมงคล แปล, สุมาลี บำรุงสุข บรรณาธิการ
สนพ. คบไฟ / พิมพ์ครั้งที่ 10

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Sep 13 2009, 11:11 PM

หากจะบอกว่านี่เป็นหนังสือปรัชญาที่อ่านง่ายเล่มหนึ่งก็ไม่ผิด เล่มนี้เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นสนใจปรัชญา ส่วนหนึ่งผู้เขียนเองก็ตั้งใจจะให้เป็นหนังสือที่เหมาะกับวัยรุ่นและทุกคนในครอบครัวอ่าน ทำให้เนื้อหาไม่ยุ่งยากแต่ก็ไม่ได้เบามาก ออกไปทางฉบับย่อแบบกระตุ้นความสนใจให้อ่านต่อ / สมัยก่อน หนังสือประเภทนี้ส่วนใหญ่จะทำขึ้นเพื่อผู้ใหญ่ หรือนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หากไม่ติดคนในกลุ่มนี้ก็ต้องใช้ความตั้งใจกับคนคอยช่วยไกด์บ้างเป็นบางโอกาส เพื่ออ่านให้เข้าถึง / ในแง่หนึ่งพอทำเพื่อคนรุ่นใหม่อ่าน การดำเนินเรื่องจึงเข้าขั้นแปลกเล่มหนึ่ง แต่จะมากขนาดไหนคงต้องลองดู / ผมถือโอกาสคิดเองว่าเล่มนี้น่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือ ส่วนเนื้อหาปรัชญา ใช้การสนทนากันระหว่างตัวละครถึง แนวปรัชญาหรือนักปรัชญานั้นๆ (จะว่าไปก็คล้ายพวกบทสนทนาต่างๆที่ นักปรัชญายุคกรีกชอบใช้) เพื่ออธิบายแนวความคิด หรือเนื้อหาสาระและการยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งการดำเนินเรื่องในส่วนนี้ก็ใช้การไล่ตามยุคจากเก่าไปใหม่ แถมด้วยอีกสองคนที่แม้จะไม่ใช่นักปรัชญาแบบตรงตัว (มาร์กซ์ ก็ออกแนวเศรษฐศาสตร์มากกว่า ล่าสุดนี่ก็พึ่งมีการทบทวนกันถึงสิ่งที่เขาเขียนในหนังสือ capital แม้กระทั่ง โซรอส ยังบอกว่าต้องกลับมาอ่านใหม่เพื่อทำความเข้าใจกับภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจในปัจจุบัน) แต่ก็มีอิทธิพลและสร้างผลกระทบในวงกว้างเช่นกันคือ ดาร์วิน กับ ฟรอยด์

ส่วนเนื้อหาเริ่มต้นตั้งแต่กลุ่มนักปรัชญาธรรมชาติ (สมัยแรกของปรัชญากรีก) จากไมเลตุส ที่ตั้งคำถามกับปฐมธาตุที่เป็นที่มาของทุกสิ่ง และการที่สรรพสิ่งจะต้องคืนกลับไปสู่บางอย่างนั้นด้วย (ฟังคุ้นนิดๆใช่ไหม) หลังจากนั้นแนวความคิดก็จะเริ่มซับซ้อนขึ้นว่าถึงธาตุตั้งต้น, พลังที่โอบอุ้มโลกไว้, ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง, รูปแบบต่างลื่นไหล, ไม่มีอะไรเกิดจากความว่างเปล่า (ไม่รู้ใครเคยอ่านของ Stephen Hawkings รึเปล่าว่าหลักนี้สัมพันธ์กันระหว่างศาสนากับการกำเนิดของจักรวาล จริงจังกันขนาดเพื่อพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริงรึไม่..รายละเอียดเยอะพอควรน่าหาอ่านเหมือนกัน) และไม่มีอะไรที่สูญหายไป ซึ่งส่งผลต่อแนวควาคิด "อะตอม" ของ เดโมคริตุส น่าจะคุ้นสุดแล้วสำหรับหลายคน / ยุคต่อมาถือว่าเป็นยุคทองอย่างแท้จริงของกลุ่มปรัชญาจากเอเธนส์ โดยเน้นไปที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง นำโดยพวกโซฟิสต์, โสกราตีส, เพลโต และอริสโตเติล ถ้าเคยอ่านมาแล้วจากเล่มอื่นๆลองดูตัวอย่างในนี้เทียบก็น่าสนใจครับ / ยุคต่อมา กลุ่มที่อาจจะเคยได้ยินกันบ่อยๆก็ พวกสโตอิก หรือ พวกลัทธิอีพิคิวเรียน ซึ่งถ้าไม่เคยอ่านมาก่อนอันนี้ก็ไกด์ดีครับ

ยุคกลาง ดูเป็นยุคที่มืดมน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นยุคแห่งการบ่มสร้างเหมือนดักแด้เพื่อรอการเกิดใหม่ในยุครู้แจ้ง เพราะโรงเรียนคอนแวนต์ก็เริ่มในสมัยนี้เอง แล้วยังการเกิดรัฐชาติ หรือแม้กระทั่งนิทานพื้นบ้านต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นยุคที่เน้นไปทางศาสนา นักปรัชญาที่สำคัญๆก็ไปทางนักบวชด้วย อย่าง นักบุญออกัสติน หรือ นักบุญอไควนัส / ยุคบาโรค เป็นยุคที่ต่อจากยุครู้แจ้ง ความขัดแย้งมีมากกว่าความเรียบง่าย อีกทั้งความแตกต่างระหว่างชนชั้นก็รุนแรง แต่เช่นเคย ในความขัดแย้งนั้น มีอะไรน่าสนใจหลายประการ เช่น แนวความคิดว่าโลกคือละคร เป็นต้น / เนื้อหาต่อจากนี้จะเริ่ม เข้มข้นและสนุกมากยิ่งขึ้น นำทีมโดย เดส์การ์ต, สปิโนซา, ล็อค, ฮิวม์, ค้านท์, เฮเกล, คีร์เกกอร์ด, มาร์กซ์ และซาร์ตร์ เป็นต้น

ส่วนที่ 2 คือ ส่วนดำเนินเรื่อง จะซ้อนกันอยู่ในแต่ละบทของเนื้อหา มีการใช้ปรัชญามาเป็นส่วนในการดำเนินเรื่องทำให้มีความซับซ้อนขึ้น ถ้าใครเคยตั้งคำถามตอนเด็กว่า เรามาจากไหน (ปรัชญาก็พยายามหาคำตอบนั้นเช่นกัน) หรือเป็นไปได้ไหมว่าเราจะเป็นเพียงเศษของความคิดคำนึงของใครคนหนึ่งที่ซ้อนอยู่อีกที หรือการตั้งคำถามกับสารพัดปัญหา เมื่อเราเริ่มสนใจในสิ่งต่างๆรอบตัว (เคยอ่านงานของ Bertrand Russell เรื่องการรับรู้ ว่าเราจะเชื่อในผัสสะตัวเองได้มากเพียงใดว่าสีโต๊ะที่เราเห็นเป็นสีนั้นจริง) แล้วมันจริงเหมือนหนังสือเล่มนี้เขียนรึเปล่าว่า เป็นเพราะเราแก่ขึ้นเราเลยเลิกสนใจตั้งคำถามเนื่องจากชินชา

ตัวละครหลัก 4 ตัวที่ดำเนินเรื่องคือ โซฟี (แปลว่าปัญญา) อามุนด์เซน และฮิลเด (ชื่อตามแม่ชีในสมัยก่อน) โมลเลอร์ น้าค เด็กหญิงอายุ 14 ปี, ท่านนายพัน และอัลแบร์โต น็อคซ์ / ในตอนแรกนั้นโซฟี กับ อัลแบร์โต เป็นผู้ดำเนินเรื่องในฐานะอาจารย์กับศิษย์ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป ตัวละครอีกสองตัวจึงปรากฏขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร 2 คู่จะส่งผลถึงกันแบบคู่ขนาน เริ่มเห็นชัดเจนหลังจากเริ่มราวๆกลางเรื่องไปแล้ว จะว่าออกนวนิยายแฟนซีนิดๆก็ได้ แต่แฟนซีที่เกิดขึ้นมีฐานมาจากปรัชญา พอถึงตอนท้ายแล้ว หลายคนน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันเหมือนกับคำถามสมัยเด็กของเรานั่นเอง / อีกประการในความรู้สึกคือ การมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เล็กน้อยจะทำให้มีความสนุกมากขึ้นอีก (เพราะปรัชญาก็เป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่โบราณมาแล้ว) เฉลยได้เพียงว่า ทั้ง 2 ศาสตร์ ต่างตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบ เหมือนๆกัน และทั้ง 2 ศาสตร์ ยังเหมือนกันที่ คำตอบไม่ใช่สิ่งตายตัวอีกทั้งไม่น่าสนใจเท่าการตั้งคำถาม

เนื่องจากว่าการตระหนักรู้ในทุกจังหวะ ดูจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของทั้ง 2 ศาสตร์เช่นกัน อย่างในบทแรก ผมชอบอยู่ประโยคหนึ่ง "เราไม่สามารถมีประสบการณ์เรื่องการมีชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่ตระหนักว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย" น.7 น่าจะชัดเจนพอควร ว่าหลังอ่าน ขณะอ่าน เล่มนี้ให้อะไรในหลายมุมทีเดียว อาจจะหนาไปนิด เพราะเนื้อหามันเยอะด้วยล่ะ แต่อ่านสนุกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น