วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมคือความหมาย-ทฤษฏีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ


วัฒนธรรมคือความหมาย-ทฤษฏีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ
อคิน รพีพัฒน์ เขียน
รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น “TTF Award” ประจำปี 2551
สนพ. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jul 12 2009, 11:16 PM

หนังสือเล่มนี้เป็นการอธิบายงานของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ ในความเข้าใจของ อคิน รพีพัฒน์ ซึ่งผมอยากเรียกว่าเป็นคู่มือสำหรับไกด์งาน เกียร์ซ สำหรับผู้เริ่มต้น ผ่าน 4 ตอน 17 บทย่อย แม้ผู้เขียนจะออกตัวไว้ก่อนว่า นี่เป็นความเข้าใจส่วนตัวที่มีต่องานของ เกียร์ซ แต่ผมก็ยังคิดว่า มันก็ยังดีกว่าการเดาสุ่มสำหรับผู้อ่านหน้าใหม่อย่างผมอยู่ดีในการเริ่มอ่านงานอย่างนี้ (เพราะขนาดผู้เขียนซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงพอตัวในแวดวงมานุษยวิทยาในไทย ยังออกตัวไว้นิดหนึ่งว่า ภาษาและวิธีเขียนของ เกียร์ซ ค่อนข้างสวิง) ชื่อของผู้เขียนผมได้เห็นครั้งแรก เป็นชื่ออ้างอิงในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปกครองไทย ของนักเขียนฝรั่งท่านหนึ่งตอน เรียนอยู่ปี 4 หลายปีมาแล้วเหมือนกัน ส่วนตัวของ เกียร์ซ เขาเป็นนักมานุษยวิทยาคนดังคนหนึ่ง ผมสนใจเมื่อได้อ่านบทความเกี่ยวกับภาคใต้บ้านเรา แล้วมีการอ้างถึงงานของ เกียร์ซ เอาไว้ด้วย ผมมาทราบภายหลังว่างานของ เกียร์ซ เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่สนใจศึกษากลุ่มคนชายขอบ เนื่องว่าระบบและวิธีตีความของแก เอื้อและหยืดหยุ่นในงานด้านนี้

งานของ เกียร์ซ มักจะได้คำชมจากนักวิชาการในสายอื่นๆอย่างมาก อย่างหนึ่งที่สังเกตได้ก็เพราะวิธีการตีความและความหลากหลายที่มาจากการผสมแนวความคิดของ นักวิชาการท่านอื่นๆที่ทำการวิจัยมาก่อนหน้า กับผลการวิจัยภาคสนามโดยตัวเอง ที่บันทึกอย่างละเอียด พิถีพิถัน จนบางช่วงแทบเหมือนวรรณกรรม มากกว่าเอกสารทางวิชาการซึ่งตัว เกียร์ซ เองเรียกว่า "การบรรยายอย่างละเอียด" ตัวเองผมเองเห็นภาพมากขึ้นจากการไกด์ของผู้เขียนต่องานเล่มหนึ่งของ เกียร์ซ ที่บรรยายการตีไก่ของชาวบาหลี ที่ละเอียด เพราะมีการอธิบายถึงบริบทรอบๆ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เก็บรวบรวมมาได้จากงานภาคสนามเท่านั้น ซึ่งผมพึ่งเข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงต้องละเอียดขนาดนี้ ก็จากบทนี้นี่เอง เพราะจริงที่ว่า เราไม่มีทางเข้าใจ เรื่องเหล่านี้ได้เลยถ้าไม่มองบริบทโดยรอบทั้งหมด และมองถึงเหตุและภาวะแวดล้อมในการตีความเหล่านั้น (แล้วผลของการตีความก็น่าสนใจและแปลกใหม่ดี จนผมอดไม่ได้ที่อยากมองกลับมาหาบ้านเราบ้าง)

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สิ่งที่เขาเชื่อเหมือน แม็กซ์ เวเบอร์ ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์คล้ายแมงมุมที่แขวนห้อยอยู่ในสายใยของความหมายที่ตัวเขาเองได้สร้างขึ้น" ซึ่ง เกียร์ซ ถือว่าวัฒนธรรมคือสายใยนั้น การวิเคราะห์วัฒนธรรม จึงเป็นการค้นหาความหมายและแปลความหมาย (น.15) เพราะมันปรากฏแทบในทุก เล่มที่เกียร์ซ เขียน ไม่ว่าจะเรื่อง ศาสนาในชวาที่ผมว่า เกียร์ซ นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาประกอบกับการลงภาคสนามได้น่าสนใจมาก หรือ การตีความจากเรื่องการขโมยแกะ ในโมร๊อคโก ก็นำประเด็นเริ่มต้นที่มองดูธรรมดา มาต่อยอดได้ กลายเป็นแนวความคิดที่ซับซ้อนขึ้น ก็ด้วยการตีความหมายที่ซ่อนอยู่เหล่านั้น (ต่อมา เกียร์ซ ได้เอางานศึกษาจาก 2 สถานที่ คือ ชวา กับ โมร๊อคโก มาศึกษาเปรียบเทียบกัน ถึงประเด็นความแตกต่างทางด้านฐานะและเพศ ได้น่าสนใจมาก จนมีหลายคนอยากให้ เกียร์ซ ศึกษางานของบ้านเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้บ้างเพราะมีบริบทบางอย่างคล้ายคลึงเช่นกัน น่าเสียดายที่แกตายไปซะก่อน)

หลังจากอ่านเสร็จแล้ว ส่วนตัวค่อนข้างสนใจอยากลองอ่านเต็มๆ ในเล่มชื่อ Negara มากที่สุด ซึ่งบทความในเล่มนี้ถือว่ามีความน่าสนใจ ด้วยเพราะ มันเต็มไปด้วยการตีความสัญลักษณ์ในเชิงสังคม ,การแบ่งลำดับชั้น และประเด็นที่เกียร์ซ ว่าในสังคมบาหลีไม่มีทาส / ส่วนที่ผมชอบคือการเปรียบเทียบเรื่องการเล่นละคร ในสังคมชาวบาหลี (มีการเกริ่นมาก่อนแล้ว ในแง่ความคิดเกี่ยวกับการเปรียบเทียบสังคม เป็นภาวะต่างๆ เช่น ละคร, เกมส์ หรือหนังสือ ในบทที่14) ว่าเป็นรัฐละคร ที่ส่งผลออกไปในทุกระดับสังคมของบาหลี ทั้งในงานพิธีกรรม หรืองานศพไม่ว่าจะของเจ้าหรือสามัญชน / ผมนึกถึง ละครบารอง ของบาหลีเหมือนกัน หรือละครหน้ากากทั้งหลายในสังคมเอเชีย เช่น ละครโน ของญี่ปุ่น (เป็นละครหน้ากาก (หน้ากากมีประมาณ 5อารมณ์) ที่ใช้การดำเนินท่วงท่าแบบเชื่องช้า ในบทละครที่เป็นเล่ม จะประกอบไปด้วยส่วนตัวหนังสือ 2 สี วิ่งคู่กันไป ตัวสีดำคือบท ตัวสีแดงคือข้อกำหนด การเคลื่อนไหวถ่วงท่า ที่เข้มงวด) ที่มีประเด็นบางอย่างคล้ายๆกันแต่ไม่เหมือนกัน เพราะทั้งศาสนาและประเด็นปลีกย่อยอีกมากมาย

แม้ว่างานในหนังสือภาคภาษาไทยแบบแปลตรงๆยังไม่มี ที่มีอีกเล่มก็เป็นในทำนองคล้ายกันคือ เป็นการอ้างงานเขียนของ เกียร์ซ มาเขียนตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง เป็นเรื่องปรัชญาการเมือง ไม่ใช่เชิงมานุษยวิทยาเหมือนเล่มนี้ ณ.ตอนนี้จึงน่าจะมีเพียง 2 เล่มนี้เท่านั้น และน่าสนใจหากอยากเริ่มทำความรู้จักกับ เกียร์ซ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น