วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การต่อสู้ของทุนไทย - การปรับตัวและพลวัต 1


การต่อสู้ของทุนไทย - การปรับตัวและพลวัต 1
ผาสุก พงษ์ไพจิตร บรรณาธิการ
สกว. / สนพ. มติชน 2549

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Nov 29 2009, 09:31 PM

โดยส่วนตัวแล้วจะชอบหนังสือเศรษฐกิจที่ให้ข้อมูลแบบทางอ้อมมากกว่าแบบตรง เพราะว่าแบบทางตรงที่อ่านมาจะออกเนื่อยๆ (เข้าใจว่าเพราะต้องการให้รู้แบบเป็นขั้นตอน) พอมาเจอชุดนี้ ติดจะชอบมากเป็นพิเศษ เพราะมันให้ความรู้แบบไม่ตื้นและไม่ลึกมากเกินไป ประมาณว่าถ้าสนใจหัวข้อใด สามารถไปหาอ่านแบบละเอียดทีหลังได้ แถมพออ่านเสร็จ ก็ยังไกด์และให้ภาพร่างคร่าวๆในธุรกิจนั้นๆไปด้วยในตัว / ในเล่มนี้จะเน้นไปที่การปรับตัวของธุรกิจสัญชาติไทยต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ช่วงเวลาที่หนักแน่นไม่เป็นรองวิกฤตของชาติใด แต่ก่อนที่เราจะรู้ว่าเค้าปรับตัวกันอย่างไร เราก็ต้องมาทำเข้าใจที่พื้นฐานก่อน

บทนำ
ผาสุก พงษ์ไพจิตร
บทนี้เป็นการเกริ่นที่มาของคำว่า "ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" แปลคร่าวๆว่าการผูกขาด และไม่ได้หมายความว่าต้องมาจากกลุ่มทุนเท่านั้น รัฐก็สามารถทำได้ผ่านนโยบายต่างๆ ถ้าลองอ่านงานวิจัยล่าสุด "การผูกขาดกับความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่บอกว่าเฉพาะรายได้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในภาคธุรกิจไทย 80% ของบริษัท มีรายได้รวมคิดเป็น 10% ของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่บริษัทที่เหลือ 20% มีรายได้คิดเป็น 80% ของตลาดฯ รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีรายได้รวมคิดเป็น 52.1% ของรายได้รวมของตลาดหลักทรัพย์ หลายกรณีรัฐสร้างการผูกขาดเองเช่น การผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐเอง เช่นกรณีสัมปทาน อสมท., TOT ก็จะเห็นภาพมากขึ้น แล้วถ้ายิ่งอ่านในเล่มนี้ประกอบจะยิ่งเข้าใจเรื่องการกระจุกตัวของหุ้นด้วยอีกส่วนหนึ่ง / ในบทนี้จะปิดท้ายด้วยการแนะนำบทความที่ตีพิมพ์ทั้งในเล่มนี้และเล่มที่ 2 แบบคร่าวๆ ไม่เสียอรรถรสมากจนเกินงาม

แตกแล้วโต - ธุรกิจครอบครัวไทยในพายุโลกาภิวัตน์
เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ ยาบุชิตะ
บทนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก โดยปูพื้นฐานพร้อมยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจประกอบและอธิบายการปรับตัวกับปัญหาเป็นส่วนๆไป / บทบาทของธุรกิจครอบครัวไทยแท้จริงแล้วมีสัดส่วนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบยอดขายรวมของ 1,000 บริษัทแรกในปี 2540 ธุรกิจครอบครัวไทยมีสัดส่วนสูงถึง 57.7% ถ้าเป็นสินทรัพย์ก็ประมาณ 70% ของมูลค่ารวมแล้วอย่างที่เราๆทราบ จนถึง ณ ปัจจุบันนี้ ธุรกิจครอบครัว ก็ยังส่งผลต่อตลาดโดยรวม ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้เค้าจะไม่นิยมถือหุ้นกันแบบตรงๆ ทำให้เราเข้าใจกันว่ามีการเปลี่ยนมือผู้มีอำนาจ แต่จริงๆแล้วเค้าจะถือหุ้นกันแบบไขว้เยอะขึ้น จดทะเบียนเป็นบริษัทโฮลดิ้งแทนเพื่อทั้งความคล่องตัวและความโปร่งใสมากขึ้น (มั้ง?...ลองคิดดูหลังอ่านแล้วอาจจะคิดแบบผม) ที่แม้แต่ สนง ทรัพย์สินฯ ยังจดบริษัทโฮลดิ้งเพื่อบริหารสินทรัพย์เลย

ธุรกิจครอบครัวสามารถเป็นสาเหตุให้ครอบครัวโดยรวมทั้งหมดมีปัญหาได้ เพราะปัญหาเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ ที่เล่มนี้จะเรียกว่าแบบปิด แต่ส่วนใหญ่ก็จะล่มหายหรือเปลี่ยนโครงสร้าง ลดบทบาทกันไปหลายธุรกิจแล้ว แน่นอนว่าความน่าสนใจที่สุดของบทความนี้คือการดูวิธีปรับตัวและต่อเนื่องถึง ใครบ้างที่ประสบความสำเร็จ ใครล้มเหลว / มีอย่างหนึ่งที่พึ่งเห็นและค่อนข้างส่งผลนิดหน่อยต่อสายอาชีพเราคือ เล่มนี้ออกเมื่อปี 49 ณ เวลานั้น รัฐบาลมีแต่นโยบายที่จะทำโครงการสร้างโรงงานเหล็กต้นน้ำ (หรือโรงงานถลุงไม่ใช่การแปรรูปอีกที เป็นรีดร้อนรีดเย็น ถ้าเคยดูรายการ"กบนอกกะลา" ตอนที่พูดถึงการนำเข้าเหล็กจะเห็นภาพขึ้น) วันนี้พึ่งเห็นข่าว เปิดโรงงานแล้วจ้า แต่พึ่งสร้างนะ เหอๆประเทศเรายังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะจริงๆ

ใครเป็นเจ้าของหุ้นไทย
เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ ยาบุชิตะ
ใครเป็นเจ้าของหุ้นตัวไหน และลักษณะการถือครองเป็นอย่างไร ในบทความนี้จะให้ความรู้ขั้นต้นได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อเราอ่านไปได้สักนิด เราอาจจะรู้สึกว่าทำไมการกระจุกตัวของหุ้นถึงอยู่ในวงจำกัด ในบทความนี้ออกความเห็นหนึ่งว่า ก่อนหน้านี้บริษัทครอบครัวไทยสามารถพัฒนาตัวเองด้วยความได้เปรียบในด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าชาวบ้านมาระยะหนึ่งแต่หลังวิกฤตแล้ว ความได้เปรียบนี้กลับเปลี่ยนไป หากพูดถึงที่สุดแล้วขนาดองค์กรและรายได้ของบริษัทไทยถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับบริษัทลงทุนข้ามชาติรายอื่นๆ เพราะอะไร? อย่างหนึ่งที่บทความนี้กล่าวคือเราขาดความสามารถในการคิดค้นเพื่อแข่งขัน (จริงๆประเด็นนี้อเมริกาก็โดนเหมือนกันในระยะหลัง ที่หลายคนกล่าวว่าแทบไม่มีอะไรใหม่เลย แม้กระทั่ง blackberry ก็เป็นการดีไซน์ขั้นต้น หากแต่การผลิต-เทคโนโลยีมาจากแคนนาดา) ทำให้สุดท้ายแล้วธุรกิจครอบครัวกลับเป็นเพียงผู้นำเข้ามากกว่าเป็นผู้ริเริ่ม และนั่นคือหนึ่งปัญหาในการแข่งขัน นอกเหนือจากทุน

การกระจุกตัวของหุ้นที่มากเกินไป อาจจะเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในการกระจายหุ้นหรือการบริหาร ทำให้การขยายขนาด ทั้งยอดขายหรือมูลค่าการตลาดของบริษัทเหล่านี้ทำได้ยาก สิ่งหนึ่งที่บทความนี้เสนอคือ ปัญหาการกระจุกตัวของหุ้นเหล่านี้ ทำให้ไม่เกิดความโปร่งใสต่อผู้ลงทุน และเป็นการฉุดให้ธุรกิจต้องพึ่งพิงแต่สินเชื่ออันจำกัดอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีผลต่อไปในอนาคตของการดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะการแข่งขันที่สูง.......ลองอ่านดูแล้วลองคิดตามก็น่าสนใจ

เจ้าพ่อน้ำเมา - ผูกขาดไม่ผูกขาด
นวลน้อย ตรีรัตน์
บทความนี้คือการทำความรู้จักและเข้าใจ หนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรมากที่สุดในโลกตัวหนึ่ง ในบริบทแบบไทยๆ (อีกอันที่ทำเงินเยอะก็บุหรี่ ถ้าใครรู้ว่า ฟิลลิป มอริส มีเงินสดเยอะขนาดไหนจะตกใจครับ) / ครอบครัวธุรกิจสัญชาติไทย หลายครอบครัวก็โตมาจากธุรกิจน้ำเมานี่เอง เสร็จแล้วค่อยขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่น บางครอบครัวก็ใช้เป็นฐานหรือธุรกิจหลักของครอบครัว บางครอบครัวหลังจากถอนตัวก็ไปอยู่หลังฉากแทน อาจจะทั้งจากปัญหาเรื่องทุนหรือเรื่องหุ้นส่วน หรือเส้นสายที่เปลี่ยนไป / และเรื่องที่สนุกก็เช่น หงษ์ทองกับแม่โขงต่างกันอย่างไร, โซนขายทำให้ได้รับผลประโยชน์อย่างไร อันนี้มันส์ครับ

บทความนี้ในช่วงแรกจะเสนอที่มาที่ไปของเหล่าผู้เล่นและตัวละครสำคัญๆในธุรกิจนี้อย่างค่อนข้างเป็นขั้นเป็นตอน และอีกครั้งที่สายสัมพันธ์ทางทหารมีบทบาทต่อธุรกิจนี้ไม่มากก็น้อยเลย / ส่วนที่น่าสนใจอ่านอันหนึ่งชื่อว่า "เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องสุรา" ก็ว่ากันถึงการสร้างกลยุทธ์และเครือข่าย ที่น่าสนใจมากทีเดียว และ อีกส่วนที่บทความนี้จะเสนอ จะเป็นเรื่องการขยายธุรกิจและการสะสมทุนเพื่อขยายของธุรกิจประเภทนี้ด้วย บางเรื่องอาจจะรู้กันมาก่อนแล้วแต่บางเรื่องผมคิดว่าไม่น่ารู้มาก่อนนะ

อวสานเศรษฐียานยนต์ไทย
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
เคยมีคนกล่าวกันว่า มีอยู่ 2 ธุรกิจ ที่ผูกพันกับประชาชนเป็นจำนวนมาก นั่นหมายถึงผลกระทบต่อธุรกิจอีกหลากประเภทในสังคมก็มีมาก หนึ่งนั้นคือก่อสร้าง อีกหนึ่งคือรถยนต์บทความนี้จะเป็นการนำเสนอว่าเพราะเหตุใด บริษัทรถยนต์ถึงมีอิทธิพลและผลกระทบมากกับสังคมไทย (จริงๆก็ทุกที่), มีธุรกิจใดบางที่เกี่ยวพันกับโลกยานยนต์ (ถ้าก่อนหน้านี้ใครตามข่าวจะรู้ว่า อีโค คาร์บ้านเราเคยถูกกดดันจนเลิกไปทีหนึ่ง ก็เพราะบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยมาแล้ว) ทั้งเรื่องการผลักดันเรื่องส่งออกให้เป็นวาระแห่งชาติและอื่นๆ ทำไมล่ะ ผมเคยตั้งคำถามแบบจริงจังมาก่อนหน้านี้ แต่เห็นบางคนไม่ แล้วที่สำคัญกลับหันเหกันไปซะไกล ....ลองอ่านดูครับ

และอย่างที่เราทราบกัน บ้านเรานั้นยังไม่ค่อยพร้อมกับเทคโนโลยีระดับเช่นนี้ ทำให้เรายังคงต้องพึ่งพาเรื่องเหล่านี้จากต่างชาติอยู่มาก และวิกฤตก็ช่วยทำให้กลุ่มทุนไทยได้รับผลกระทบนี้ไปแบบเต็มๆ พร้อมการเข้ามามีบทบาทที่มากขึ้นของทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น (เราเริ่มให้นำเข้าเสรีรถยนต์นั่งครั้งแรกในสมัย อานันท์) ที่ไม่จำกัดเฉพาะตัวรถ แต่รวมไปถึงอะไหล่และส่วนประกอบต่างๆด้วย FTAที่มีปัญหากัน ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาของผู้ประกอบการอะไหล่สัญชาติญี่ปุ่นในบ้านเราและความกังวลของบริษัทอื่นต่อการผูกขาดของรถญี่ปุ่นเองด้วย ....บทนี้การเมืองและเศรษฐกิจเต็มๆแบบน่าสนใจ

ตบเท้าทุนไทยไปนอก
ภวิดา ปานะนนท์ และวีรยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
ส่วนตัวนี่เป็นตอนหนึ่งที่ชอบมากเป็นพิเศษ เพราะมันปูพื้นฐานความรู้เพื่อการลงทุนได้ดีระดับหนึ่ง แล้วถ้ายิ่งคุณเป็นคนที่ลงทุนในหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานด้วยแล้ว มันสามารถมาประยุกต์เพิ่มจินตนาการในการลงทุนกับความรู้ได้อีกนิดหนึ่งเลย (ถ้าอยากได้มากกว่านี้ ก็แนะนำว่าไปดูพวกวิธีคำนวณ งบดุลจะดีกว่ามาก) ผมคิดว่าส่วนใหญ่เราอาจไม่คิดว่าบริษัทบ้านเราจะไปลงทุนต่างประเทศกันมาก ถ้าไม่นับการไปแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ เช่นกรณี ปตท.(ล่าสุดไปซื้อเหมืองถ่านหินที่อินโด มูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ) หรือบ้านปู (ถ่านหินเช่นกัน) ก็คงมีบางแห่งที่เป็นไปเพื่อขยายตลาดแต่ก็ขนาดไม่ใหญ่นัก เช่น ส.ขอนแก่นที่ไปเปิดโรงงานในยุโรปตะวันออก หรือ เอสแอนด์พี ในอังกฤษ คงยกเว้นกรณีซีพี ที่เปิดเยอะและใหญ่ในจีน แต่จริงๆแล้วยังมีอีกหลายบริษัทที่ไปเปิดครับเพียงแต่มีสะดุดไปบ้างหลังวิกฤตและมีขนาดไม่ใหญ่นัก

ส่วนที่น่าสนใจมากๆนอกจากการให้ความรู้ขั้นต้นแล้ว การเพิ่มกรณีศึกษาของกลุ่มบริษัทไทย ก็ทำให้เห็นภาพและน่าสนใจยิ่งขึ้น อย่างบทความนี้ก็จะยกกรณีของ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ดุสิตธานี, บ้านปู, เอสแอนด์พี และเครือซีเมนต์ไทย ยิ่งอ่านจะรู้ครับว่าโดนกันจนต้องปรับตัวทั้งนั้น แต่ปรับอย่างไรนี่ล่ะที่น่าสนใจ

การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
ธานี ชัยวัฒน์
โดยความเห็นส่วนตัวเรื่องนี้ ณ ตอนนี้อาจดูไม่ทันสมัยไปแล้ว เพราะว่าหลายคนคงจะรู้กันแล้ว ทั้งข้อมูลตรงและอ้อม ทั้งแบบเจตนาแอบแฝงและเจตนาไม่แอบแฝงในการนำเสนอ แต่อย่างหนึ่งคือบางครั้งการย้อนกลับมาคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน จะทำให้เราเก็บตกข้อมูลบางตัวที่เราหลงลืมได้ดีขึ้น เหมือนทำ 3 มิติ ถ้าเรียนเองมันก็ทำได้ โอเคไหมก็ในระดับหนึ่ง แต่การไปเรียนเพื่อเพิ่มเติมเทคนิคพื้นฐาน ก็จะยิ่งทำให้ฐานมันแน่นเพื่อประยุกต์ต่อได้มากขึ้นนั่นเอง

บทความนี้คือการหันกลับมาปรับฐานความเข้าใจแบบเป็นระบบ แม้ว่าในเนื้อหาบางตัวจะไม่ทันสมัย ต้องเข้าใจก่อนว่าเพราะ ณ เวลานั้น ข้อมูลและการมองในรายละเอียดยังไม่แจ่มชัดด้วย ก็เป็นอีกประการหนึ่ง เลยทำให้การยก เคส บางเคสจะดูไม่รอบด้านและขาดมิติปัจจุบันไปบ้าง

เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องเกี่ยวเนื่องทุกเหตุการณ์ มีทั้งคนที่หัวเราะและร้องไห้ เพียงแต่ว่า หากเราไม่ระวังเราจะไม่เห็นคนที่แอบหัวเราะหรือแอบร้องไห้ ที่มุมใดมุมหนึ่งของเรื่องนั้นๆ บางทีเพราะเราศึกษาน้อยไปทำให้เราเลือกข้าง ผมเสนอว่าอย่าเลือกข้าง อย่าเปลี่ยนข้าง แค่เป็นตัวของตัวเอง ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่หาเฉพาะข้อมูลที่อยากรู้แต่ต้องหาข้อมูลที่ต้องรู้ด้วย ก็จะทำให้การลงทุนและการตัดสินใจดีขึ้น อย่าคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัวจากชีวิต เพราะมันเรื่องเดียวกันเลยล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น