วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

The Shooting Party - Anton Chekhov


The Shooting Party - Anton Chekhov
ฆ่าปริศนาวันล่าสัตว์ - อันตัน เชคอฟ
กำพล นิรวรรณ แปล
สนพ. รหัสคดี

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jun 3 2009, 04:55 PM

เรื่องนี้เป็นการผสมผสานระหว่าง สาวน้อยแสนสวย, ท่านเคาน์ตผู้ร่ำรวย, ข้าราชการตุลาการหนุ่มเนื้อหอม, ลูกจ้างแสนซื่อ, หมอหนุ่ม, สาวสวยลูกผู้พิพากษา, นกแก้วปากมอม รวมตัวกับ กิเลส, ตัณหา, ริษยา, เหล้ายา และรักที่ไม่สมหวัง เกิดเป็นนิยายสืบสวนแนวไขปริศนาที่แปลกและแหวกแนวเรื่องหนึ่ง แม้จะไม่เรียกว่าสุดยอด เพราะส่วนหนึ่งเราพอเดาคนร้ายได้แต่ หากไม่นับว่านวนิยายเรื่องนี้เขียนมา 120 ปีแล้ว ผมก็ยังว่าการดำเนินเรื่องมีความทันสมัยไม่น้อย

เรื่องเริ่มต้นด้วยเมื่อปี 1880 อันตัน เชคอฟ ในตำแหน่ง บก. หนังสือพิมพ์พบกับ ชายคนหนึ่งที่ประสงค์จะเสนอนิยายให้ นสพ. จัดพิมพ์ เชคอฟ บอกชายคนนั้นว่าขอเวลาในการพิจารณา 2-3 เดือน หลังจากนั้นนานพอควร เชคอฟ เริ่มต้นอ่านนิยายเรื่องนี้แบบแก้เบื่อ (ตามเนื้อหาในนวนิยาย) โดยมีการ comment เป็นระยะๆ เริ่มด้วยการปรมาสเลยว่า นักเขียนคนนี้เป็นพวกมือใหม่หัดเขียน แต่ว่าเรื่องมีความแปลกใหม่ (น.19) หลังจากนั้นจะใช้วิธีแทรกความเห็นในหน้านั้นๆในรูปของเชิงอรรถความคิดเห็นส่วนตัว เช่น มีข้อความถูกตัด ("ตรงนี้ข้อความถูกลบออกไปเกือบหนึ่งหน้ากระดาษเต็ม เหลืออยู่ไม่กี่คำที่ยังพออ่านออก..... แล้วลงชื่อว่า อันตัน เชคอฟ" น.188) หรือคนเขียน ใช้คำไม่สุภาพประมาณนั้นจึงต้องมีการตัดเรื่องบ้าง (น.23) ซึ่งเชิงอรรถเหล่านี้ ช่วยประติประต่อเรื่องในช่วงที่เราถูกทำให้เชื่อว่าหายไป แต่ เชคอฟ เป็นคนเจอ แล้วนำกลับมาเสนอในรูปข้อคิดเห็นแทน ซึ่งบางอันเป็นความเห็นส่วนตัวของเชคอฟ ก็มี (".....ข้อความส่วนนี้ทั้งหมดเน้นให้เห็นความไร้เดียงสาจนเลยเถิดและไม่จริงใจ.....แล้วลงชื่อว่า อันตัน เชคอฟ" น.192) เชิงอรรถช่วงท้ายๆหลายอันเป็นการนำเสนอแบบผลของการสงสัยโดย เชคอฟเอง หรือจะพูดว่าเป็นการแก้ปริศนาด้วยเชคอฟเอง ก็ไม่ผิดซึ่งทำให้จังหวะของเรื่องบางทีเหมือนใช้ เชิงอรรถช่วยคุมจังหวะ หลังจากจบนิยายของชายคนดังกล่าว จึงเป็นบทที่ เชคอฟได้สนทนากับชายผู้เป็นคนเขียนอีกครั้งในเรื่องนวนิยายเรื่องนี้

จังหวะดำเนินเรื่องออก หนืดๆในช่วงแรกๆแต่ปูรายละเอียดตัวละครและสภาพแวดล้อมได้ดีมากๆ ซึ่งค่อนข้างสำคัญสำหรับการอ่านนิยายประเภทนี้ เนื่องว่าหากเราไม่เข้าใจตัวละครก่อน เราอาจไม่เข้าใจแรงจูงใจที่ขับเคลื่อนตัวละครแต่ละตัว ทำให้เรื่องอาจดูไม่สมจริงสำหรับเรา แม้ว่าจะเป็นเรื่องแต่งก็ตาม หลังจากจบการปูพื้นแล้ว จึงเริ่มการเร่งสปีดขึ้น (มีบอกในนิยายเลยด้วยว่าหลังจากนี้จะเร่งแล้ว เหอๆ "การโหมโรงเสร็จสิ้นลงแล้ว ต่อจากนี้ละครจะเปิดฉากแสดง" น.118) แบบเร็วขึ้นเร็วชึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในบทสุดท้ายนั้น เหมือนกั้นหายใจในน้ำแล้วพรวดขึ้นมาทีเดียว ในเสี้ยวเวลานั้นทั้งสดชื่นและอึดอัดอย่างประหลาด ซึ่งผมรู้สึกเองว่าผมอ่านเหมือนลืมหายใจด้วยสปีดที่ค่อนข้างเร็วกว่าธรรมดา

นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายที่ซ้อนด้วยนวนิยาย เปรียบเทียบง่ายๆว่าเหมือนอาคารหลังหนึ่ง นวนิยายเรื่องหลักคือชั้นที่ 1 (ที่เชคอฟกระทำเหมือนเป็นนวนิยายของใครสักคน) สิ่งที่ เชคอฟ ทำต่อไปคือสร้างชั้นใต้ดินที่มีบันไดเชื่อมที่ชัดเจน (เชิงอรรถ) ให้เราเดินลงไปดูได้เป็นระยะๆ (ที่เป็นความเห็นของ เชคอฟ ต่อตอนนั้นๆในนวนิยาย) แล้วซ่อนชั้นลอยอีกชั้น (ความเห็นของเราเองที่ป๊อปขึ้นมาหลังอ่าน ทั้งชั้น 1 และชั้นใต้ดิน) แต่คราวนี้บันไดเชื่อม ถูกซ่อนอยู่อย่างเนียบเนียน ให้เราหาเองแม้ไม่ยากในแง่เป้าหมาย แต่การตกแต่งภายในนั้นเป็นตามรสนิยมของแต่ละคน เหมือนสร้างตามออเดอร์ / อีกทั้งในรายละเอียดตัวละคร ก็มีมิติด้านสังคมที่หลากหลายดีทีเดียว จะเรียกว่า "ป๊อป" ของสมัยนั้นได้ไหม อึม.......

ผมเองเคยอ่านงานของ อันตัน เชคอฟ มาแค่ 2 เรื่องในชุดที่พิมพ์เนื่องในโอกาสยกย่องนักแปลท่านหนึ่ง ในชุดนั้นมีงาน เชคอฟ 2 เล่ม ของ โคซินสกี้ 1เล่ม อีกเล่มชื่อ จอห์นนี่ไปรบ จำชื่อคนแต่งไม่ค่อยได้ แต่ที่จำได้แน่ๆคือ ผมจำ 2 เรื่องหลังได้มากกว่าเพราะตื้นเต้นและเร้าใจกว่า (แต่ไม่ได้หมายความว่าดีกว่า เพราะอย่างที่เคยบอกมันเป็นสไตล์ของแต่ละคน) งาน 2 เล่มของ เชคอฟ จนมาถึงเล่มนี้ ผ่านมาอีกครั้งหลายปีต่อมา เล่มนี้ดูจะตื่นเต้นและเร้าใจที่สุดแล้ว (สำหรับผม) หลังจากอ่านงานของ เชคอฟ มา / ในบทแรกๆที่เป็นคำนำเสนอของ เรืองเดช จันทรคีรี ก็บอกเหมือนกันว่า " หากท่านอ่าน ฆ่าปริศนาวันล่าสัตว์ จบแล้วทึ่งในฝีมือของผู้ประพันธ์ละก็....กรุณากราบนวนิยายอายุ 120 ปีงามๆสักครั้ง " กราบเรียบร้อยเหอๆ เจ๋งจริง

ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย และตุลาการ - ปิยบุตร แสงกนกกุล


ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย และตุลาการ - ปิยบุตร แสงกนกกุล
สนพ. openbooks

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 28 2009, 09:49 PM

กฎหมายบางครั้งเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก การที่จะมีใครสักคนเขียนให้ดูอ่านง่ายไม่มีภาษาวิชาการมากๆเน้นตรรกะดูจะน่าสนใจ ในขณะที่ตามท้องตลาดเต็มไปด้วยหนังสือเชิงพรรณาโวหารเสียมาก บางเล่มแค่เห็นชื่อคนเขียนก็รู้ทันทีว่ามาแนวไหน บางเล่มรู้กระทั่งว่าใครเป็นเจ้านายคนเขียน อันนี้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ทีเดียว เหอๆ ต้องยอมรับว่ากระแสสังคม (ผมใช้คำว่ากระแสเพราะสังคมชนชั้นกลางในเมืองเป็นลักษณะไหลไปเรื่อยๆไม่ค่อยอยู่กับที่ ไม่มีหลักแน่นอน) ที่ผ่านมาทำให้การเข้าใจเรื่องพวกนี้ในหลักการปราศจากอคติเป็นเรื่องยากกกก (ก่อนหน้านี้เคยฟังคนอื่นเหน็บคนเขียนคนนี้กับอีกคนมาก่อน ก็เพราะอารมณ์แท้ๆ แต่เราก็เหมือนเคลิ้มๆไปนิดๆเหมือนกัน) แต่พอคุณเริ่มเปิดใจ (เหมือนผมเชื่อว่าบัว 3 เหล่านั้นไม่ได้หมายถึงคนโง่หรือระดับสติปัญญาแต่หมายถึงระดับของการเปิดใจรับของแต่ละคน) แล้วพิจารณาไปที่ประเด็น, หลักการและความถูกต้องจากนั้นความคิดจะเริ่มปรับตัวเองโดยอัตโนมัติ

ปกติผมไม่ค่อยอยากยกพวกคำชมท้ายเล่มให้อ่านเพราะจริงๆแล้ว ส่วนตัวแทบไม่มีผลในการอ่านหรือไม่อ่านเลย แต่กรณีนี้ผมว่าผู้ที่มาเขียน สรุปประเด็นของหนังสือได้ครบถ้วนในประโยคสั้นๆ และเห็นภาพชัดเจนยิ่ง อันนี้เป็นส่วนที่ย่อมาอีกทีที่ท้ายเล่มบวกกับข้อความเต็มๆในเล่ม
"บทความต่างๆของอาจารย์ปิยบุตร เป็นบทความที่วิเคราะห์ปัญหารัฐธรรมนูญ (องค์กรตุลาการกัประชาธิปไตย, พระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย, หยุด แสงอุทัย กับหลัก "the king can do no wrong", กฏมญเฑียรบาลกับรัฐธรรมนูญ) การเมือง (อำนาจนอกรัฐธรรมนูญกับการแทรกแซงการเมืองในนามของกฏหมาย, เลือกตั้ง 23 ธันวา, ใบเหลือง ใบแดง กกต. และศาลฎีกา) และกฏหมายมหาชน (บางเรื่อง) ของไทยได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังได้นำประสบการณ์ในบางเรื่องของต่างประเทศมาวิเคราะห์ให้ดูด้วย (ตุลาการวิบัติ ประสบการณ์ของฝรั่งเศส, ยุบพรรคในต่างประเทศ) นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่หลายต่อหลายคนเรียกร้องหรือสนับสนุน "ตุลาการภิวัตน์" โดยไม่รู้จริงๆแล้วสิ่งที่ตนเองพูดถึงนั้นคืออะไร"
รศ.ดร. วิษณุ วรัญญู - ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

บทของ หยุด แสงอุทัย เป็นอะไรที่ผมว่าค่อนข้างใหม่สำหรับหลายๆคน เพราะอาจอ่านงานของคุณประมวล มาก่อนก็เป็นได้ ประเด็นคือ เล่มนี้สร้างองค์ความรู้บางส่วนได้ ถึงแม้เราอาจไม่เห็นด้วยบางประการ (เพราะว่าหลายครั้งเราใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุ) บางเรื่องผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ในแง่ที่ว่าหากทำตามนั้น อาจก่อผลร้ายมากกว่าหรือไม่ จริงอยู่ว่าผู้เขียนดูจะมั่นใจในระดับของการรับรู้ของคนในสังคมไทยค่อนข้างสูง ว่าจะเข้าใจและกระทำได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ อาจเป็นเพราะสังคมไทย ชอบการแบ่งกลุ่มหรือชนชั้นก็เป็นได้ มันถึงยุ่งเหยิงขนาดนี้เหมือนที่
- แต่ก่อนคนขาวบางส่วนดูถูกคนดำว่าไม่ต่างจากสัตว์ เพราะฉะนั้นชีวิตของพวกสูจึงเป็นของพวกปวงข้า
- แต่ก่อนคนในชาติพัฒนาแล้วบางส่วนดูถูกคนเอเชียว่าเป็นลิงเหลืองไม่ศิวิไลซ์ ไม่ใส่เสื้อ กินข้าวกับพื้น ไม่มีวินัย
- แต่ก่อนคนเรียนมหาลัยปิดของรัฐบางส่วนดูถูกคนที่เรียนจบมหาลัยเอกชนว่าไม่มีมาตรฐาน โง่
- แต่ก่อนคนจบดอกเตอร์บางส่วนว่าคนจบป.ตรีคิดไม่เป็นระบบ ดีแต่ลอกๆกันไป
- แต่ก่อนคนชั้นสูงบางส่วนว่าพวกชนชั้นกลางว่าเป็นพวกไม่มีกำพืดมีแต่เงิน ชอบอวดร่ำอวดรวย
- คนชั้นกลางหลายส่วนว่าคนชั้นล่างว่าโง่กว่ากรู เพราะฉะนั้นชีวิตของพวกสูจึงควรเป็นของพวกปวงข้า -----(โปรดย้อนกลับไปอ่านที่ข้อแรก)
ดูเหมือนใครๆก็หาเหยื่อรองรับอารมณ์อันสุนทรีย์ของชนชั้นตัวเอง จนลืมว่าแท้จริงแล้วหลักการกับเหตุของมันอยู่ที่ไหน

เล่มนี้จึงเหมาะสำหรับทุกคนที่มุ่งหาข้อมูลและความเข้าใจเพิ่มเติม (ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ว่าอ่านแล้วจำเป็นต้องเชื่อแต่ควรทำความเข้าใจในระดับหนึ่งก่อน) แต่อาจไม่เหมาะสำหรับคนที่อาศัยอยู่แต่ด้านมืดของดวงจันทร์ แล้วมันจะไปเห็นโลกได้ไง โลกสีน้ำเงินอันแสนสวย ลองเดินออกมาดูหน่อยจะเป็นไรมี (อย่าพยายามตีความว่าดวงจันทร์(lunar) ที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า lunatic ที่แปลว่าบ้านะ อันนั้นคงลึกเกินไป)

The Brothers Karamazov - Fyodor Dostoevsky


The Brothers Karamazov - Fyodor Dostoevsky
พี่น้องคารามาซอฟ - ฟีโอโดร์ ดอสโตเยฟสกี
สดใส
(บทนำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล / ภาพประกอบโดย เทพศิริ สุขโสภา)
สนพ.ทับหนังสือ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 21 2009, 11:37 PM

ยามบ่ายของวันฟ้าใสวันหนึ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งแวะมาหาที่บ้าน คุยกันเรื่อยเปื่อย ลงท้ายเพื่อนถามว่า "เห้ยตอนนี้อ่านหนังสือไรอยู่ว่ะ" ว่าแล้วก็คว้าขึ้นมาโชว์ แบบอวดๆเล็กน้อย เพื่อนร้องคำแรกเลยว่า " เห้ยนี่มัน text book นี่หว่า สาดดด หนาโคดๆๆ" ผมก็ตอบว่า "เห้ย คลาสสิคๆ รู้ไหม สาดดดด ดอสโตเยฟสกีอ่ะ สาดดดดรู้ไหม เหอๆ"

ด้วยว่าความหนาและเนื้อหาที่ค่อนข้างมากแบบละเอียดเพราะเป็นการเจาะเหตุการณ์ของบุคคล คำว่า text book ก็ไม่น่าไกล เพียงแต่มันอ่านเพลิดเพลินกว่า (แต่ถ้าใครอ่านกลศาสาตร์ของไหล แล้วรู้สึกว่าเพลินกว่าจะแย้งก็ได้นะ เหอๆ อันนั้นแล้วแต่ความชอบ) ความหนาของเล่มนี้อาจทำให้หลายคนถอดใจ บางคนอาจเหมือนผม คือถอยไปตั้งหลักก่อน แต่ถ้าลองอ่านดู แม้เพียงบทจะเข้าใจทันทีว่าทำไม ถึงเพลิน ทำไมถึงคลาสสิค การพรรณาแบบ ดอสโตเยฟสกี นั้นมีลักษณะเฉพาะตัวมาก บางคนอาจแย้งว่า เป็นสไตล์นักเขียนรัสเซีย แต่ในรายละเอียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน จริงอยู่ว่าบางคนไม่ค่อยชอบ อย่าง อันตัน เชคอฟ ก็บ่นๆว่าฟุ่มเฟือย แต่ก็นำลักษณะบางประการไปใช้

ถ้าอ่านส่วนหนึ่งของบทนำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จะเห็นภาพและบทสรุปสั้นๆ ของนวนิยายเรื่องนี้พอควร คือมีการไกด์และแนะนำ บางช๊อต แต่ไม่เสียอรรถรส แน่นอน เพราะมันคร่าวมากๆนั่นเอง / ถ้ารู้ตอนหลังจะยิ่งงงว่าเล่มนี้ยังไม่สมบูรณ์ (1032 หน้า) เพราะนักเขียนตายก่อน และยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเราอ่านถึงตอนสุดท้ายคือมันรู้สึกเหมือนขาดๆไปนิดแต่จะจบแบบนี้ก็ได้ เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 4 ภาคใหญ่ ประกอบไปด้วย 13 บท และตอนย่อยๆในแต่ละบทอีกทีหนึ่ง บวกด้วย ภูมิหลังผู้เขียนและบทสั้นจากผู้เขียนในการเกริ่นนำก่อนเข้าเรื่อง

เรื่องนี้ใช้วิธีการนำเสนอแบบผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่อง, บางตอนเป็นบันทึกช่วยจำ, บางตอนเป็นเรื่องเล่าจากคนอื่นทอดหนึ่ง โดยใช้เรื่องพี่น้องสามคนจากตระกูล คารามาซอฟ เป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง ทั้งหมดพ่อเดียวกันแต่ต่างแม่ (2คน) อาจพูดได้ว่าความแตกแยกในตระกูลสมานได้ด้วย น้องคนเล็ก (อโลชาหรือ อเลกไซ) ที่เป็นคนค่อนข้างเคร่งในศาสนา จิตใจงาม ในระหว่างเหตุการณ์ยังบวชอยู่ (ภายใต้การดูแลจาก ท่านผู้เฒ่าซอสสิมา - ผมชอบประโยคพูดในหลายๆตอนของตัวละครนี้มากๆ) ปัญหาหลักมักมาจากพ่อ (ฟีโอโดร์ พาฟโลวิช) ผู้เป็นตัวแทนของการหลงมัวเมาในทางกิเลส (ชอบหลอกตัวเอง [บทที่ 2/ตอน 2]) กับ พี่ชายคนโต (มิตยาหรือ ดมิตรี) ผู้มีศักดิ์ศรีแต่ก็มีประเด็นทางด้านกิเลสเหมือนกัน เรื่องที่ไม่กินเส้นกันเป็นเรื่องเงินๆทองๆและมรดกจากแม่ของมิตยา สอดแทรกโดยพี่ชายคนรอง (อีวาน) ผู้ซึ่งเราอาจจะมองได้ว่าเหมือนคนสังคม ปัจจุบันมากเหมือนกัน มีประเด็นทางด้านศาสนาที่ต้องเรียกว่าโดดเด่นพอตัวสำหรับยุคนั้น (ลองดู บทที่ 5/ตอน 5 ประกอบ) แต่ละตัวละครหลักมี บทบาทและลักษณะทางความคิดเฉพาะตัว เสริมเรื่องด้วยตัวละครประกอบหลายตัวที่มีลักษณะและผลกระทบต่อเรื่องที่หลากหลาย หลายตัวเสริมนำเสนอมุมมองได้น่าสนใจยิ่ง และบางตัวนำเสนอทางด้านศาสนา (บทที่ 1/ตอน 5, บทที่ 6) อย่างน่าสนใจ แต่อาจน่าเบื่อได้สำหรับบางคน เพราะเป็นบทที่มีการพรรณาที่ค่อนข้างยาว (บทที่ 6/ตอน 3)

ตัวละครอีกตัวที่มีเสน่ห์ และถือเป็นตัวพลิกก็ได้ คือ สเมอร์ดิยาคอฟ (ช่วงบทที่ 11 จะเป็นการสรุปประเด็นต่างๆของตัวละครนี้ จริงๆแล้วเราจะเห็น เสน่ห์ ของตัวละครนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นๆแล้ว) หรือลองดูประเด็นความร้ายๆในจิตใจคนที่มีเสนอ ในแต่ละตัวละครตลอดเวลาทั้ง หญิง ชาย หรือ แม้กระทั่งเด็ก การลงลึกในจิตใจปุถุชนคนธรรมดา เป็นเรื่องที่ ถ้าผู้เขียนไม่ละเอียดหรือมีความเข้าใจดีพอ ก็อาจทำให้เรื่องดูเบาๆไม่น่าเชื่อได้ แต่เรื่องนี้มีปัญหานี้น้อยมาก ค่อนข้างสมบูรณ์ จนสงสัยเหมือนกันว่า เขียนขนาดนี้ได้ยังไง ยิ่งบทที่ 12 จะมีการคล้ายๆสรุปและเน้นรายละเอียดอีกครั้ง เป็นบทที่สนุกและซับซ้อนพอตัว จะเห็นชัดเลยใประเด็นนี้ จริงอยู่ในรายละเอียดบางจุด อาจอ่านดูแล้วแปลกๆแต่ในภาพรวมถือว่า เต็มไม้เต็มมือดี

ถ้าเคยอ่านงานของ มูรากามิ จะรู้เลยว่า แกชอบเล่มนี้ขนาดไหน เราเห็นแรงบันดาลใจในบางส่วนจากเล่มนี้ได้เลยในงานของ มูรากามิ จริงๆแล้ว เล่มนี้ถือว่าเป็นขวัญใจของคนดังและนักเขียนชื่อดังหลายคน อย่าง ไอน์สไตล์ หรือ โฟล์กเนอร์ หรือ เฮสเส ผมถึงว่าควรลองอ่านดู แล้วจะรู้ว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน แม้เรื่องนี้จะออกด้านมืดและความหดหู่ในใจคนแต่ในนั้นมันก็พอมีแสงเล็กๆอยู่ด้วย อีกอย่างผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หลังอ่านเสร็จว่า เรื่องนี้มันทำให้เกิดคำถาม และเป็นคำถามที่จะต่อเนื่องต่อไป ทำให้เราต้องคิดตามต่อไปหลังอ่านเสร็จ

Norwegian Wood - Haruki Murakami


Norwegian Wood - Haruki Murakami
ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย - นพดล เวชสวัสดิ์ แปล
สนพ. กำมะหยี่

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 12 2009, 09:55 PM

หลังจากที่อ่าน แกะรอยแกะดาวไป ผมติดตามงานของ มูราคามิ แบบปูพรม คืออันไหนที่ยังมีขาย ซื้อดะ เก็บอ่านจนตอนนี้เหลือ 2 เล่ม เป็นภาษาไทยอีก 1เล่มเป็นอังกฤษที่ยังไม่ได้อ่าน แต่แว่วมาว่า เล่มอังกฤษที่กล่าวถึงกำลังแปลกันอยู่น่าจะออกขายในเร็ววัน ถ้าพูดถึงงานไหนที่ชอบหลังจากตะลุยแบบอ่านดะมา ก็น่าจะมีเล่มนี้เป็นหนึ่งในเล่มที่ชอบคือจริงๆ ขณะนี้ผมชอบอยู่ 3 เรื่องจากจำนวนทั้งหมดที่อ่านมา บางเล่มออกวิงเวียนมากเกิน บางเล่มก็ดูเหมือนกันเกิน แต่ 3 เล่มที่ชอบจะมีลักษณะที่ต่างออกไปแต่ไม่ชวนวิงเวียนมาก / เรื่องนี้ชื่อไทยถือว่าสรุปย่อได้ดีมากครับ เห็นภาพดีแต่ต้องอ่านจบแล้วนะ

ผู้เขียนกล่าวว่าเรื่องนี้มาจากเรื่องสั้น เรื่องหนึ่งก่อนที่จะกลายเป็นเรื่องยาวเรื่องนี้ และเรื่องนี้ถือว่ามีความเป็นส่วนตัวของเขาค่อนข้างมาก พออ่านเสร็จ สิ่งหนึ่งที่เห็นคือโครงเรื่องแบบเดิมๆที่แปลกๆแฟนซีๆ หรือบางคนจะเรียกว่าโลกแบบเบี้ยวๆ หรือโลกคู่ขนานแบบมูรากามิ (หลายเรื่องมูรากามิ ชอบดำเนินเรื่อง เหมือน 2เรื่องที่วิ่งคู่กันไป แต่จุดรวมจะมารวมที่เดียวกัน) กลับไม่ปรากฏอย่างเด่นชัดเลยในเรื่องนี้ อาจพูดได้ว่าเล่มนี้ค่อนข้างชอบมาก ในแง่ที่มีความอบอุ่นนิดๆของมนุษย์ซ่อนอยู่ จริงๆก่อนหน้านี้ เรื่อง "ราตรีมหัศจรรย์" ก็อาจถือได้ว่ามีกลิ่นความอบอุ่นแบบมนุษย์ๆซ่อนอยู่ แต่จะแอบซ่อนโครงเรื่องแฟนซีไว้นิดหน่อย แต่เรื่องนี้ไม่มีเลย เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วยกันแม้ บางขณะอาจดูแปลกแต่ไม่ประหลาดเกิน เรื่องนี้สร้างบนความสัมพันธ์ของคนหลายๆคนกับตัวเอก โดยใช้ช่วงเวลาขณะที่ตัวเอกอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย (เอกการละคร) โดยแบ่งเป็นตัวละครหญิงหลักๆ 4 คน ซึ่ง 2 ใน 4 นี้ตาย ส่วนตัวละครชายที่หลักๆ ก็ 3 คน ตายไปซะ 1

โดยชื่อแปลแล้วจะเห็นว่ามีเรื่อง "ความรัก" ยิ่งอ่านงานของมูรากามิ จะเห็นว่า คนในสังคมชนชั้นกลางในเมืองมันเหงากันเพียงใด มันอ้างว้าง ไม่ใช่ไม่มีรากนะเพียงแต่ลอยไปลอยมา คว้าอะไรได้ก็เอามาสวมเป็นตัวตน เหมือนกระสือ บางครั้งมันดูหดหู่ เหมือนคุณหาทางไปต่อไม่ได้ คือ เอานู้นเอานี่มาสวมก็แล้ว มันก็ยังไม่เต็ม บอกไม่ได้ว่าทำไม แต่ในใจยังโหยหาอยู่ และนิยายเรื่องนี้ก็ให้ภาพเช่นนั้น เลือกทางของคุณเอง (ทุกตัวละครมีลักษณะเฉพาะตัว) หรือ หาและเชื่อมความสัมพันธ์กับคนอื่น (การได้เพื่อนใหม่ของหลายตัวละคร) ทำยากทั้งคู่ในภาวะสังคมที่ไม่มีแก่น เราจึงต้องพยายามสร้างแกนกลางให้ทุกคนได้มีที่จับยึดไว้กระมัง เราจึงต้องการ "รัก" มากยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์

ต่อมาก็ "ความตาย" อีก 1 โดยส่วนหนึ่งการตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปัญหาอย่างที่เรารู้ๆกัน แต่มันอาจสร้างหรือสร้างสรรค์ปัญหาใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งปัญหานั้นๆ อาจสร้างสรรค์สมชื่อ หรือ ฉิบหายก็ได้ อย่างใครหลายคนคงรู้ว่า เวลาพวกติดหนี้การพนันสุดท้ายมักใช้วิธี ฆ่าเพื่อยกหนี้ แต่ถามว่าปัญหาหายไปไหม ไม่หายหรอก มันแค่เปลี่ยนรูปเอง อาจเปลี่ยนไปหาคนอื่นหรือเหตุการณ์อื่น (อย่างกรณีหนี้พนัน ปัญหาถูกถ่ายโอนไปสู่คนรอบข้างทั้งหมด) ฉันใดฉันนั้น เรื่องนี้ความตายแค่เปลี่ยนรูปของปัญหาไปหาเรื่องอื่นๆต่อไป และเรื่องนี้ค่อนข้างโดดเด่นในแง่ที่ความตายเปลี่ยนรูป ส่งผลต่อหลายตัวละครไม่เฉพาะแต่ ตัวเอกเท่านั้น

และอีกหนึ่ง "หัวใจสลาย" ซึ่งผมมองว่าเป็นผลที่แปรรูปแล้ว อย่างที่บอกพวกนี้มันแค่เปลี่ยนรูปไปตามท้องเรื่อง ส่วนใครจะหัวใจสลายหรือไม่สลายประการใด ก็น่าติดตามอ่านต่อ มันจะสนุกก็ตรงนี้ล่ะ

ส่วนชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษ มาจากหนึ่งในผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับตัวเอกชอบเพลงของ The Beatles เพลงนั้นคือ Norwegian Wood ชอบเพราะจังหวะที่เศร้าๆเหงาๆ แต่บางคนกลับเป็นห่วงเวลาเธอฟังเพลงนี้ มีประโยคหนึ่งที่เธอคนนี้พูดกับตัวเอกว่า มี 2 เรื่องที่เธออยากขอร้องเขา หนึ่งในนั้นคือ อย่าลืมเธอ ตัวเอกตอบว่า เขาจะไม่ลืมเธอ (ในใจเขาคิดต่อว่า เพราะเขาไม่อาจลืมเธอได้ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่เคยรักเขาก็ตาม) จริงๆเรื่องนี้ไม่ได้แค่เศร้า แต่ในแง่ฟ้าหลังฝนก็สวยงามคือกัน น่าอ่านมากๆครับ ไม่เหมือนงานหลายชิ้นของเขาแน่

Salt : A World History - Mark Kurlansky


Salt : A World History - Mark Kurlansky
ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ - เรืองชัย รักศรีอักษร
สนพ. มติชน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 6 2009, 10:24 PM

"โฮเมอร์เรียกเกลือว่าสสารของพระเจ้า พลาโตกล่าวถึงเกลือว่าเป็นของโปรดพระเจ้า"

เป็นหนังสือไซด์กลางที่อ่านสนุกมากๆ เล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ภาค 26 บท เหมือนเยอะแต่ไม่มากเท่าไหร่สามารถอ่านได้ แบบสบายๆทีละบทตอนว่างๆได้ จริงๆแล้วหนังสือออกแนวประวัติ หรือ ความรู้ทั่วไปแบบเฉพาะเรื่อง ถือว่าขนาดนี้ยังธรรมดา แต่เล่มนี้อย่างที่บอก ไม่ธรรมดาเพราะอ่านสนุก อีกทั้งมีเรื่องหลายเรื่องที่ไม่รู้มาก่อน เช่นเกลือกับความหมกมุ่นทางเพศอย่างไร้เหตุผลและอยู่ใต้จิตสำนึกของคน อึมอ่านไม่ผิดอ่ะ มีคนทำวิจัยมาแล้วและคนนี้เป็นนักจิตวิทยาจากสำนักจุงด้วย โดยเล่มนี้จะนำเสนอเนื้อหาที่ ครอบคลุมหลายด้านของเกลือ ทั้งประวัติและความสัมพันธ์หรือที่มา

หลายคนคงเคยสังเกตว่าเกลือมีอิทธิพลเชิงความเชื่อในหลายวัฒนธรรม ทั้งการไล่สิ่งชั่วร้ายที่มีทั้งในยุโรปและเอเซีย / ส่วนหนึ่งยังเกี่ยวข้องทางด้านศาสนาทั้งอิสลาม และยูดาย(เชื่อว่าเกลือป้องกันดวงตาปีศาจได้), คริสต์ (แจกเกลือศักดิ์สิทธิ์), ชาวอังกฤษและเวลล์โบราณใช้เกลือกับขนมปังให้นักกินบาป กินเพื่อล้างบาปให้คนตาย, ในญี่ปุ่นเห็นๆก็ในซูโม่ หรือเรื่องของเกลือกับกลุ่มชนหนึ่ง หลายคนคงคุ้นชื่อกับ ชาวเซลต์ ซึ่งก็คือ คนที่ตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในไอร์แลนด์ กับ อังกฤษ เผ่านี้เป็นเผ่าเกลือ(ตามคำเรียกของชาวอิยิปต์) คือผลิตและนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกแฮม แล้วนำออกจำหน่ายและบริโภคกันเอง

แม้ว่าจีนอาจจะสามารถอ้างได้ว่ามีวิธีการผลิตเกลือที่ทันสมัยกว่าใคร (แถมอาจจะทำก่อนใครด้วย ย้อนไปถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) แค่วิธีต้มในหม้อดินเผาก็มีก่อนโรมันถึง 1,000 ปี แต่กลายเป็นว่า จีนกลับใส่เกลือลงในอาหารน้อยมาก เหตุใด และวิธีการทำซีอิ๊ว สมัยก่อนทำไง มีให้อ่านด้วยเหมือนกัน / แค่เทคโนโลยีขุดเกลือก็พาโลกก้าวหน้าไป มากมาย ในจีนขุดได้ลึกขนาดที่อีก หลายร้อยปีต่อมา ฝรั่งค่อยดีใจที่ตัวเองขุดถึงที่ระดับความลึกที่คนจีนทำได้ และเชื่อหรือไม่จีนรู้จัก กาซธรรมชาติ ก็เพราะแก้ปัญหาเวลาขุดบ่อเกลือนี่เอง / อีกอันที่น่าสนใจ เกลือกับน้ำมันมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ที่บางคนอาจจะรู้ว่า ที่เก็บน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาเก็บไว้ในโดมเกลือใต้ดิน หลายโดม แต่เป็นเพราะคุณสมบัติบางอย่างของเกลือต่างหาก

เกลือแบบละเอียดเริ่มทำครั้งแรกในจีน และจนถึงปัจจุบันอันเนื่องมาจากข้อกำหนดบางประการที่ทำให้ต้องใส่ไอโอดีนลงในเกลือ แต่อาหารหมักบางอย่างในจีนยังใช้เกลือแบบไม่ใส่ไอโอดีน เหตุผลก็เพราะรสชาดมันเปลี่ยน แต่ปัจจุบันเราสามารถทำเกลือให้มีขนาดเท่ากันได้ทุกเกล็ดแล้ว เพราะอะไร ก็มีให้อ่านด้วย / เคยสงสัยมานานแล้วว่า ทำไม ฝรั่งทำอาหารชอบใช้เกลือ ไม่ใช้น้ำปลา (ทั้งๆที่สมัยโรมันเริ่มทำกันแล้ว) ใจหนึ่งก็อยากเชื่อว่าเพราะกลิ่น แต่ใจหนึ่งว่า ถ้ากินบ่อยๆหรือคุ้นเพียงพอก็ไม่น่าที่กลิ่นจะทำอะไรได้มาก เคยไปโรงแรมที่หนึ่ง เสริฟ ไข่ดาวกินกับ เกลือเม็ดหยาบ ไม่แน่ใจว่าเป็นเกลือสินเธาว์ หรือ เกลือทะเล แต่ได้รสชาดไปอีกแบบ หรือว่าจะเกี่ยวกับการขนส่งมากกว่า

พึ่งรู้เหมือนกันว่าหลายๆคำในภาษาอังกฤษมีที่มาจากเรื่องเกลือๆ เช่น ที่มาของคำว่า ซาลาลี่ (salary - ค่าจ้าง) มาจากสมัยโรมันจ่ายค่าแรงทหารเป็นเกลือ หรือคำว่า สลัด (salad) เพราะพวกโรมัน ชอบนำผักสดมาหมักกับเกลือ (salted)

ถ้าอ่านไปเรื่อยจะสังเกตว่าเล่มนี้มีเมนู อาหารที่เกี่ยวเนื่องกับเกลือหลายเมนู หลายยุค หลายชาติ(อิยิปต์, รัสเซีย, จีน....) ก็อาจเป็นเพราะหลักๆของเกลือเค้าก็เอาไว้ทำอาหาร อยู่แล้ว ฉะนั้นพวกตำราการหมักดอง ถนอมอาหาร ก็เลยน่าจะมีเยอะเป็นพิเศษ แต่เผอิญว่า ชอบกินแต่ไม่ค่อยชอบทำ เลยสนใจได้น้อยกว่าปกติ เวลาอ่าน จึงอ่านในแง่มานุษยวิทยา มากกว่าจะเป็น คหกรรม แต่ถ้าใครชอบและอยากลองก็ไม่น่าพลาด หรือจะเป็นเรื่อง ซอสทาบาสโก้ กับ เกลือ ก็น่าสนใจดี ในแง่ที่มานะ

ถือว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกแบบเพลินๆได้ความรู้ แก้อาการชาด้านที่ปลายประสาทได้ดีเล่มหนึ่ง สมดังประสงค์ ของธรรมชาติที่ให้เราต่างจากไพรเมตก็ที่มีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าเพื่อคิดและสร้างสรรค์ กับ ตำแหน่งและขนาดกล่องเสียงที่เหมาะสมต่อการออกเสียงเป็นคำพูดเพื่อสื่อสาร ฉะนั้นอย่าใช้กันแต่ปากล่ะ เหอๆๆๆ

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

Walden - Henry David Thoreau


Walden - Henry David Thoreau
วอลเดน - เฮนรี่ เดวิด ธอโร
สุริยฉัตร ชัยมงคล แปล

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 1 2009, 10:39 PM


ย้อนไปหลายปีก่อน ชื่อของนักเขียนท่านนี้ไม่รู้จักแม้แต่น้อย ใช้เวลาอ่านจริงๆของเล่มนี้นับตั้งแต่ซื้อมา น่าจะประมาณ 12 ปี เป็นเล่มที่อ่านนานที่สุด โปรดอย่านับการวางทิ้งอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี กับ อาการเบื่อง่ายมานับรวม แล้วซื้อหามาได้อย่างไร หลายคนคงอยากถาม ตอบง่ายๆ เจอตอนเป็นหนังสือลดราคา ซื้อเพราะคนแปล กับขนาดที่อยู่ในระดับที่ชอบ และภาพประกอบแนวนามธรรมของ จ่าง แซ่ตั้ง ก็ชวนใจไม่น้อย

ความรู้สึกแรกที่อ่าน ช่วงนั้นชอบอ่านและตีความทุกบรรทัด ทำให้บางเล่มบางบทจะอ่านซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เล่มนี้ก็ตกในสถานะนั้น มาหลังๆเริ่มไม่แน่ใจว่าบางทีอาจเป็นเพราะอายุน้อยเกินไปรึเปล่า คือ ไม่เคยปฏิเสธเลยว่า อายุหรือประสบการณ์บางอย่างมีผล ต่อการอ่านและทำความเข้าใจหนังสือบางเล่ม และบางทีการตีความ ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดมาก สู้ปล่อยให้มันไหลผ่านช้าๆเข้าหัวไป แล้วค่อยมาจับรายละเอียดทีหลังซ้ำอีกรอบ ต่อบท หากเราไม่เข้าใจน่าจะดีกว่า คิดได้ดังนั้นเลยวางเล่มนี้ไปซะนาน หยิบขึ้นมาอีกครั้งอ่านแบบ ใคร่ครวญแต่ใช้เวลาน้อยลง

หนังสือแบ่งออกเป็น 18 บท เล่มนี้ ธอโรเขียนเมื่อย้ายไปอยู่แบบสันโดษ เมื่อปี 1845 (164ปี มาแล้ว ลองคิดดูสิว่าหนังสือและสถานที่มันเปลี่ยนไปขนาดไหน) ริมบึง ที่ชื่อวอลเดน ในที่ส่วนบุคคลของเพื่อนชื่อ อีเมอร์สัน อยู่ได้ประมาณ 2 ปี ธอโร ก็ย้ายออกมา ในระหว่าง 2 ปีนั้น ธอโร ทำไร่ และเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนใหญ่ / ธอโร เป็นนักอุดมคติ, นักสังเกตธรรมชาติ และนักปรัชญา ทั้งเป็นพวกต่อสู้ทางสิทธิและต่อต้านการค้าทาส แค่นี้คงพอเห็นภาพ ตัวผู้เขียนคร่าวๆ

บึงวอลเดน เป็นบึงปิดแต่มีตาน้ำจากพื้น ภาพจากการบรรยาย เห็นภาพเป็นบึงกระจกขนาดใหญ่ ที่สะท้อนภาพกลับหัวเหมือนดึงฟ้ามาบรรจบพื้นน้ำ สภาพโดยรอบ ร่มรื้นและมีสัตว์น้อยๆ รวมทั้งปลาค่อนข้างมาก ธอโร สร้างกระท่อมไม้ (ด้วยตัวเอง) และดำรงชีวิตแบบเข้าใกล้ธรรมชาติอย่างที่สุด จดบันทึกสภาพโดยรอบ แทรกด้วยข้อคิดทางปรัชญาและเสียดสีสังคม ของตัวเองแนบเอาไว้ด้วย กลายเป็นบทพรรณา ที่สวยงามที่เปี่ยมด้วยแง่คิดมากมาย (บทแรกๆมีตารางค่าใช้จ่ายประกอบอีกด้วยนัยว่าเพื่อพิสูจน์ว่าเขาอยู่ได้)

บทหนึ่งที่แนะนำว่าควรอ่านก่อน (จริงๆก็อยู่ช่วงแรก) เพราะเห็นบางคนอาจเบื่อเลยข้ามไปอ่านที่เนื้อหาเลย โอเคถ้ารู้จักกันแล้ว ก็ข้ามๆก็ได้ แต่ถ้ายัง น่าอ่านก่อนเพื่อเข้าใจแนวและชีวิตคร่าวๆอีกครั้ง อย่างเช่น อันนี้มาจากบทแรก ที่ อีเมอร์สันเขียนถึงเพื่อนที่ภายหลังเกิดทะเลาะกันแต่ยังชื่นชม
"สิ่งที่คุณเสาะแสวงหาอย่างไร้หวังมาครึ่งค่อนชีวิต ครั้นแล้วจู่ๆวันหนึ่งคุณก็ประจันหน้ากับมันเข้าอย่างจัง คุณแสวงหาเหมือนดังติดตามค้นหาความฝัน และในทันทีทันใดที่คุณได้ค้นพบคุณก็กลับต้องเป็นเหยื่อของมันเสียเอง" หน้า 38

บทที่คิดว่าค่อนข้างยาว เป็นบทพรรณาช่วงแรกใช้ชื่อบทว่า มัธยัสถ์ อาจดูยาวไปบ้างแต่อาจถือว่าบรรจุแนวความคิดไว้ค่อนข้างละเอียดบทหนึ่ง ตัวอย่างบางข้อความที่น่าสนใจ
"คนมีอารยธรรมก็คือคนเถื่อนที่มีประสบการณ์และฉลาดขึ้น" หน้า 106 ค่อนข้างง่ายๆตรงไปตรงมา แต่บางครั้งยากที่จะเข้าใจ แต่อันนี้....
"ผู้ที่เดินทางเพียงลำพังสามารถเริ่มวันนี้ได้เลย แต่ผู้เดินทางไปกับคนอื่นต้องรอจนอีกคนพร้อมเสียก่อน และมันอาจกินเวลานานกว่าจะได้ออกเดินทาง" หน้า135 ค่อนข้างได้ใจ เพราะมันจริงทั้งในแง่ความหมายตรงๆ หรืออ้อมๆก็ได้
"ไม่มีกลิ่นอะไรจะเหม็นร้ายกาจเท่ากลิ่นความดีที่เน่าเสีย" หน้า 136 ตรงๆตัวประเด็นนี้ ธอโรเหน็บพวกชอบอ้างทำดี

บทต่อมา ก็มีหลายอันน่าพูดถึง อย่างประโยค "สำหรับ นักปรัชญาแล้ว สิ่งที่เรียกว่า -ข่าว- ทั้งมวล คือเรื่องซุบซิบ ส่วนผู้ที่เรียบเรียงและอ่านมันคือหญิงชรา" หน้า158 อาจดูแรง ไปนิด แต่ก็เห็นภาพสมัยนั้นหรือสมัยนี้ได้ดี

คือทุกบท จะเกี่ยวเนื่องมาจากสิ่งที่ธอโร เห็นหรือเจอ ระหว่างอยู่ที่บึงวอลเดน มีตั้งแต่ บทเรื่องไร่ถั่ว หรือเพื่อนบ้าน บางบทพรรณาการทำงานและชีวิตประจำวัน บางบทสอดแทรก ทั้งเรื่องบทกวี หรือ อ้างอิงจากที่อื่น ทั้ง กรีกหรือจีน น่าอ่านมากๆอีกเล่มหนึ่ง เห็นมีพิมพ์ใหม่ออกมาแล้วด้วย แต่หน้าปกจะหวานๆกว่านี้

อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น - มาลินี คุ้มสุภา


อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น - มาลินี คุ้มสุภา
สนพ วิภาษา
รางวัล ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ 2549

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jan 16 2009, 10:15 PM

เวลาเราพูดถึงสิ่งก่อสร้างหนึ่ง ที่เน้นไปในด้านแนวความคิด อะไรคือสิ่งที่เราเห็น หรืออะไรคือสิ่งที่คนออกแบบอยากบอก แล้วจริงๆแล้ว จากชุดความคิดเดิมมันจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน เมื่อเวลา และสถานการณ์ใดๆก็ตามผ่านเข้ามา นานแค่ไหนความหมาย ถึงแสดงตัวตน หรือเปลี่ยนแปลงไป แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้ชุดความคิดนั้นเปลี่ยนไป

แล้วชุดความความคิดนั้นส่งผลอย่างไรต่อไป ต่อผู้พบเห็น หรือคนรุ่นต่อไป ส่งผลในแง่ใด (ในกรณีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย มีสิ่งหนึ่งที่แปลก คือชุดความคิดนั้นเปลี่ยนเมื่อมี impact ขนาดใหญ่เกิดขึ้นแต่ผลกลับไม่ได้ส่งแบบต่อเนื่อง ในทุกๆเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องในปัจจุบัน หมายความว่า ชุดความคิดนั้นเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่ถูกหรือผิด แล้วแต่การตีความของแต่ละกลุ่ม)

ว่ากันว่าอาคารและสิ่งก่อสร้างนั้น ยืนยงกว่าคนออกแบบ บางอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง สร้างในสิ่งที่เป็นมากกว่าแค่ ชุดความคิดหนึ่งๆ แต่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง บางทีกว้างมากจน เราไม่รู้เลยว่า ผู้สร้างเค้าจะคิดอย่างนั้นจริง หรือ สังคมรับรู้อย่างนั้นจริง / ในแง่ใกล้ตัว เราเจออยู่ทุกวันในการวิจารณ์อาคารต่างๆ ทั้งในแง่ชื่นชม, คิดแย้ง และต่อต้าน / อาคารเหล่านั้นการต่อต้านก็เกิดขึ้นได้ ทั้งสถาปนิกระดับชาติหรือสถาปนิก ตัวจ้อยที่ทำแต่งานเล็กๆ ยังหนีสิ่งนี้ไม่พ้น

มีตัวอย่างมากมายในโลกจริงๆ ที่ชุดความคิด และผลกระทบเปลี่ยนไป จากเดิมด้วยพลังงานบางอย่าง เช่น
กำแพงเบอร์ลิน (จากสิ่งที่เอาไว้ข่มขู่ กีดกันคน กลายเป็นเครื่องหมายแห่งการล่มสลาย)
เจดีย์ชเวดากอง (ในแง่เปลี่ยนจากศูนย์กลางศาสนามาเป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวทางการเมือง)
ปิระมิดแห่ง ซักการา (จากสิ่งที่แสดงถึงการเข้าใกล้พระเจ้า ในแบบอุปมาเป็นขั้นบันได สู่สิ่งที่แสดงว่า ยังมีอะไรอีกที่มนุษย์ทำไม่ได้)
หรือตัวอย่างที่ชัดและมีผลกระทบถึงเรา เช่น รูปพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ อาฟกันนิสถาน (ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและศาสนาไป เมื่อ ตาลีบันทำลายลง)
ตึกแฝด เวิร์ดเทรด เซ็นเตอร์ (สัญลักษณ์ทางทุนนิยม และความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรม ไม่แพ้ หอไอเฟล ที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆทางวิศวกรรมมากมาย กลายเป็นเครื่องมือในการก่อการร้าย และผู้คนส่วนหนึ่ง เชิดชูเป็นสัณลักษณ์อย่างมีนัย สำคัญ)
ไม่นับรวมพวกสถาปัตยกรรมชาตินิยม ที่ สเปียร์ สถาปนิกคู่บุญของฮิตเลอร์ สร้างขึ้นอีกมากมาย

แล้วอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ล่ะ ความหมายเบื้องต้น และความหมายต่อมา เป็นไปได้อย่างไร น่าสนใจอย่างยิ่งครับ "สถาปัตยกรรมเป็นอะไรมากมายจริงๆ"

The God of Small Things - Arundhati Roy


The God of Small Things - Arundhati Roy
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ - อรุณธตี รอย / สดใส แปล
สนพ.มูลนิธิเด็ก

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Apr 18 2009, 10:28 PM

"จริงๆแล้วมันเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการกำหนดกฏเกณฑ์เรื่องความรัก กฏที่กำหนดว่าควรจะรักใคร รักอย่างไร และรักได้มากแค่ไหน"

นิยายเรื่องนี้ได้รางวัล booker prize ที่สำคัญเป็นผลงานชิ้นแรกจากนักเขียนหญิง สถาปนิกชาวอินเดียอีกต่างหาก / นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ครอบครัวหนึ่งในชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่งในอินเดีย และครอบครัวยังถือว่ามีหน้ามีตาพอควรในชุมชนอีกด้วย เรื่องนี้ยังให้มุมมองแบบ 2ด้านในหลายๆตอน 2 ด้านในแง่คู่ตรงข้าม เช่น การเมืองแบบทุนนิยมกับสังคมนิยม, วรรณะสูง-ต่ำ, เพศชาย-หญิง, เด็กฝาแฝดไข่คนละฟอง ที่ต่างเพศต่างกัน, เด็กท้องถิ่นกับเด็กต่างชาติ และอีกหลายๆเรื่อง

- นิยายเรื่องนี้มีกรอบ และมีระบบที่แน่นอนอยู่ กรอบนั้นเพื่อกำหนดอาณาเขตอันแน่นอนให้ทั้งผู้อ่านและตัวละครได้ซึมซาบ / ระบบนั้นคือ วรรณะและวิธีการคิด รวมถึงการใช้เหตุผลของคนในชุมชน (ทั้งที่บ้านและโดยรอบ) ฉะนั้นมันจะบังเกิดความเฉพาะตัวขึ้น แต่จะว่ามันสะท้อนกลับไปหาโลกจริงๆได้หรือไม่ นั่นแล้วแต่ว่าเราใช้มาตรฐานใดคิด
(กรณีนี้คือ ลูกสะใภ้ชาวต่างชาติ(มาร์กาเรต โกจัมมา)แม้หย่าขาดจากลูกชายไปแล้ว ยังมีศักดิ์มากกว่าลูกสาวตัวเองที่หนีสามีมา)
(กรณีนี้คือ เหล่าหลานๆ(เอสธา และ ราเฮล)ที่พลอยรับกรรม (ผลจากการกระทำ)จากแม่ไปด้วย ศักดิ์ก็เลยต่ำกว่าหลานฝรั่ง(โซฟี โมล)

- สังคมในกรอบบ้านของนิยายเรื่องนี้ เป็นข้ออ้างแบบเข้าข้างตัวเองมาใช้กับคนอื่น มาตรฐานที่ปฎิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดแรงขับดันและแรงแย้งที่พร้อมจะระเบิดออกได้ทุกเมื่อ นี่คือสิ่งปกติของผู้ถูกกระทำอยู่แล้ว ยกตัวอย่างสำหรับชนชั้นกลาง ก็อย่างเจ้านายกดดันลูกน้องและเลือกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน
(กรณีนี้คือ ระหว่างลูกสาว(อัมมู)และลูกชาย(จักโก)ของแม่ผู้แก่ชรา(มัมมาจี)ที่ถูกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานอย่างชัดเจนจากแม่)
(กรณีนี้คือ พ่อผู้แสนดีในสายตาของใครๆ [พ่อผู้แสนชั่วในสายตาคนใน] กับภรรยา [แม้จะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแค่ไหนก็ตาม])
(กรณีนี้คือ น้องเมียผู้ยึดติดอยู่ในภพของตัวเอง(เบบี้ โกจัมา) จนไม่สามารถรับสิ่งใดได้อีก อันเป็นเหตุให้สร้างมาตรฐานให้คนอื่นตลอดเวลา)

- ผมเป็นคนที่ชอบกินอาหารทะเลมากยิ่งพวกกุ้งแหละชอบสุดๆ มาวันหนึ่งผมไปทำงานแล้วพบว่าผมเป็นภูมิแพ้ ณ ขณะนั้น หมอว่ายังไม่แน่ใจว่าแพ้อะไร หมอว่าต้องอาศัยการสังเกตุ คำแรกที่หลุดมาคือ หมอว่าอาจเป็นอาหารทะเลจำพวกกุ้ง-ปู-หอยก็เป็นได้ ในหัวผมมีแต่คำถามว่า "ทำไมหลอกให้กรูกินแล้วให้กรูชอบมาตั้ง 20 ปี เพื่อมาบอกกรูวันหนึ่งว่า กินไม่ได้แล้ว" ผมยกตัวอย่างนี้เพื่อให้ภาพว่า อารมณ์ไม่ต่างจาก ตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้เลย เหมือนถูกหลอกให้พบอิสระบางอย่างแล้วถูกห้าม ไม่ให้ไปยุ่งอีก ทุกข์ทั้งกายและใจ แบบที่เรื่องของผม แล้ว คูณเข้าไปหลายร้อยเท่า จนแทบนึกไม่ออกทีเดียว อย่างดีคงได้แค่เศษเสี้ยวของความทุกข์นั้น
(กรณีนี้คือ นางเอก (อัมมู) ในความเห็นผม เธอคือคนที่รับผลกระทบมากที่สุด ถึงแม้เธอไม่ได้จบนอกอย่างพี่ชาย หรืออย่างน้า แต่เธฮมีความคิดแบบตะวันตกมากทีเดียว เพราะเหตุนี้กระมังที่เธอทุกข์ที่สุด)
(กรณีนี้คือ เวลุธา จัณฑาลหนุ่ม ผู้รับผลนั้นแบบทันตาเห็น จริงๆแล้วคุณอาจเปรียบกับกรณีที่คนชั้นกลางชอบตัดสินคนระดับล่างได้เช่นกัน เพราะบ้านเราไม่เชิงมีแบบนี้ชัดๆ)

- เด็ก ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เอสธา และ ราเฮล, โซฟี โมล ช่วยสร้างความต่อเนื่องและเหตุปัจจัยได้เยอะมาก จริงๆเป็นตำแหน่งผู้เชื่อมเรื่องราว ผู้ร่วมในเหตุการณ์ด้วยทุกครั้งจะดูเหมาะกว่า

ภายใต้รายละเอียดที่มากขนาดนี้แต่เป็นนิยายที่อ่านง่ายและไหลลื่นมากเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านมา คือผู้เขียนประสานเรื่องทั้งมุมกว้างและมุมแคบได้ดี (จริงๆที่ปกหลัง ผู้วิจารณ์เปรียบว่า นักเขียนแจ้งเกิดเหมือน ไทเกอร์ วู้ด ที่เล่นลูกยาวก็ดีลูกสั้นก็ยอด) ต้องลองอ่านดูแล้วน่าจะเข้าใจว่าหมายถึงสิ่งใด

นอกบท - มนัส จรรยงค์


นอกบท - มนัส จรรยงค์
รวมเรื่องสั้นอันเป็นที่รัก พิมพ์ในวาระครบ 100ปี
สนพ.แพรวสำนักพิมพ์

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Apr 13 2009, 12:03 AM

ถ้าใครเคยมีโอกาสอ่านเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ มาก่อนคงแทบไม่ต้องสาธยายให้มากความ เนื่องว่าสไตล์ของ มนัสเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น ในสไตล์ที่เรียกว่า ท้องทุ่งไทยๆกินใจ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา รักก็รักมาก แค้นก็แค้นมาก มีบุญคุณต้องทดแทนแค้นต้องชำระ วิธีการแก้ปัญหาตรงไปตรงมาอีกเช่นกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้พบเจอได้ยากในสังคมสมัยใหม่ ที่ใช้ปากพูดมากกว่าใช้สองมือทำ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นแน่ๆคือ ตัวละครของมนัส ดูเป็นจริงมากๆ ถึงแม้ว่าในบริบทแบบปัจจุบันก็ตาม

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนที่เดินทางและผจญภัยไปทั่ว ทำให้มีวัตถุดิบมากมายในการเขียน หลายเรื่องมาจาก วัตถุดิบเหล่านั้น เช่น เรื่องดังๆ อย่าง จับตาย ก็มีในเล่มนี้เช่นกัน และมาจากประสบการณ์ตอน นักเขียนเดินทางไปใช้ชีวิตทางใต้ที่นราธิวาส บรรยากาศแบบป่าดงดิบและการดำเนินชีวิต ทำให้ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครก็จะกินใจในการอ่านครั้งแรกได้แน่ เพราะอย่างที่บอกเนื่องจากความเรียบง่ายและจริงใจของเนื้อเรื่องและตัวละครทำให้ผู้อ่าน รักและรับเรื่องประเภทนี้ได้ไม่ยาก อีกทั้งผู้เขียนลงไป คลุกคลีกับสถานที่และเหตุการณ์นั้นๆเลยทำให้ความสมจริงยิ่งเพิ่มทวี ถ้ายกตัวอย่างในระดับสากล ก็อย่าง จอห์น สไตน์เบ็ค หรือ แฮมมิ่งเวย์ หรือ ลามู (อันนี้จะออกไปทางแนวตะวันตกอย่างเดียว แต่อ่านสนุกมากนะครับ ยิ่งถ้าชอบ cowboy ไม่ควรพลาด)เป็นต้น

นั่นเป็นบรรยากาศแบบป่าๆ ซึ่งจริงๆยังมีอีก เรื่องสองเรื่อง มาในแนวนี้เช่นกัน หรือแนวทะเลๆก็มีหลายเรื่อง แต่แน่นอนว่าร้อยละ 80 ในนี้เป็นเรื่องท่ามกลางท้องทุ่ง ได้บรรยากาศ ดีๆมากมาย แต่ก็มีบางเรื่อง ที่มุ่งประเด็นด้านสังคมและแนวคิดทางการเมืองในสมัยนั้น ซึ่งทำให้เห็นภาพคร่าวๆไปด้วยในตัว เหมือนหลายคนว่าวรรณกรรมนั้นสะท้อนสังคม เช่นเรื่อง นรกคำราม อันนี้แนวปะชดสังคมสมัยใหม่แต่นำเสนอกันในบริบทสังคมท้องทุ่ง, อนุเสารีย์ 2580 ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่แหวกแนวมากๆ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตในมุมมองของผู้เขียน แต่กลับสะท้อนมุมในปัจจุบันมากกว่าอนาคต ประมาณว่าเอาเรื่องปัจจุบัน(สมัย มนัส)มาเขียนแบบอนาคต อึม...ไม่รู้จะว่าไงดีแต่มันประมาณนี้แหละมั้ง

ถ้าเรื่องที่ก่อนหน้านี้เป็นอนาคต เรื่อง ฟองซิกา ก็เป็นแนวย้อนอดีตแบบสุดๆ เรื่องน่าจะเกิดขึ้นในสมัย ร 4. และตัวเอกเป็น โปรตุกีส แหวกแนวจริงๆเมื่อคิดว่าเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2520 ทั้งแนวการดำเนินเรื่องหรือจุดหักมุม ถือว่าโดดเด่น จริงๆแล้วทุกๆเรื่องมีดี ต่างกันไป มีทั้งออกแนวผีๆ และออกแนวเหมือนจะผีแต่ตลก และแนวหักมุม / ในเล่มนี้กล่าวว่ามนัส สามารถเขียนเรื่องสั้นได้ 2 เรื่อง หรือมากกว่านั้นในวันเดียวถ้าจำเป็นหมายความว่าแกวางพล็อตเรื่องและการเขียนรวดเร็วสุดๆนั่นเอง ซึ่งยากมากๆที่ใครจะทำได้ขนาดนั้น เหตุก็คือ เรื่องสั้นนั้นไม่เหมือนเรื่องยาว เพราะมันจะจบกันภายในไม่กี่หน้า ฉะนั้นพล็อตเรื่องจะสั้นๆง่ายและตรงประเด็นในขณะเดียวกันก็ต้องน่าสนใจด้วย ฉะนั้นการคิดเรื่องใหม่ๆแบบนี้จึงถือว่าหนักและหินทีเดียว

ดังนั้นเห็นได้เลยว่าแก เขียนได้หลากหลายแนวจริงๆ ทำให้รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไม่น่าเบื่อ อีกทั้งหลายเรื่อง อาจหาอ่านยากซักหน่อย ก็มีรวบรวมไว้ ขนาดผู้รวบรวมว่า ถือเป็นงานยากที่จะตัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไป เลยทำให้เล่มนี้มีขนาดที่หนามากๆ แต่อย่างที่ว่าไป อ่านลื่นมากจนรู้สึกว่าถ้าทำให้สมบูรณ์มากๆ หนากว่านี้ก็ไม่เป็นไร เหอๆ / เล่มนี้มากันแบบสะใจ 35 เรื่องสั้น บวกด้วย ภาคผนวกที่มีเกร็ดชีวิตและบทสัมภาษณ์ สั้นๆโดย 'รงษ์ วงษ์สวรรค์ เรื่อง จับตาย และ บทชม โดย อัศศิริ ธรรมโชติ / น่าสะสมและน่าอ่านถ้ายังไม่เคยอ่าน

The Power Of Myth - Joseph Campbell & Bill Moyers


The Power Of Myth - Joseph Campbell & Bill Moyers
พลานุภาพแห่งเทพปกรณัม - บารนี บุญทรง แปล

มูลนิธิกิ่งแก้ว อัตถากร

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Apr 7 2009, 11:43 PM

หนังสือประมาณ เทพปกรณัม นอกจาก ต่วยตูน ผมไม่เคยสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออธิบายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยก็ตาม เห็นครั้งแรกนึกว่าคล้ายแต่หลังจากอ่านไปแค่คำนำ พบว่าไม่ได้ใกล้เคียงกับสไตล์ ต่วยตูน แม้แต่น้อย เป็นแนวปรัชญา หรือศาสนา มากกว่า อาจจะไปหลงประเด็นตอนดูหน้าปก รวมทั้งอีกอย่างหนังสือจากค่ายนี้มักห่อพลาสติกมาแล้วอย่างสวยงามยากที่จะเปิดดู ต้องไปบอกเคาน์เตอร์ให้เปิดให้ แต่เรามันพวกปากหนัก เหอๆ ลองซื้อเลย ซึ่งประทับใจมาก นานๆได้อ่านหนังสืออย่างนี้สักที ถือว่าดีให้อาหารสมองตัวเองซะบ้าง

หนังสือเล่มนี้ ใช้การถอดเทปการพูดคุยกันระหว่างอาจารย์ด้าน เทพปกรณัม ที่โด่งดัง Joseph Campbell กับ นักข่าว Bill Moyers เป็นผู้สัมภาษณ์ พิมพ์ขายมาตั้งแต่ ปี1988 แต่คุณ Campbell แกตายซะก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะเป็นรูปเป็นร่าง / ความคิดของทั้ง คุณ Campbell กับ คุณ Moyers จะว่าไปไม่สุดโต่งเหมือนบางเล่ม แต่กลับเน้นการค้นหาและทำความเข้าใจในบทบาทของแต่ละบริบทที่ยกขึ้นมาคุยในแต่ละด้านของ เทพปกรณัม มีการยกตัวอย่างเชิงจิตวิญญาณที่น่าสนใจ และง่ายๆไม่ซับซ้อนหลายกรณี ซึ่งทำให้อ่านสนุกเพราะทั้ง 2 ท่านล้วนมีความรู้และมุมมองในระดับที่น่าทึ่งอยู่แล้ว / ง่ายๆเลยเราจะเริ่มมองเห็น พิธีกรรมอันมากมายในชีวิตของเราทั่วไปหมด จนใครที่คิดว่าเรื่อง เทพปกรณัม เป็นเรื่องล้าสมัย อาจต้องเปลี่ยนความคิดทีเดียว โบราณน่ะใช่แต่ไม่ล้าสมัย ทั้งพิธีสวนสนาม, พิธีแต่งงาน, พิธีบวช, พิธีรับนักศึกษาใหม่, พิธีครอบครู, พิธีจบการศึกษา และอีกสารพัดพิธี แม้กระทั่งการชุมนุมบางอย่างหรือการยกพวกตีกันก็มีความเป็นพิธีกรรมสูง มีลำดับจนบางครั้งเรามองข้ามมันไป / เห็นได้ชัดต่อไปอีกว่าเทพปกรณัมอยู่ในชีวิตเราและศาสนามากแค่ไหน เช่น การแนะนำการเดินทางของปัญญา โดยมีเทพปกรณัม นำทางมีมานานแล้ว ในบ้านเราที่เห็น เช่นการบูชาผีป่า, ผีบ้าน, ผีเรือน หรือ พิธีกรรมด้านการตาย ไม่ว่าจะจีน ไทย ฝรั่ง แขก ล้วนพูดถึงการเดินทางไกลเพื่อค้นหา ผมก็พึ่งทราบว่าหลายๆอย่างนั้นมีความคล้ายคลึงกับทั่วโลกแต่อาจต่างในแง่รายละเอียด แต่จุดมุ่งหมายนั้นเหมือนกัน

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นตอนๆ รวมทั้งหมด 8 ตอน ครอบคลุมเนื้อหากว้างๆ ทางด้านเทพปกรณัม ไว้หลายด้าน แต่ละบทก็จะพูดในประเด็นต่างๆออกไป ยกตัวอย่างเช่น ในบทแรก พูดถึง เทพปกรณัมและโลกสมัยใหม่ ก็เป็นการกล่าวหลากหลายทั้งในแง่สังคม การแต่งงาน, ภาพลักษณ์ในสังคม, หน้าที่การงาน (ในบทนี้ยกตัวอย่าง ความเป็นสถาบันของผู้พิพากษาและประธานาธิบดี ว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลอีกต่อไป แต่แน่นอนเรื่องของอำนาจไม่ว่าจะสถาบันใด ล้วนสามารถก้าวไปด้านมืดได้ทั้งนั้น อันนี้รวมทั้งครู นักเรียน หมอ สถาปนิก คืออาชีพใดๆก็ตามที่มีความเป็นสถาบันอยู่แล้ว) หรือแม้ถึงการพูดถึงในแง่เทพนิยาย กับสัญลักษณ์ในชีวิตประจำวัน / ในบทแรกยังมีการให้คำอธิบายคร่าวๆถึงความหมายของเทพเจ้าว่าคือ "บุคลาธิษฐานของแรงผลักดันหรือระบบค่านิยมที่มีบทบาทในชีวิตมนุษย์และในจักรวาล" น่าสนใจมากในแง่ที่ว่าทุกศาสนาล้วนใช้กลวิธีเรื่องบุคลาธิษฐานในการอธิบายความ สอนศิษย์กันทั้งนั้น

ในบทต่อๆมาก็ล้วนน่าสนใจและเปิดประเด็นกัน ง่ายๆตรงไปตรงมาดีแต่ก็จะเริ่มลงในรายละเอียดมากขึ้น จะว่ายากขึ้นไหมคงไม่ เพราะการปูพื้นฐานมาก่อนในบทแรกและคำนำช่วยได้มาก โดยยกทั้งเรื่องศาสนาหลายๆศาสนา แต่แกนจะเป็น คริสต์นะ อาจเป็นเพราะตอนแรกหนังสือเล่มนี้ทำให้คนตะวันตกอ่านก่อนก็ได้ (เพราะเหมือนหลายๆเล่ม ประเด็นศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ศรัทธาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต้องมีปัญญาด้วย) หรือในกรณีบางบทมีการกล่าวยกตัวอย่างน่าสนใจกับ เด็กวัยรุ่นปัจจุบันกับพิธีกรรมการเปลี่ยนสถานะหรือเรียกว่าการเปลี่ยนสภาพจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ (ถ้าเคยดูพวกรายการเกี่ยวกับชนเผ่าทั้งหลายก็จะเห็นภาพครับ เช่นการสักตามร่างกายเป็นต้น) ทำไมผู้หญิงถึงมีพิธีสู่วัยสาวไม่สำคัญเท่าผู้ชาย ลองอ่านดูแล้วจะขำว่าเอ ก็จริงนะ ผู้ชายมันอย่างนั้นจริง / ยิ่งบทหลังๆนี่บอกได้เลยว่าดำดิ่งกันสนุกสนานไปเลย

อันนี้เป็นประโยคแรกๆที่คุณ Moyers ยกขึ้นมาในคำนำ โดยเป็นหนึ่งในการสนทนาครั้งหนึ่งกับคุณ Campbell เพียงแต่ไม่ได้รวมในเล่มนี้ ประโยคนี้กินใจผมมากทีเดียว
[ พ่อหมอชาวเอสกิโมเผ่าคาริบู ชื่อ อิกจูการ์จูค [Igjugarjuk] พูดกับชาวตะวันตกเรื่องปัญญาว่า
"ปัญญาที่แท้จริงพำนักห่างไกลจากมนุษยชาติ ออกไปไกลโพ้นในความเปล่าเปลี่ยวที่ใหญ่ยิ่ง และสามารถไปถึงได้โดยผ่านความทุกข์เพียงอย่างเดียว ความยากไร้และความทุกข์เท่านั้นที่เปิดจิตไปสู่สิ่งที่ถูกเก็บซ่อนไว้จากสายตาผู้อื่น"] - คำถามต่อมาคือทำไมล่ะ อึม น่าคิดดี

ขอให้มีความสุขกับเล่มนี้ครับ อาจดูใหญ่ไปนิดแต่อ่านคล่องแน่นอน

Utopia - Sir Thomas More


Utopia - Sir Thomas More
ยูโทเปีย - สมบัติ จันทรวงศ์

สนพ.สมมติ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 29 2009, 06:54 PM

เล่มนี้ผมอ่านครั้งล่าสุดคือ เมื่อตอนอยู่ ปี4 ในครั้งนั้นใจผมเชื่อ ราฟาเอล ฮิธโลเดย์ (ในหนังสือคือผู้ที่เล่าเรื่อง - มอร์คือผู้บันทึก) เต็มเปี่ยม ด้วยใจของนักศึกษาผู้เชื่อมั่นเต็มที่ว่า โลกที่ดีกว่านี้ต้องประมาณนี้แหละ ไม่มีการลังเลแม้แต่น้อยว่าบางอย่างมันจะเป็นไปได้หรือ / จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ผมมีปิยมิตร ผู้ถือว่าเป็นผู้ทำให้ผมรักการอ่านอยู่คนหนึ่ง เพื่อนท่านนี้อายุมากกว่าผม เราเตะบอลกันมาแต่เด็ก หลังเตะบอลก็มักพูดคุยกันตามเรื่องตามราว เย็นวันหนึ่งหลังเตะบอลเสร็จ ณ.ตอนนั้นผมอยู่ประถม4 เพื่อนอยู่ประถม6 เราคุยกันเรื่อง ยูโทเปีย ครับ ฟังดูบ้าๆใช่ไหมครับ แต่จริงๆแล้ว ณ. ขณะนั้นเราไม่รู้หรอกว่า ยูโทเปียคืออะไร ใครเขียน ไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป เพียงแต่เราคุยเรื่องสังคมในอุดมคติที่ต้องดีกว่านี้ ตามประสาเด็กๆต่างจังหวัดจะคิดกันได้ / จริงๆเพื่อนผมเป็นคน เอาเรื่องนี้ขึ้นมาคุย เนื่องจากว่า พ่อของเพื่อนผมคนนี้บ้าหนังสือขนาดหนัก มีหนังสือ
แทบทุกประเภท ตั้งแต่ตำราพรหมชาติ ยันคู่มือเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

ฉะนั้นเพื่อนผมเลยชอบหาเรื่องแปลกๆมานั่งคุยกับผมเสมอๆ วันนั้นพอดีมันไปแอบเปิดตู้หนังสือต้องห้ามของพ่อมันเข้า เมื่ออ่านเสร็จมันเลยนำเรื่องที่มันอ่านมาคุยกับผมบอกตามตรงว่าวันนั้นผมฟังซะส่วนใหญ่ เพื่อนผมมันว่าโลกที่ดีกว่านี้ต้องเป็นโลกของวิทยาศาสตร์ ที่เราสร้างได้ทุกอย่างเพื่อตอบสนองคนทุกประเภทและทุกความต้องการ เพราะถ้าทุกคนได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทุกคนก็จะรู้จักพอ วันนั้นผมตั้งคำถามไปว่า อย่างเราอยากได้จักรยานเดินไปบอกเครื่องปุ๊บแล้วได้เลยใช่ไหม เพื่อนบอกว่าประมาณนั้น ผมก็ว่างั้นก็เยี่ยม เพราะแม่งเพื่อนจะได้ไม่อิจฉากันว่ากรูมีมรึงไม่มี เพราะสมัยนั้นบ้านผมใครมีจักรยานพวก บีเอ็มเอ็กซ์ เท่ห์โคด ใครไม่มีก็เซ็งโคด / ซึ่งเมื่อเราโตขึ้นจึงรู้ว่า เรื่องพวกนี้ไม่จริง เพราะความอยากของคนไม่มีที่สิ้นสุด แต่ด้วยความคิดแบบเด็กๆซื่อๆจึงยังคงเชื่อกันว่าจะเป็นเช่นนั้น.....ตอนนี้เพื่อนผมเป็นด๊อกเตอร์ทางฟิสิกส์ และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง(เลียนแบบพวกนสพ.ดาราหน่อย) ผมยังไม่เคยถามมันอีกครั้งเลยว่าที่มรึงเคยคิดและเชื่ออ่ะ ยังยืนยันไหม ปล.แม้แต่ตอนที่ผมอ่าน ยูโทเปีย เองจบในครั้งแรกก็ยังไม่มีโอกาสเลย

กลับมา ณ. ตอนนี้ผมไปซื้อฉบับพิมพ์ใหม่มาอ่าน เพราะไปดู ซีรีย์ เรื่อง ทิวดอร์ ที่เป็นฉบับเฮนรี่ที่8 เท่ห์ โคดๆอ่ะ มีการพูดถึง มอร์ ผมเลยได้แรงจูงใจอย่างแรงให้กลับมาอ่านอีกครั้ง จริงๆก็อยากรู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป เรายังจะคิดเหมือนเดิมไหม / ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า มอร์ ค่อนข้างขี้เล่นมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นทั้งปัญญาชนและผู้เลื่อมใสในศาสนาอย่างแรงกล้า (เขาสั่งเผาคนที่ไปนับถือโปรแตสแตนท์ ไป 8คน รวมทั้งประฌาม มาร์ติน ลูเธอร์ ซะเสียไปเลย) รวมทั้งบรรยากาศที่ศาสนาและพระราชามี อิทธิพลยิ่งในขณะนั้น หรือสังคมที่เน่าขนาดหนัก สิ่งเหล่านี้ประกอบกันขึ้นมาเป็นหนังสือเล่มนี้ (ประวัติชีวิต ของมอร์ ค่อนข้างจบแบบเศร้าๆ แต่ในภายหลังได้ถูกประกาศเป็นนักบุญ หาอ่านได้จากเล่มนี้เช่นกัน เพื่อจะเข้าใจได้ดีขึ้น)

อย่างแรกเลยหนังสือเล่มนี้มีการใส่ทั้งชื่อคนและสถานที่มากมาย(ต้นฉบับเป็นภาษาละติน) ชื่อเหล่านั้นทำให้ดูสมจริงมาก เพราะมีการระบุรายละเอียดหลายๆอย่างลงไปแต่ ตัวอย่างที่เห็นชัดของความขี้เล่นคือ ยูโทเปีย เป็นภาษากรีกกลับแปลว่า "ไม่มีที่ไหน" ความแปลกและพิสดารยังมีปรากฎทั่วไปในหนังสือ / ราฟาเอล ฮิธโลเดย์ - ราฟาเอล ในภาษาฮีบรู แปลว่า"พระเจ้าได้ทรงรักษา", ฮิธโลเดย์ hythloday มาจากภาษากรีก hythlos แปลว่า"ไร้สาระ" daio แปลว่า"ผู้แจกจ่าย" ซึ่งดูไปจะเห็นว่าความหมายมันจะไม่ค่อยไปด้วยกันเท่าไหร่ เนื่องจากสาเหตุใดนั้นลองหาอ่านดูได้ในเล่มนี้ / หนังสือเล่มนี้ในฉบับเดิมแบ่งออกเป็น 2 เล่ม และอีก 2 จม.ตอบโต้ ซึ่งตอนแรกผมดูว่าไม่ค่อยจำเป็น แต่พออ่านๆไป อึมจำเป็นฮ่ะ / เล่มที่ 1 เป็นหัวข้อและแนวคิดของ ราฟาเอล ฮิธโลเดย์ ที่พูดกับมอร์และเพื่อน เล่มที่ 2 จึงเป็นเรื่อง เกาะหรือประเทศที่ชื่อว่า ยูโทเปียทั้งเล่ม ซึ่งว่ากันตั้งแต่ ภูมิประเทศ, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, ประเพณี, การเกษตร และ ศาสนา จริงๆแล้วความโดดเด่นไม่ได้จำกัดเพียงเล่มที่ 2 แต่เล่มที่ 1 ก็มีแนวความคิดที่น่าสนใจเรื่องนักโทษและการลงโทษ หรือ หัวขโมย ที่มาและการลงโทษหัวขโมย ซึ่งต้องลองอ่านและตีความกันดู จริงๆจะว่าความหมายมันตรงๆก็ว่าได้อยู่ หรือจะเป็นเรื่องระบอบกษัตริย์กับประชาชนในบริบทนั้นก็น่าสนใจ

ในเล่มที่ 2 มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นให้ตีความและถกเถียงกัน ผมคงไม่ยกตัวอย่างมาก เพราะน่าอ่านครับ และเดี๋ยวนี้ก็ยังตีความกันได้อยู่ เอาความคิดผมเองแล้วกัน อ่านเสร็จแล้ว ผมคิดว่าในยูโทเปีย ค่อนข้างจะต้องใช้วินัย และการบังคับสูง(ผมคิดถึงคุก กลายๆนะและด้วยความที่มันเป็นเกาะและยากที่จะเข้าถึงยิ่งทำให้อดคิดในแง่นี้ไม่ได้) คือ มันต้องบังคับและควบคุมขนาดว่าให้ซึมไปในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว ฉะนั้นหลายเรื่องผมไม่คิดว่าจะเป็นไปได้แบบถ้าตีความกันตรงๆ แต่สิ่งที่เห็นได้อีกอย่างคือ มอร์ ตีแผ่ความเป็นปุถุชนออกมาอย่างเห็นภาพมาก เพราะสิ่งที่คนยูโทเปียทำ คนในโลกจริงๆแทบไม่มีทางทำได้เลย ต่อให้ว่าเลียนแบบของ เพลโตตรงๆก็ตามเพราะในชุมชน แบบเพลโต ซึ่งผมว่าเคร่งครัดน้อยกว่านี้ ก็ยังทำไม่ได้ นั่นหมายความว่า ไม่มีทางอะไรเลยหรือ คือผมว่าไม่ทั้งหมดหรอก แต่ปรับใช้ได้ทั้งในแง่คุณธรรมการเมือง หรือ ระบบคุมผู้มีอำนาจและผู้แทน หรือระบบการเลือกตั้ง ซึ่งจริงๆมีบางประเทศคล้ายๆนะครับไม่ถึงกับว่าเหมือนทีเดียว อย่างการเลือกผู้มีอำนาจโดยประชาชนในทุกกรณี หรือวิธีการคัดสรรผู้สมัคร ที่ผมว่าน่าสนใจและเป็นไปได้ แต่การลงโทษนั้นผมว่ายังห่างไกลอยู่มาก / จริงๆแล้วมีเรื่องมากมายจริงๆที่น่านำมาคุยกันจากหนังสือเล่มเล็กๆเล่มนี้
ลองผจญภัยกับมัน เพื่อดูให้แน่ว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงขึ้นหิ้งคลาสสิค รวมทั้งเป็นหนังสือบังคับอ่านของเด็กในมหาลัยมานาน / อีกประการนั่นคือการได้สุดยอดผู้แปลหนังสือ ประเภทปรัชญาการเมือง มาแปล รายละเอียดและ เชิงอรรถครบถ้วนอ่านง่าย

วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน


บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน
สันต์ ท.โกมลบุตร

สนพ.ศรีปัญญา

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 28 2009, 07:34 PM

เป็นความจริงทีเดียวว่าประวัติศาสตร์ช่วงอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีความซับซ้อน และน่าสนใจมากที่สุดช่วงหนึ่ง ทั้งการย้ายเมืองหลวง หรือ ฝรั่งที่เข้ามาได้ดิบได้ดีกัน หรือ ช่วงรอยต่อของการครองอำนาจ ทั้งพระเพทราชา, หลวงสรศักดิ์ หรือช่วงต่อเนื่องมาแต่พระเจ้าปราสาททอง แต่ในความซับซ้อนมีข้อดีครับ มีข้อมูลจากจดหมายเหตุของฝรั่งเยอะไปหมด แล้วแต่ละคน(ฝรั่ง) ก็ไม่ได้ชอบหน้ากันมากขนาดเขียนชมกันจนหมด ทำให้เกิดความหลากหลายในข้อมูล เพิ่มมิติได้ดี นี่อ่านเล่มนี้จบแล้ว ผมตั้งใจจะเหมาทั้งหมดในชุดนี้ ในงานหนังสืองวดนี้เลย เพราะเล่มอื่นๆต่อจากนี้ รวมคนที่ไม่ค่อยจะชอบขี้หน้า ฟอลคอน ทั้งนั้น น่าสนใจครับน่าสนใจ

อย่างที่เกริ่นไป เล่มนี้ น่าจะเรียกฉบับคนชอบ ฟอลคอน ก็น่าจะได้ (หลวงพ่อท่านนี้ใกล้ชิดกับฟอลคอลมาก ทั้งเป็นพระที่รับสารภาพบาปให้ฟอลคอลด้วย ซึ่งอย่างที่รู้ๆกัน การสารภาพบาปเป็นการเมืองอย่างหนึ่ง แต่พระที่รับสารภาพบาปโดยมากมักไม่เปิดเผยสิ่งที่ ผู้สารภาพนั้นสารภาพออกมา) ฉะนั้นเราจะได้เห็นมุมมองที่ดีๆ และด้านร้ายๆของพระเพทราชา ซึ่งว่ากันตาม นิธิบอก มันไม่แปลกสำหรับการเมืองในภูมิภาคนี้ มันเป็นของมันอย่างนี้เอง ที่ใครอยากครองอำนาจก็ฆ่ากันไปมา เอาง่ายๆแค่การขึ้นสู่อำนาจของ สมเด็จพระนารายณ์ ในเล่มอื่นที่ผมเคยอ่านก่อนหน้านี้ไม่ได้ดูดีเท่าเล่มนี้ที่ฝรั่งเขียนเลย แต่เช่นกันบางตอน ในเล่มนี้อย่างเรื่องของ ท่านโกษาธิบดี (ปาน) ราชฑูตไทยคนแรก ในเล่มนี้ดูแย่กว่าทุกๆเล่มที่ผมเคยอ่านมา แต่ อีกครั้งเหมือน นิธิ กล่าวไว้ เราไม่อาจใช้วิธีวิพากย์ของตะวันตกมาใช้กับ บริบทไทย ถึงว่าในสายตาฝรั่งเรื่องท่านอาจดูเหมือนเนรคุณ แต่ผมมองต่างมุม เพราะมันเป็นเรื่องอำนาจและอีกหลายสาเหตุประกอบที่ฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ / จริงๆปัญหาก็คือ ไทยมักชอบใช้ การวิพากย์แบบฝรั่งมาใช้กับประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ก็เลยทำให้วิตกจริต กลัวจะดูไม่ดีในสายตาต่างชาติ เลยด้นสดของตัวเองขึ้นมาแทน ซึ่งจริงๆ มีหลายเรื่องครับเรื่องการอายของไทยเนี่ย ลองไปหาอ่านของนิธิ หรือ พวกประวัติศาสตร์นอกกระแสดูจะเห็นภาพกว่า

กลับมาที่เล่มนี้ เรารู้ก่อนแล้วว่า ฟอลคอน(จริงๆมีหลายชื่อครับเรียกเพี้ยนบ้างสะกดเพี้ยนบ้างหรือเป็นชื่อแต่ดั้งเดิมบ้าง อันนี้แค่ในจดหมายฉบับนี้ก็ไม่ค่อยเหมือนกันในแง่ชื่อเรียกยศ แล้วล่ะครับ) คือ ฝรั่งชาวกรีก เข้ามาในไทยจนได้ดิบได้ดีได้เป็น เสนาบดีผู้ใกล้ชิดและทรงอำนาจ มีภรรยาที่เป็นคนทำต้นกำเนิดของขนมพวกทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง ตอนแรกผมจำได้ว่าแกชื่อ ท้าวทองกีบม้า เป็น โปรตุเกส ก็พึ่งมารู้เล่มนี้ว่าเป็นลูกครึ่ง ญี่ปุ่น-โปรตุกีส ชื่อเต็มๆว่า โดญ่า กุโยม่าร์ สวยขนาดมีลูกก็แล้ว สามีพึ่งถูกบั่นคอไปหยกๆ หลวงสรศักดิ์ ยังอยากได้มาไว้ส่วนตัว (หลวงสรศักดิ์คือพระเจ้าเสือในกาลต่อมานะครับ เผื่อบางคนลืมๆไป ว่ากันว่าแกอาจเป็นลูกชายลับๆของสมเด็จพระนารายณ์ แต่เล่มนี้ไม่ได้ว่าไว้) มีออกอุบายทั้งหลอกทั้งล่อลวง อันนี้ทำเมื่อพระเพทราชากำลังจะปราบดา นะครับ คือหลังจากยึดอำนาจจาก สมเด็จพระนารายณ์

เล่มนี้จะเกริ่น รายละเอียดช่วงชีวิต ของฟอลคอน ตั้งแต่หนุ่ม ที่ประสบความล้มเหลวต่างๆนาๆ ค้าขายทางเรือ พอมีเงินจะทำเอง เรือก็ล่มเกือบตาย หมดตัวต้องให้เพื่อนชาวอังกฤษช่วยเหลือเงินทอง หรือชื่อที่เปลี่ยนให้โดยคนอังกฤษจากภาษากรีก และ การยอมเปลี่ยนกลับมานับถือศาสนาดั้งเดิม เพื่อจะได้ชนะใจ ท้าวทองกีบม้า ที่เล่มนี้ว่ากันว่า เคร่งศาสนาพอควรเลย / จนไปถึงการเข้ามาในราชสำนัก การเข้าถึงสมเด็จพระนารายณ์ และทำให้ท่านเชื่อใจ ขนาดว่าขาดไม่ได้ต้องเรียกคุยกันตลอดเวลา / หรือเรื่องที่กลุ่ม พระมิชชั่นนารี พยายามจะให้สมเด็จพระนารายณ์ เข้ารีต ซึ่งเล่มนี้เคลมว่าเกือบได้ ถ้าท่านไม่ทรงพระประชวรแบบขนาดหนักไปซะก่อน ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นให้มีการส่งฑูตไปฝรั่งเศส และขอทหารฝรั่งเศสมาช่วยคุ้มกัน สมเด็จพระนารายณ์ ตามคำขอของ ฟอลคอล ซึ่งต่อมามีการตกลงเรื่องเมืองกึ่งเมืองขึ้นที่จะยกให้ฝรั่งเศส เช่นสงขลา, มะริด และกรุงเทพ หรือการพูดคุยกันเองเรื่องการขุดคลองคอคอดกระ (คิดดูครับมีคนอยากทำตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์) / ดูไปดูมาฟอลคอลฉลาดมากๆครับ เปรียวทีเดียวแต่ก็ไม่แปลกสำหรับคนระดับนี้ แต่เล่มนี้ออกจะเป็นภาพ ฟอลคอลแนวซื่อๆนะครับ ดูน่าสงสารในบางตอน ผิดถูกประการใด ต้องเช็คจากเล่มรวมพลคนเหม็นหน้า ฟอลคอลอีกครั้งอีกทั้งในกรณีประวัติส่วนตัวก็เป็นคำบอกเล่า ซะมาก นักบวชเพียงจดตามความทรงจำเพื่อส่งจดหมายฉบับนี้ต่อ

ในช่วงท้ายๆมีการเล่าถึงการช่วงชิงอำนาจและแผนของพระเพทราชา ที่ไม่รู้ว่าเล่มนี้จะเรียกว่าด่าหรือชม ว่ามีกลเกมส์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเนื่องด้วย พระเพทราชาเป็นคนที่ฉลาดแต่ก็โหดเหี้ยมมากๆพอๆกัน (อันนี้เล่มอื่นๆที่เคยอ่านมาก็กล่าวเช่นนั้นแต่แผนการอาจจะละเอียดแตกต่างกันไปตามมุมมองที่เจอ) / หรือแผนตอบกลับของฟอลคอล ต่อแผนพระเพทราชา ไปจนถึงการหักหลังกันเองของคนของฟอลคอล มีบางชื่อที่ขึ้นมาที่ผมบอกแต่แรกว่าแปลกใจ แต่ไม่เหลือเชื่อ คือชื่อของ ท่านโกษาธิบดี (ปาน) อย่างไรก็แล้วแต่ต้องลองหาอ่านเล่มอื่นประกอบด้วยอีกครั้ง / หรือเหตุการณ์หลัง ฟอลคอลตายและการตก ระกำลำบากของ มาดามฟอลคอล เป็นต้น แถมด้วยจดหมายที่ลงลายเซ็นต์ ของ ฟอลคอลส่งไปหา หลวงพ่อ เดอะ ลาแชส และจดหมายลับที่ส่งถึงโป๊บอินโนเซนต์ที่ 11 / ถ้าถามว่าน่าสนใจไหมผมว่าอ่านสนุกและน่าสนใจแม้สำนวนจะดูเก่าไปสักหน่อยก็ตาม (ในส่วนจดหมายลับสำนวนเก่าถึงเก่ามาก ผมเองไม่ค่อยอินเท่าไหร่ แต่เนื้อหาก็เป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับทำความเข้าใจบริบทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) แล้วจะเห็นมุมมองใหม่ๆครับอันนี้แน่นอน

Small is Beautiful - E.F.Schumacher


Small is Beautiful - E.F.Schumacher
เล็กนั้นงาม - กษิร ชีพเป็นสุข แปล

สนพ.มูลนิธิเด็ก

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 25 2009, 11:09 PM

ในยุคสมัยที่ เศรษฐกิจโลกอ่อนแรง รวมทั้ง เศรษฐกิจไทยร้องหาความพอเพียง แต่ภาครัฐและเอกชนต่างรู้ว่า ต้องให้คนใช้จ่าย เพราะถ้าทุกคนไม่มีความมั่นใจ ไม่ใช้จ่าย ต่างคนต่างเก็บแบบพอเพียง(ถ้าท่านดูการให้สัมภาษณ์ของพนักงานอ๊อฟฟิคหลายคน ความเข้าใจของเค้าเหล่านั้นคือ อย่าใช้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง มันอยู่ที่ใช้อย่างไรมากกว่า)เศรษฐกิจในภาครวมก็จะน๊อคได้ แล้วเราควรทำอย่างไร หมายถึงจ่ายอย่างไร จ่ายอะไร หรือ ไม่จ่ายอะไร และคำตอบนั้นบางทีอาจอยู่ในสายลม เพราะมาตรฐานแต่ละคนไม่เท่ากัน

ทุกคนในภาครัฐล้วนกลัวเรื่องการส่งออก เลยทำให้รัฐบาลยังคงมุ่งหน้าไปหาการส่งออกเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่จัดโรดโชว์ จ้างผู้เชี่ยวชาญไปประจำในแต่ละประเทศเพื่อกำหนด ยุทธศาสตร์ในแต่ละประเทศ แต่กลับให้ความสำคัญภายในน้อย ส่วนใหญ่หนักไปทางพูด และประชาสัมพันธ์ มีที่พอไปวัดได้ก็พวกนโยบายอสังหา นอกนั้นยัง เป็นการอ้างว่าต้องแก้ เรื่องเก่าก่อน ซึ่งจริงแค่ ส่วนเดียว เหมือน ไปทำงานวันจันทร์แล้วอ้างว่าต้องแก้ไขงานของวันศุกร์ พอถึงวันอังคาร ก็ต้องทำของวันจันทร์ พอถึงวันพุธ อ้างว่าต้องแก้ของ2วันแรก พอพฤหัส ต้องทบทวนของพุธ พอวันศุกร์ ก้อกลับมาดูภาพรวมของทุกวัน แล้ววนกลับไปใหม่ แม้จะมีการให้เงิน 2000 บาท ต่อคน แต่ก็ยังดูไม่ชัดเจนอยู่ล่าสุดที่เห็น โครงการต้นกล้าอาชีพ ดูดีในแง่หลักการ จริงๆคล้ายโครงการ o-top แต่อันนี้ลงลึกไปที่บุคคลมากขึ้น หวังว่าจะไม่ท่าดีทีเหลวคับ เอาใจช่วย เพราะถ้าสำเร็จผมว่าทั้งระบบจะค่อยๆดีแน่นอน ไม่ต้องหาตลาดข้างนอกเน้นหางานให้คนภายในทำกันให้มากขึ้นแทนน่าจะดีกว่า

ก่อนหน้านี้ผมเคยได้ยินบางคนกล่าวถึงหนังสือนี้กันมาก ด้วยความที่สมัยก่อน เรื่องเศรษฐศาสตร์ ดูเป็นเรื่องไกลตัวเหลือประมาณ ความสนใจจึงน้อยลงไปด้วย มิใยมิต้องนับรวมเรื่อง เศรษฐกิจแบบเน้นความสำคัญที่คน ถึงกับงงเพราะ ใครๆก็สอนกันว่า คนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เน้นผลประโยชน์เป็นหลักใหญ่ ไม่ได้เน้นไปที่เศรษฐกิจแบบรากหญ้าหรือที่บุคคล สิ่งที่หนังสือเล่มนี้กล่าว นั้นเป็นจริงได้แน่นอนแต่ว่าเมื่อไหร่มากกว่า เพราะเฉพาะแค่หนังสือเล่มนี้เอง พิมพ์ขายมาตั้งแต่ปี 1973 พิมพ์ขายในไทยตั้งแต่ปี 2516 บางคนกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้คือการจุดกระแสเศรษฐกิจพอเพียงในไทย เพราะในหลวงทรงเอามากล่าวหลังหนังสือเล่มนี้ขาย ประมาณ 1 ปีให้ นศ.ม.เกษตร ฟัง และ หลักทั้งหลายของหนังสือเล่มนี้ถูกนำมากล่าวซ้ำและปฏิบัติกันแพร่หลายในไทย

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ภาค กล่าวทั้งด้านแนวความคิด วัตถุดิบ การปฏิบัติ และการจัดการ ซึ่งครอบคลุมค่อนข้างมาก ภาควัตถุดิบหรือทรัพยากรน่าจะเป็นอะไรที่เข้าใจและเห็นความสำคัญได้ง่ายที่สุด ทั้ง ทรัพยากรน้ำ น้ำมัน อาหาร หรือ พลังงานทางเลือกอื่นๆ(ซึ่งอันที่กำลังเป็นประเด็นในไทย ก็พลังงานนิวเคลียร์ จริงๆก็เป็นประเด็นทั่วโลกเพราะทั้ง เกาหลีเหนือ หรือ อิหร่านต่างก็พยายามผลักดัน....ซึ่งเราไม่แน่ใจได้เลยว่าเอาไปทำอะไรจริงๆ ฉะนั้นมาดูแนวซักหน่อยก็คงไม่ผิดนัก เห็นภาพแน่นอน)หรือในเรื่องหมวดที่ดินและการจัดการก็น่าสนใจมากเช่นกัน ประโยคหนึ่งในตอนนี้ที่ชอบมากๆคือ "การปรองดองระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติไม่ได้เป็นเพียงแต่สิ่งที่น่าปราถนาอีกต่อไป แต่ได้กลายมาเป็นความจำเป็น" ถ้าอ่านเฉพาะแค่ใน ภาคนี้ภาคเดียวผมว่าเห็นภาพแทบจะทั้งหมด เช่นเมื่อ 30ปีก่อน ประชากรอเมริกันซึ่งนับเป็นร้อยละ 5.6 ของโลก ต้องการทรัพยากรถึงร้อยละ 40 ของโลกเช่นกัน เห็นภาพมาก แล้วเดี๋ยวนี้แหละ

พวกแนวความคิด กองทุนหมู่บ้าน หรือ ผลิตภัณฑ์ประจำตำบล ก็มีให้เห็นในนี้เช่นกัน อ่านแล้วพึ่งถึงบางอ้อ เลยทีเดียว ซับซ้อนแต่ไม่ยากแน่นอน แต่อยู่ที่การจัดการเป็นหลัก

อันหนึ่งที่พออ่านเสร็จแล้วเห็นภาพอย่างหนึ่งคือ เรื่องของหนี้ครัวเรือน จริงๆแล้วปัญหาหลักอย่างหนึ่งของเกษตรพอเพียง หรือ เกษตรแนวใหม่ ก็คือหนี้ นี่แหละครับ หมายถึงหนี้ครัวเรือนส่วนบุคคลที่กู้กันมา ไม่ว่าจะเป็นกู้เพื่อซื้อวัตถุดิบ พวกพันธุ์พืช หรือ การจัดการอื่นๆก็แล้วแต่ เพราะท่านไม่สามารถพอเพียงได้ ถ้าท่านยังมีหนี้ติดหลังก้อนโต เพราะเกษตรพอเพียงหรือเกษตรแนวใหม่เน้นให้ท่านเลี้ยงตัวเองได้ แบบพออยู่พอกิน อาจเหลือบางนิดหน่อย เห็นได้เลยว่าแม้ปัจจุบัน เกณฑ์การรับ เกษตรกรเพื่อเข้าโครงการ เกษตรแนวใหม่
ยังเข้มงวดอยู่เพราะ เรื่องพวกนี้แหละ เพราะไม่ใช่แค่หนี้ แต่ วินัย คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปลดหนี้ และ ทำให้ตัวเองพอเพียงได้ / จะทำยังไงไม่ให้อิจฉาเพื่อนบ้านที่ส่งลูกไปเรียนหนังสือโรงเรียนดีๆ แพงๆได้ หรือ ซื้อมอเตอร์ไซด์, โทรศัพท์มือถือซักเครื่อง, รถปิคอัพซักคันได้ ฯลฯ เพราะเราเห็นของพวกนี้อยู่เสมอ จนเราเองบางครั้งไม่แน่ใจว่าอะไรจำเป็นอะไรไม่จำเป็น /

ผมเองแค่คิดเล่นๆว่า ถ้า เอามารวมๆกัน เป็นชุมชนแล้วโอนหนี้ทั้งหมดเป็นส่วนรวม แถมด้วยหลัก วินัยทางการเงิน แบบธนาคารคนจนในบังคลาเทศ จะไปไหวไหมกับสังคมไทย แล้วยังต้องเน้นหาตลาดในสินค้าชุมชนบางตัวแบบจริงจังกว่านี้อีกนิด ไม่ใช่ผลิตแล้วไม่มีคนเอา / เน้นเป็นพื้นที่ไปเลยดีไหม เพื่อผลิตแบบองค์รวมไม่ใช่ แค่แต่ละชุมชนแค่อยู่กันเองได้ แล้วทิ้งชุมชนอื่นไป........แค่คิดจริงๆๆ(บอกก่อนเลยว่า ไม่เคยเชื่อว่าเรื่องพวกนี้ต้องแค่นักการเมืองเท่านั้นที่ทำได้)

เพชฌฆาตข้างถนน - ฆอร์เก้ ลูอิซ บอร์เจส [Jorge Luis Borges]


เพชฌฆาตข้างถนน - ฆอร์เก้ ลูอิซ บอร์เจส [Jorge Luis Borges]
รวมเรื่องสั้น - แดนอรัญ แสงทอง แปล

สนพ. สามัญชน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 25 2009, 12:20 AM

เมื่อผมอ่านเรื่องสั้น 2 เรื่องแรก ความรู้สึกคือ บอร์เจส ชอบชีวิตกลางแจ้งแบบลูกทุ่งหรือแบบนักเลงค่อนข้างมาก หลังจากอ่านจบเลยลองย้อนกลับไปอ่านที่ แดนอรัญ แสงทองผู้แปล เขียนแนะนำเรื่องของ บอร์เจส แบบคร่าวๆเอาไว้ ซึ่งน่าสนใจครับ ประมาณว่าบอร์เจส บ้าหนังสือมาก เป็นบรรณารักษ์ ห้องสมุดแห่งชาติที่อาเจนตินาด้วย อีกทั้งเรื่องราวที่แกเชื่อว่าเหตุการณ์ทุกอย่างจะวนกลับมาที่เดิม แต่ต่างบุคคล หลายๆเรื่องในนี้ แกจึงกระทำตนดังนักบันทึกเรื่องราว ซึ่งตัวละครหลายๆเรื่องจะเชื่อมโยงกันไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง มีทั้งตัวละครที่มาจากนิยายดังๆของนักเขียนคนอื่นด้วย แต่ หลักๆแล้ว ประเด็นเชื่อมโยง คือมีด / ในเรื่องของบอร์เจส ตัวละครเกือบทุกตัว ล้วนเป็นนักเลงมีด ผู้ดำเนินไปตาม วิถีของนักเลงมีด ทั้งสั้นและยาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมีดสั้น

เนื่องว่าส่วนหนึ่งเพราะ วัยเด็กของแก ผูกพันกับวิถีชาวบ้านและนักเลงมาก ทั้งๆที่แกก็ถือว่าเป็นพวกมีอันจะกิน ในเรื่องสั้นชุดนี้สิ่งที่ บอร์เจสนำเสนอ ในเรื่องมีด นั้นแสดงในด้านสัญลักษณ์เยอะครับ ทั้งผลของมีด หรือตัวมีดเอง แบบตรงๆคือเรื่องความตาย จริงๆแล้วมีดถือว่าเป็นอาวุธประชิดตัวที่ดูเป็นกันเองมากสุด(ในความคิดผมนะ) เพราะมันถึงเนื้อถึงตัวกว่า เห็นกันชัดเจนกว่า ซึมซาบอารมณ์ได้มากกว่า ฟังดูคล้ายๆ ตัวละครอย่างโจ๊กเกอร์ในแบทแมนภาคใหม่จัง......ในบทแมนภาคใหม่มีตอนหนึ่งที่ โจ๊กเกอร์ บอกว่า ชอบใช้มีด(ฉากที่โดนตำรวจจับมาแล้วปรากฎว่าในตัวมีมีดเป็นสิบเล่ม) เพราะมีดทำให้ตายช้าทั้งซึมซับความรู้สึกได้ดีกว่าปืน จนถึงขนาด โจ๊กเกอร์ เคลมว่า บางทีเค้าอาจรู้จักผู้ตายดีกว่าเพื่อนของผู้ตายซะอีก (จริงๆประโยคคล้ายๆกันนี้ผมเคยได้ยินรุ่นพี่สมัยเด็กคนหนึ่งพูดให้ผมฟังนานมาแล้ว....ซึ่งแกก็ตายเรียบร้อยไปแล้วเหอๆ)

ในแง่ตายช้ากว่าอาวุธอื่นหรือไม่ ในส่วนของ บอร์เจส เสนอทั้งช้าและเร็ว แล้วแต่ว่าต้องการเสนอวัตถุประสงค์ใด อย่างใน "เรื่องเล่าจากปากคำของ โรเซนโด ฮัวเรซ" บอร์เจสนำเสนอ สัจจะของการดวลมีดว่าง่ายทั้ง ฆ่าเขาและถูกเขาฆ่า แต่ในเรื่อง "ท้าดวล" เรื่องของการดวลมีด กลับมีสัญลักษณ์ในแง่การฝากรอยแผล เพื่อการตามหาในอนาคต และเรื่องของความแค้นที่ยาวนาน ซึ่งก็อย่างที่ว่าไปแล้ว ว่าแก่นเรื่องอีกอย่างคือ บอร์เจส เชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือชะตากรรม ต่อเหตุการณ์ซ้ำๆนั่นเอง ซึ่งในบางกรณี ในบางเรื่อง
เป็นเรื่องออกแนว อำนาจลี้ลับของการแก้แค้นและศักดิ์ ของอาวุธ อย่างในเรื่อง "นัดพบมรณะ" ซึ่งจัดถึงเดาไม่ถูกทีเดียว

ตอนที่ออกแนวหักมุมๆ ที่ติดใจมากๆเช่น "คนผู้ซึ่งได้ตายไปแล้ว" ออกนักเลงจ๋าๆทีเดียว ต้องลองอ่านดู กับอีก 2เรื่องที่ผมว่าแหวกแนวออกไปจากหลายๆเรื่องในนี้คือเรื่อง "ผู้แส่สะเออะเข้ามากั้นขวาง" กับเรื่อง "บทสดุดีพระกิตติคุณแห่งพระคริสต์เจ้าตามที่นักบุญมาร์คได้เรียบเรียงเอาไว้" ทั้งสองเรื่องมีประเด็นศาสนา เข้ามาเกี่ยวข้องนิดๆหน่อยๆในเรื่องแรก และ เป็นแก่นหลักในเรื่องที่สอง ทั้งสองเรื่องหักมุมแบบไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม เรื่องแรกมีช๊อค เรื่องที่สอง ผมว่าขำนะ ไม่รู้สิ คงต้องลองอ่านดู เพราะอาจจะเป็นขำแบบร้ายๆก็ได้

โดยสรุปแล้ว อ่านๆไปผมมักจะนึกถึง เรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ ในแง่ที่เป็นเรื่องสั้นหักมุม แบบที่มีกลิ่นอายแบบบ้านๆ หรือลูกทุ่งๆ ซึ่งเรื่องอย่างนี้แหละที่ผมว่าอ่านสนุกนักคือจะเอาแบบเพลินๆ ก็ได้เพราะมันไม่ยากเกินที่เราจะเข้าใจ เนื่องจากเราอาจจะเคยพบมาแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน อ่านแบบได้แง่คิดทำนอง คติสอนใจแบบชาวบ้านก็ได้หรืออ่านเอาสัญลักษณ์แบบลึกๆ เป็นพวกบุคลาธิษฐาน, เป็นการเปรียบเทียบ ก็ได้ ซึ่งนักเขียนเรื่องสั้นชั้นครูล้วน ใส่กันไว้ทั้งนั้น ลองมาดูเสน่ห์ และถ้าใครเคยได้ยินชื่อเสียงของ บอร์เจสมาก่อน(ประเภทว่าเป็นนักเขียนที่ควรได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุด จนกลายเป็นรอยด่างพร้อยไปเลยเมื่อเขาไม่ได้รางวัล) นี่เป็นโอกาสดี ที่จะได้ลองอ่านก่อนหา ฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านแบบชุ่มปอด

The Nonsense Guide to Terrorism - Jonathan Barker

The Nonsense Guide to Terrorism - Jonathan Barker
คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า - เกษียร เตชะพีระ แปล

สนพ.คบไฟ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jun 20 2009, 06:47 PM

นับตั้งแต่ 11 กย. เป็นต้นมา คำว่า"ก่อการร้าย", "ผู้ก่อการร้าย" ดูกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับทั้งรัฐบาลแต่ละชาติ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวทั้งตอบโต้และเรียกร้อง หรือออกกฏหมายริดรอนสิทธิ์ หรือใช้เป็นข้ออ้างในการถล่มฝ่ายตรงข้าม (ไม่ว่าจะด้านจิตวิทยาหรือด้านกายภาพ) หรือใช้ในการหาผลประโยชน์ของบางรัฐ หรือบางกลุ่ม ซึ่งใครๆก็รู้ว่าสงครามน่ะมันเปลืองใช้เงินเยอะ เอาแค่กลุ่มเคลื่อนไหวในไทยทั้งสองกลุ่มที่ผ่านมาก็มีข่าวเรื่องอัดฉีดเงินกันระเบิดเทิดเทิงทั้งคู่ไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ลองเทียบกลับไปหางบประมาณรัฐบาลต่างๆด้านนี้ดูแล้วจะเห็นภาพ มโหฬารขนาดไหน (งบประมาณทางทหารในปี 2000 ของสหรัฐ สูงถึง 396 พันล้านดอลลาห์ - ของอัลกอดิดะห์ประมาน 200 ล้านดอลลาห์) เห็นไหมมันใกล้ตัวแค่นี้เอง

หนังสือเล่มนี้เสนอหัวข้อว่าด้วย การก่อการร้ายคืออะไร, ใครก่อการร้าย, เหตุในการก่อการร้าย และบริบทโดยรอบ ผ่าน 5 บทหลัก และ 1บทนำ

แล้วการก่อการร้ายคืออะไร โดยทั่วไปตอบแบบหยาบๆก็แล้วแต่คนไหน หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดมอง เล่มนี้เสนอว่ามันมีเชื้อมูล 3 ประการ 1.การใช้หรือคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรง 2.ต่อเป้าหมายพลเรือน 3.เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง (น.19) หลายครั้งการก่อการร้ายดึงดูดคนที่รู้สึกถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี ลิดรอนอำนาจและเอารัดเอาเปรียบ อีกทั้งมองไม่เห็นทางเลือกอื่นนอกจากความรุนแรง (น.47)

แล้วใครกันบ้างที่ก่อการร้าย เล่มนี้แบ่งใหญ่ๆเป็น 2 ประเภท คือการก่อการร้ายโดยกลุ่มและโดยรัฐ โดยกลุ่มก็มีตั้งแต่กลุ่มทางศาสนา เช่น ยิว, กลุ่มโอมชินริเกียว, กลุ่มสมาคมลับสาวกเจ้าแม่กาลีในอินเดีย, คริสเตียน, สิข, มุสลิม, ฮินดู และศาสนาอื่นๆ (น.49) กลุ่มนักชาตินิยม เช่น พวกบาส์ก, ไออาร์เอ, คอร์สิกา (น.61) กลุ่มฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เช่น กองพลน้อยแดงในอิตาลี, กลุ่มกองทัพแดงในเยอรมัน(ส่วนหนึ่งเป็นลูกเศรษฐีซะด้วย), กลุ่มเวเธอร์ อันเดอร์กราวด์ในสหรัฐ, พวกนีโอนาซี (น.62) การก่อการร้ายโดยรัฐ น่าจะมีผลความเสียหายมากกว่าโดยกลุ่ม มากนัก ถ้านับกันตั้งแต่สมัยก่อนในคองโก ที่เบลเยี่ยมกระทำกับคนพื้นเมือง หรือนาซี หรือเขมรแดง คนตายเป็นล้านๆคนทั้งนั้น หรือ กรณีอเมริกา แค่ทิ้งระเบิดผิดเป้าสัก 2-3 ครั้ง เผลอๆคนตายจะมากกว่ากรณี 11กย. แล้วกรณีอิสราเอลทิ้งระบิด ปาเลสไตน์ล่ะ สำหรับอเมริกานี่คงมีมากมายหลายกรณี แต่ผลพวกนี้ยังไม่น่ากลัวเท่า กลุ่มคนธรรมดาที่ฆ่ากันเองอย่าง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในรวันดา (13 สัปดาห์ชาวตุ๊ดซี่ 500,000 คนถูกฆ่า), อาเจะห์ หรือติมอร์ / ทุกคนทุกกลุ่มหรือทุกรัฐ ล้วนมีเหตุผลในการกระทำก่อการร้าย ทุกคนต่างผลิตชุดความจริงชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่ออ้างความชอบธรรมทางศีลธรรมและการสนับสนุนทางวัตถุ

มิเชล ฟูโก เชื่อว่า ความจริงเป็นเรื่องของอำนาจ ไม่ได้เป็นธรรมชาติ และความจริงไม่ใช่การค้นพบ แต่ถูกสร้างขึ้น (Truth is not discovered but produce) / ในเล่มนี้มียกตัวอย่างหลากหลาย ตั้งแต่กรณีนิคารากัว (รุ่นเก่าหน่อยน่าจะจำได้ กรณี อิหร่าน-คอนทรา สมัยเรแกน ในบ้านเราก็ดังพอตัว), กรณีอเมริกา ร่วมสนับสนุนก่อการร้ายในหลายประเทศเพื่อหวังผลทางการเมือง และเศรษฐกิจ เช่น อินโดนีเซีย, คิวบา, อิหร่าน, กัวเตมาลา, คองโก, ชิลีและอีกมาก หรือกรณีประเทศอื่นๆเช่นฝรั่งเศส ในกรณี อัลจีเรีย เป็นต้น เมื่อชุดความจริงเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นบางครั้งมันก็อาจเกิดผลสะท้อนกลับแบบไม่ได้ตั้งใจหลายกรณี อย่างกรณีอเมริกาหนุน กลุ่ม มูจาฮีดีน ในแอฟกัน ให้สู้กับโซเวียต แต่กลายเป็นว่ากลับหนุนให้เกิดกลุ่ม อัลกอดิดะห์ ที่หันกลับมาถล่มอเมริกาเสียเอง เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ บริบทโดยรอบ เช่นปฎิกิริยากลับและอารมณ์ของผู้คนกับการก่อการร้าย โดยยกทั้งความเห็นและอารมณ์ของประเทศต่างๆ, นักวิชาการ (ยกประเด็นว่ารัฐบาลชาติต่างๆใช้เรื่องนี้เป็นการจำกัดสิทธิการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย น.13), นักหนังสือพิมพ์ ที่ประณามพวกที่ไม่เห็นด้วยในการถล่มกลับพวกผู้ก่อการร้าย (น.15), นักเขียนของสถาบันฮูเวอร์ ที่ยกยอ บุช และด่าพวกก่อการร้ายว่าเป็นมาร (น.16) หรือ ประเมินกันว่าค่าใช้จ่ายของผู้ก่อการร้ายที่ใช้ กรณี11 กย. ประมาณ 500,000 ดอลลาร์ แต่ประเมินกันว่าค่าเสียหายจริงๆจากเหตุการณ์นี้ สูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาห์ น.33 อีกตัวอย่าง ถ้าเคยมีโอกาสอ่านบทความเกี่ยวกับภาคใต้บ้านเรา จะรู้ว่ามีเงินสะพัดมากขึ้นในวงการอาวุธหลังจากเกิดเหตุความไม่สงบ จำนวนปืนที่ชาวบ้านซื้อขายจดทะเบียนมากขึ้นเป็นแสนกระบอก จากหลักหมื่น / การก่อการร้ายไม่ได้หวังผลแต่เพียง ความตายแต่หวังผลที่ความตื่นตระหนกตกใจของประชาชนด้วยเช่นกัน เผลอๆอาจจะมากกว่าอีก

ทว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนจากการอ่านเล่มนี้คือ "กระบวนการลดค่าความเป็นคน" ถือว่ามีความน่ากลัวอย่างแท้จริง มันมักเริ่มจากการชักชวนให้กลุ่มคนเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องก่อนเบี่ยงประเด็นไปเป็นกรณีอื่นแทน เช่น เชื้อชาติ (เช่น รวันดา, เซอร์เบีย) หรือชนชั้น เพื่อทำให้กลุ่มที่เป็นฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คนที่เท่าเทียมกันหรือบางกรณีไม่ใช่คน เพื่อจะได้ฆ่าหรือทำร้ายได้โดยไม่รู้สึกผิด

เพราะถ้าเรา = ความดีเสียแล้ว ศัตรูหน้าไหนๆก็ย่อม = ความชั่ว (น.117)
ในโลกที่หยาบง่ายและบิดเบือนแบบนี้ มันช่างง่ายพิลึกที่จะให้ความชอบธรรมแก่การก่อการร้ายโจมตีบรรดาผู้ที่ยืนอยู่นอก "ชุมชนทางศีลธรรมที่แท้จริง" การกระทำที่ทุศีลและอธรรมจึงกลับกลายเป็นชอบด้วยเหตุผลในฐานะวิธีการป้องกันศีลธรรมเสียเอง (น.117)



น่าคิดและไตร่ตรองในสถานการณ์ของบ้านเราได้เหมือนกัน

รามายณะ - ราเมศ เมนอน


รามายณะ - ราเมศ เมนอน
วรวดี วงศ์สง่า แปล


ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jan 5 2009, 11:03 PM

อย่างแรก ตัวเองไม่เคยอ่าน นิยาย คลาสิค ที่มีอายุระดับเป็นพันปี แบบนี้มาก่อน โอดิสซี สามก๊ก เอ๋ย ผมยังไม่มีโอกาส อ่านแบบจริงๆจังๆ เล่มนี้ถือว่าเป็นเล่มแรก ครั้งที่ซื้อหามา ก็ไม่ได้คาดคิดว่าตัวเองจะชอบ หรือ อ่านได้จนจบ ถึงแม้ว่า ฉบับนี้ ผู้แต่งจะได้ทำให้มีความง่าย และอ่านสนุก แต่ไม่ตัดทอนจนเกินควรแล้วก็ตาม แต่ไม่ว่าใครก็ตามถ้าได้เห็นขนาด และ ไม่ได้ ชอบมากๆมาก่อน ก็คงทำให้หวั่นใจได้เล็กๆ เหมือนผม

แต่หลังจากอ่านไปได้ 1 บท เล็กๆ ติดทันที คือ สนุกกันแต่แรกเลยล่ะ ว่างั้น นิยายบางเรื่องที่ผมเคยอ่านจะเป็นเครื่องดีเซล บ้างเครื่องเบนซิน หรือ บางเรื่องหนัก ขนาดเป็นเรือเกลือ ก้อมี แต่ เรื่องนี้ผมรู้สึกเหมือน ค่อยๆเดินแล้วเปลี่ยนเป็นวิ่งแล้วเปลี่ยนเป็นยานพาหนะ ไปเรื่อยๆ คือความสนุกและน่าติดตาม ไม่ได้ลดลงเลย
ผมอ่านในคำชมตอนแรกๆ ก็มีหลายคนว่าเหมือนกันว่า ถ้าท่านอ่านแบบต้นฉบับเดิมๆที่เป็นสันสกฤตจริงๆ ท่านอาจจะหลับคาไปซะก่อน แล้วอีกอย่างฉบับเดิมแท้ๆ ยังแปลเป็นภาษาอังกฤษ ยังไม่เสร็จเลย เพราะเนื่องด้วย เนื้อหาเยอะมาก

เรื่องนี้ประกอบไปด้วยเล่มย่อยๆ 7 เล่ม หรือ 7 กัณฑ์ โดยเริ่มต้นด้วยตอนจบแล้วเล่าย้อนอีกที ซึ่งผมว่าทันสมัยนะ คือไม่รู้ว่าแบบเดิม เป็นอย่างนี้หรือเปล่า โดยเริ่มเรื่องให้ผู้แต่ง มหากวีวาลมีกิ เนี่ยแหละครับเป็นผู้รจนา

อันหนึ่งที่ผมพึ่งรู้ก้อ พระรามมีพระวรกายเป็นสีน้ำเงินเข้ม (ไม่รู้เท่ห์ตรงไหนเหมือนกัน....เพราะในรามายณะจะว่าเท่ห์สุดๆ) เพราะภาพที่วัดพระแก้ว จะมีพระวรกายเป็นสีเขียว แต่ที่แน่ๆคือ หลังจากอ่านเสร็จ ภาพของ
ทศกัณฑ์ ในความคิดผมออกไปทาง ผู้ชายแอฟริกัน เท่ห์ๆ ตัวใหญ่กล้ามโตแต่มีเขี้ยว มากกว่าจะเป็นอย่างที่รับรู้กัน ที่เป็นอย่างนี้ก้อเพราะอะไรนั้น ผมว่าต้องลองไปอ่านดูครับ อันนี้ผมจินตนาการจากคำบรรยายเป็นหลักนะครับ

กัณฑ์ ที่ยาวที่สุด ผมเห็นอยู่ 2 กัณฑ์ คือ ยุทธกัณฑ์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการรบล้วนๆ ผมว่ามีหลายๆตอนซึ่งเราคงรับทราบกันมาก่อนแล้ว กับ อุดรกัณฑ์ ซึ่งจะเป็นเรื่อง ที่มหาฤษี เล่าเรื่องต่างๆให้พระรามฟัง รวมถึงเหตุการ์ณหลังจาก เสร็จศึกลงกา จนถึง พระรามละ สังขาร ซึ่งผมว่ามีความแปลกใหม่และน่าสนใจมาก คือ เผอิญว่า ก่อนหน้านี้ผมเคยอ่าน หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยว เทพเจ้าในศาสนาฮินดู แต่ก้อยังไม่เข้าใจมากนักถึงที่มาที่ไป พออ่าน กัณฑ์นี้เสร็จ ผมถึงบางอ้อ ทันที

หลายๆตอน เปลี่ยนความคิดผมไป จากที่เคยรู้สึกว่า ตัวเอกหลายตัวใน รามายณะ เป็นเหมือนเด็กมีเส้น คือ ได้อิทธิฤทธิ์หลายอย่างมาเพราะพ่อหรือแม่ หรือตา หรือปู่ เป็นใหญ่ แต่ปรากฎว่าส่วนใหญ่นอกจาก ต้นตระกูลดีแล้วยังต้อง ภาวนาหนักด้วย หรือ ทำงานหนักด้วยนั่นเอง ในกรณีนี้ก้อเช่นทศกัณฑ์ ที่บูชาพระพรหมจน พระพรหมให้พร ที่ชนชั้นสูงทุกชน ไม่สามารถฆ่าได้ ยกเว้นพวก มนุษย์กับ ลิง เพราะ พี่แกดูถูกเหลือเกิน หรือ ความคิดในแง่ของวรรณะ ก็พึ่งจะเข้าใจว่าทำไมคนถึงเชื่อเหลือเกิน เพราะมีอยู่ตอนหนึ่งผมออกจะงงๆ คือถ้าเราใช้วิธีการคิดในแบบปัจจุบันนะครับ ผมว่าคร่าวๆแล้วกัน คือพระรามไปสังหารคนๆหนึ่งด้วยการร้องขอ จาก ฤษี ประเด็นคือ ผมว่าการฆ่ากัน อย่างไรมันก้อทำให้ถูกไปมิได้ ไม่ว่าใครจะร้องขอก้อตาม แต่พอมีเรื่องวรรณะเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมถึงเข้าใจแต่ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก

หรือตอน พระรามช่วย สุครีพ ฆ่าพาลี ก้อเหมือนกัน คือ ด้วยวิธีคิดแบบปัจจุบัน อาจทำให้ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าที่ควร แต่ เรื่องหลักๆและแนวความคิดหลักๆ ผมคิดว่า ยังคงใช้ได้และเป็นจริงเสมอ แม้ในปัจจุบัน ถึง มหาวรรณกรรมนี้จะผ่านมา ประมาณ 2300 ปีแล้วก้อตาม

Beansprout & Firehead In The Infinite Madness


Beansprout & Firehead In The Infinite Madness
ทรงศีล ทิวสมบุญ

สนพ.a book

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 5 2009, 06:47 PM

วันนั้นแวะไปร้านหนังสือ ดูไปเรื่อยๆ ลองสุ่มหยิบขึ้นมาหนึ่งเล่ม ปกหลังเขียนว่า หมวดวรรณกรรมทันสมัย เห็นครั้งแรกมี งง อึมแนวนี้เป็นไง หว่า ดูนิดแระกัน พลิกกลับมาดูน่าปก(หนังสือขายแบบวางตั้งเอาสันออก เลยพึ่งมาดูปกอ่ะ เหอๆ) หน้าปก เป็นการ์ตูนดูดีมีเสน่ห์ พิมพ์ครั้งที่ 7 คิดในใจว่าโอโห้โว้ย ช่วงนี้หยิบเจอแต่ หนังสือ ฮ๊อต มือพอง อ่ะ......เริ่มพลิกดูด้านใน อึม กระดาษแบบนี้ชอบ กลิ่นหมึกก้อหอม (ชอบกลิ่นหมึกกับสัมผัสของกระดาษมาก) เริ่มงงว่า นี่จะมาซื้อหนังสือ รึจะมากินหนังสือ......ดูต่อไป อึมๆ ตัวการ์ตูนสวยจริง ไม่ใช่แค่หน้าปก ประมาณว่า ไม่ใช่หน้าปกอย่าง ข้างในเป็นอีกอย่าง เหมือนหนังพันทิพ......แม้การ์ตูนจะดูดิบๆ แต่มีเสน่ห์ เกินห้ามใจ......อึมๆๆๆ เอาว่ะๆๆ ซื้อๆๆ แบบเข้าร้านหนังสือ แล้วต้องซื้อ ซื้อมากซื้อน้อยต้องซื้อ ร้านรักผมมากก

กลับมาบ้านทิ้งดอง เค็มไว้ประมาณเป็นเดือน อยู่ๆ ก้ออยากหาอะไรแปลกๆมาอ่าน หยิบได้เล่มนี้ขึ้นมา....อึม เล่มนี้ก้อดี แก้เลี่ยน บ้าง......พอเริ่มอ่าน เป็นอะไรที่หยุดไม่ได้ เริ่มคิดว่า แย่แล้วมรึง แล้วกรูจะเลิกอ่านได้ไง งานการก็ต้องทำ เอาว่ะขออ่านนิดแระกัน สุดท้ายตูมเดียวจบเลย

เนื้อเรื่องเป็นการผจญภัยของ เด็กหนุ่ม 2 คน กับ หมา 1ตัว การดำเนินเนื้อเรื่องเป็น กึ่งการ์ตูนกึ่งนิยายแฟนตาซี จะให้ชัดน่าจะเป็น นิยายพร้อมภาพประกอบ ซึ่งมีมากกว่าปกติ....ในความรู้สึกคือ ใช้ภาพประกอบเพื่อเติมเต็มเนื้อหา แล้วมันลงตัวมันเห็นภาพ และเจตนาในการนำเสนอของผู้เขียน....เล่มหลังๆที่พึ่งไปเจอมามี
แต่เป็นการ์ตูนเพียวๆ(หมายถึงในชุดนี้นะครับ คือนักเขียนท่านนี้มีผลงานตอนนี้ที่เห็นๆอยู่ 4 เล่ม 3เล่มจะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน คือใช้ตัวละครส่วนหนึ่งร่วมกัน) ในความรู้สึกคือมันขาดเสน่ห์บางอย่างไป มันกลายเป็นแค่การ์ตูน มันไม่เปิดช่องต่อ เหมือนภาพมันมากเกินพอดี....คือแล้วแต่ความเห็นแต่ละคน แต่อันนี้ของผมเอง

กลับมาว่ากันต่อที่เนื้อหา.....การใช้แนวตัวละครแฟนซีดำเนินเรื่องกึ่งแฟนซีกึ่งจริง ที่ออกตามหาหรือค้นหาอะไรบ้างอย่างร่วมกัน บ้างทีก้อดูเลี่ยนๆแต่เพราะมันมี ช่องว่างมากพอที่จะสร้างสรรค์ได้แบบไม่จำกัด ไม่น่าเบื่อเหมือนแฟนซีจ๋าๆอย่างเดียว (ที่สำคัญเดี๋ยวนี้แต่ละเรื่องมักเกี่ยวพันกับประเด็นศาสนา กันซะด้วย อย่าง golden compass) ทำให้ดูเหมาะกับสังคมปัจจุบัน ที่ก้อกึ่งฝันกึ่งจริงอยู่แล้ว คือเดี๋ยวนี้เหมือนกับว่าเด็กๆใครๆก็อยากเป็นกึ่งเจ้าหญิงกึ่งเจ้าชาย สังคมถึงตอบรับด้วยการประกวดกันหลากหลาย จนขนาดที่ว่าการประกวดเหล่านั้นไม่พอกับความต้องการของเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ (อันนี้เห็นจากข่าวธุรกิจ) จึงทำให้เรื่องนี้มี สไตล์ที่ต่างไปบ้าง แต่อย่าคาดหวังว่าจะสุดยอดมากๆอะไรประมาณนั้น คืออย่างแรก การเริ่มต้น มันก็งี้แหละ

ถึงแม้ว่าเด็กในเรื่องนี้มันออกจะขวางโลกอย่างมาก.....ถ้าจะว่าไป เด็กวัยรุ่นชายก็มักจะขวางโลกอยู่แล้วรึเปล่า? เพียงแต่ด้วยสังคมจึงบีบ ไม่ให้เด็กไปไกลกว่านั้น? หลังๆชักไม่แน่ใจ (เช่นกรณีเด็กยกพวกตีกันที่เดี๋ยวนี้ใช้ปืนกันอย่างไม่กลัวใครมากขึ้น)....ลึกๆเนื้อหานั้นน่าจะเป็นการสะท้อนสังคมในปัจจุบันได้ดี....ตัวละครตัวสุดท้ายที่โผล่มา บอกตามตรงอ่านไปอ่านมา ชอบนึกถึง แฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ ไม่รู้ทำไม....สรุปแล้ว อ่านเอาลึกและอ่านเอาเพลินได้ทั้งนั้น ผลงานน่าสนับสนุน สำหรับนักเขียนไทยอีกท่าน ที่มาในช่วงกระแส การอ่านที่หลากหลายเริ่มปรากฏในไทย

The Prince - Niccolo Machiavelli


The Prince - Niccolo Machiavelli
เจ้าผู้ปกครอง - สมบัติ จันทรวงศ์ แปลและเขียนคำนำ


ต้นฉบับเขียนเมื่อ Feb 27 2009, 07:15 PM

ว่าโดยทั่วไป นี่คือหนังสือปรัชญาการเมืองที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลก โดยปลีกย่อยแล้ว ใครก็ตามที่เล่นการเมือง(ถ้าว่าตาม เพลโต เราทุกคนเป็นสัตว์สังคมหรือสัตว์การเมือง) หรืออยากเล่น หรือสนใจ น่าจะติดใจได้ไม่ยาก โดยละเอียดส่วนตัวแล้ว ผมว่าอ่านๆไปเหมือนเป็นคู่มือการประชุม และการคุมงานที่ดีที่สุดด้วย เป็นยังไงจะขยายต่อไป...โดยในหนังสือนี้ ผู้แปลแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนของ "เจ้าผู้ปกครอง" กับส่วนของ การวิเคราะห์บทละครตลก เรื่อง mandragola มาคิอาเวลลี แต่งเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ มาคิอาเวลลี เขียนไว้เมื่อตอนไม่ได้รับราชการแล้ว เพื่อเสนอให้แก่ โลเร็นโซ เมดิชี ผู้ประเสริฐ แห่งตระกูลการเมืองทรงอำนาจของอิตาลี ที่มีคนในตระกูลเป็นพระสันตะปาปา 2 พระองค์ และ เจ้าผู้ครองนครฟลอเร็นซ์ อีกมาก ในยุคที่อิตาลีแตกเป็น หัวเมืองอิสระมากมาย เช่น เวนิส, ปิซ่า, อาณาจักรเนเปิล หรือ เซียน่า คุ้นทุกอันถ้าเป็นแฟนบอล อึมยกเว้น ปิซ่า เล่น ซีรีอา น้อยไปหน่อย เหอๆ
เล่มนี้มีไว้ในครอบครองนานพอควร เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 เดี๋ยวนี้ เห็นพิมพ์ครั้งที่ 6 แล้ว แสดงถึงความน่าสนใจได้เป็นอย่างดี แต่คงสู้พวก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่ได้แน่ เพราะยอดขายต่างกันราว ทวด กับหลาน

ผมเริ่มกลับมาอ่านอีกครั้ง เมื่อได้อ่าน หนังสือเล็กๆเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับพระเจ้าปราสาททอง กับ แนวความคิดของ มาคิอาเวลลี พิมพ์โดย สนพ.มติชน ขอประทานโทษที่จำชื่อเต็มๆไม่ได้ครับ ...แน่ล่ะครับ พระเจ้าปราสาททองไม่น่าจะได้อ่านงานของ มาคิอาเวลลี (หรือจะอ่านได้..คงต้องเชคปี พ.ศ.กันอีกครั้ง) แต่มันพิสูจน์ว่า การเมืองมีกฏอิสระของตัวเอง และเป็นสากล เพียงพอที่ คนต่างถิ่นที่อยู่(หรืออาจต่างเวลา) จะคิดคล้ายกัน เพียงแต่ มาคิอาเวลลี แค่คิด แต่ พระเจ้าปราสาททอง กระทำ และถ้าบางคนทราบ ชื่อเสียงของพระเจ้าปราสาททองมาบ้าง จะยิ่งเห็นภาพว่า ระบบมาคิอาเวลลี สร้างและส่งผลอย่างไรบ้าง ในบริบทอยุธยาผมว่า วุ่นวายและซับซ้อนไม่ต่างกับอิตาลี สมัยนั้นแน่นอน

ในส่วนเจ้าผู้ปกครองแบ่งออกเป็น 26 บทหลัก กับ 1ความนำ(เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจคร่าวๆในมาคิอาเวลลีของเราก่อน) แต่ละบท มาคิอาเวลลีจะใช้การยกตัวอย่าง ทั้งในประวัติศาสตร์และเทพนิยาย หลายครั้งเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน(ในสมัยมาคิอาเวลลี)ประกอบคำอธิบายตลอด ในส่วนการแปล ของผู้แปล เหนือคำบรรยาย ละเอียด แทบจะทุกแง่มุม เห็นได้จากเชิงอรรถ ที่บางบท มากหน้ากว่า ตัวบทเองซะอีก แต่ผมว่าจำเป็นนะ เพราะถ้าอ่านเฉยๆมีสิทธิ์หลุดสาระได้

บทที่น่าสนใจ เช่นที่มาของเจ้าผู้ครองรัฐทั้งหลาย ถ้าเรานึกเปรียบเทียบกับงานในวงธุรกิจ จะเห็นภาพและเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะค่อนข้างเป็นสามัญสำนึก โอเคล่ะว่า บางอันอาจจะดูเถื่อน และเหมือนยอมรับว่าโลกเรามันโหดร้าย แต่หรือไม่จริงล่ะ ในเนื้อหานี้ กินความถึง 11 บท ส่วนที่เหลือ จะเป็น"การสอนหรือแนะนำ" เช่นทหารมีกี่ประเภทเป็นต้น แต่ตอนอ่านไม่รู้นึกยังไง เห็นเป็นเรื่องผู้รับเหมาไปเฉยๆ หรือจะเป็นเรื่องของสถาปนิกก็ไม่ผิด

เรื่องนี้ชัดเจนขึ้นในบทที่ 13 ดังประโยคนี้
"อาวุธของผู้อื่น หากไม่พลัดจากหลังของท่าน ก็จะถ่วงท่านหรือทำให้ท่านอึดอัด"
กับอีกประโยคหนึ่งแต่เป็นการตัดทอนมาจากของ Tacitus
"ไม่มีอะไรที่จะไม่มั่นคงและไร้เสถียรภาพยิ่งไปกว่ากิติศัพท์ แห่งอำนาจที่มิได้มีฐานอยู่บนกำลังของตนเอง" ทำไมถึงนึกเช่นนั้น เคยมีประสบการณ์ตรงหลายที ที่ผู้รับเหมา ไม่มีช่างของตัวเองในงานหลักๆ ต้องไปเหมา หรือจ้างรายวันมา ทำให้มีปัญหามาก ในช่วงที่งานเร่งๆ หรือกรณี แต่ก่อนมีงานหนึ่งต้องไปจ้างทำ 3d ส่งลูกค้าเพราะงานใหญ่เกินและไม่มีเวลาทำ ปรากฏว่า ลูกพี่บ่นฉิบหาย เพราะงานมันออกมาไม่เหมือนดั่งที่คุย แถมไม่เหลือเวลาให้แก้ไข อีกต่างหาก หรือ บทที่16, 19, 20, 21 และ 22 ก้อชอบ คือสรุปว่าบทหลังๆนี่สุดยอด เหมาะแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง จะได้ไว้คอยเตือนตัวเอง เวลาทำงาน มั้ง?

ส่วน mandragola ก้อน่าสนใจและอ่านได้เพลินๆ แถมด้วยบทสรุปความคิดของ มาคิอาเวลลี ด้วย คือมาในรูปแบบที่จะเอาง่ายก้อได้ จะเอายากก้อได้ คือโดยส่วนตัวผมว่าขำซ้อนเงือน แบบมีการใช้เรื่องในประวัติศาสตร์สมัย โรมันเป็นตัวตั้ง แล้ว เปลี่ยนแปลง มันไปตามเจตจำนงค์ของผู้แต่ง ไม่รู้จำผิดหรือเปล่าแต่ชื่อ ต้นไม้นี้ เหมือนเห็นใน แฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ด้วย ผิดถูกประการใด โปรดอภัย

ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 1


ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 1 - ลีโอ สเตร๊าส์ และ โจเซ็พ คร็อปซีย์ บรรณาธิการ
ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ แปล


ต้นฉบับเขียนเมื่อ Feb 19 2009, 11:00 PM

เล่มนี้ถือว่าเป็นไกด์บุ๊ค ชั้นดีให้รู้จักปรัชญาการเมือง เล่มแรกจะเป็นปรัชญาการเมืองคลาสสิค ส่วนอีก 2 เล่มที่เหลือจะใช้วิธีไล่ยุคกันไป ซึ่งครอบคลุมนักปรัชญาการเมืองคนสำคัญไว้เกือบหมด แต่อย่างไรก้อแล้วแต่มันเป็นแค่ไกด์ ฉะนั้นถ้าสนใจ ก็น่าหาอ่านเป็นรายๆไป ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้แนะนำและแสดงชื่อ ผลงานชิ้นสำคัญๆไว้ด้วย ถ้าเป็น ปรัชญาการเมืองคลาสสิค ส่วนใหญ่สามารถหาโหลดได้ เป็นภาษาอังกฤษแบบฟรีๆ ของเวป http://www.gutenberg.org/ แต่ควรรู้ชื่อคนแต่งจะดีสุด เพราะหลายกรณี ชื่อหนังสือซ้ำกัน แต่ต่างคนเขียน เช่น law หรือถ้าชอบแบบไทยๆ ก็ต้องตามล่ากันหน่อย เพลโต แอริสโตเติล น่ะมีครบแน่ แต่คนอื่นๆ ผมไม่ค่อยเจอเท่าที่ควร

เล่มนี้ที่น่าสนใจก็ เพลโต, แอริสโตเติล, ซิสเซโร, เซนต์ โธมัส อะไควนัส (ในความคิดนะ นี่แหละครับเก่งจริงๆที่ประสานแนวนอกศาสนากับคริสต์ ได้ลงตัว), อัลฟะเราะบี และ ธูซิดิดีส 2 คนสุดท้ายนี่เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ผมอย่างแท้จริงในเรื่องปรัชญาการเมือง แนวการนำเสนอในเล่มนี้นอกจากแบ่งบท ตามคนแล้ว ในแต่ละบท จะมีการอ้างอิง เน้นย้ำในสาระสำคัญตลอดเวลา ผมว่านี่เป็นข้อดีนะ แต่ถ้าบางคนเข้าใจได้ไว ก็อาจรู้สึกเบื่อหน่ายได้ เพราะมันเน้นบ่อยไปแต่มันทำให้ซึมซาบได้ดีนะผมว่า...คือทำให้คิดตามได้ตลอดแล้วไม่หลงประเด็นไป เพราะถ้าใครเคยอ่านแบบต้นฉบับจะรู้ว่า ปรัชญาการเมืองคลาสสิคมักเป็น การเปรียบเทียบซะมากทั้งกับเหตุการณ์ ณ เวลานั้นๆ คือเหมือนเราคุยกับเพื่อน แล้วอ้างอิงกับเหตุการ์ณใดๆ ก้อตามในขณะนั้น เพื่อความกระจ่าง หรืออ้างอิงกับเหตุการณ์สำคัญๆในอดีต บางครั้งยกเปรียบเทียบกับ เทววิทยา พวกเทพเจ้า อันหนึ่งก็จะน่าเพราะ สมัยก่อนเขียนตรงๆ อาจโดนเจี๋ยนทิ้งซะก่อน เพราะไม่รู้ว่าไปเหยียบตาปลาใครเข้า

อีกประการหนึ่ง สมัยกรีกตอนต้นแม้จะชูมนุษย์ในฐานะสูง แต่ก็อดไม่ได้ที่ต้องอ้างอิงกับเทพเจ้า พอมาถึงสมัยคริสต์ และ อิสสลาม มีเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญ คือกลายเป็นเรื่องความเป็นความตายได้ ทั้งกับผู้เขียนและศิษย์ ประเด็นสำคัญหลายครั้งจึงถูกซ่อนไว้อย่างเนียนๆ แม้ผู้เขียนแต่ละท่าน จะถือว่าเป็น ยอดปราชญ์ก้อตาม ทำให้เวลาอ่านพวกนี้ ต้องคอย ดูความเป็นมาบ้างเช่น พูดกับใคร สอนใคร สอนเมื่อไหร่ ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู เป็นต้น คือต้องรู้ background บ้าง เล่มนี้ตัดปัญหานั้นไปค่อนข้างเยอะ เพราะมีการปูพื้นฐานให้เราแล้วไม่มากก้อน้อย แถมยังเน้นและมีเชิงอรรถ อธิบายเพิ่มด้วยในบางเรื่อง

ข้อน่าสนใจต่อมา ถ้าใครอ่านหรือดูหนังบางเรื่อง อาจนึกสงสัยว่า คนที่ หนังหรือ หนังสือเหล่านั้นอ้างถึงคือใคร แล้วมันเกี่ยวกับอะไร ยกตัวอย่าง ผมดูเซเว่น ชอบมากๆแต่ ก็ให้สงสัยว่า dante หรือ หนังสือ paradise lost มันมีรายละเอียดอย่างไร คือมันสร้างแรงบันดาลใจขนาดนั้นได้อย่างไร ผมก้อไปหาอ่านเอา แต่ถ้าใครเคยอ่านงานของ นักเขียนและ เรื่องนี้ดี จะทราบว่า มันเขียนในรูปบทกวี อ่านยากครับ ถ้าเป็นบทอ่านธรรมดายังพอทน แต่บทกวีนี่ เหนื่อยหนัก หนังสือไกด์ชุดนี้ก็แก้ปัญหานี้ได้ดี คืออย่างน้อย ก็ไกด์คร่าวๆให้ก่อน จะได้ไม่เตลิดออกป่าเข้ารกเข้าพง ไปเหมือนที่ผมอ่านตอนแรกๆ (แต่สำหรับ มิลล์ จะไปอยู่เล่ม 2)

อีกข้อหนึ่ง คือถ้าท่านสนใจการเมืองจริงๆพวกนี้น่าอ่านมาก เพราะท่านจะรู้เลยว่า ไม่เคยมีการเมืองใหม่ ทุกอย่างแทบจะเรียกได้ว่าเก่าทั้งนั้น นักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหว บางคนมักชอบอ้าง หรือ บางคน เอามาทั้งยวง ทั้งปรับใช้เอง หรือประยุกต์ตามสังคมบ้างเล็กน้อย แต่ไม่มีอันไหนใหม่ คือหลักๆได้มีคนคิดมาแล้ว หรือไม่ก็อ่านจากเล่มเดียวกัน นี่แหละ แล้วมาอำคนอื่นต่อ โดยไม่ยอมบอกหรือเข้าทำนองพูดความจริงแต่พูดไม่หมด เก็บในสาระสำคัญหรือปัญหาบางอย่างเอาไว้....สมัยนี้ผมว่ารู้อย่างเท่าทันสำคัญมาก ไม่ใช่รู้ตามๆกันไป อย่างไรก้อแล้วแต่ ถ้าใครอ่านพวกนี้จบแล้วแต่ไม่เห็นด้วย ผมว่าก็ไม่แปลก เพราะบางอันผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ล่ะนะ มันขึ้นกับบริบทสังคม ณ เวลานั้นๆด้วย และอีกประการ เราจะมีเวลาที่ไหนไปนั่งหาอ่านบทแย้งอื่นๆได้ ผมว่ายากนะ ต้องสนใจสุดๆอ่ะ แต่ชุดนี้ย่อยมาแล้วทำให้ ถ้าสนใจใครก้อหาอ่านเพิ่มได้ หรือหาอ่านคนที่เห็นแย้ง ไว้ได้ด้วยเช่นกัน

The Crusades Through Arab Eyes - Amin Maalouf


The Crusades Through Arab Eyes - Amin Maalouf
สงครามครูเสดจากสายตาชาวอรับ - สุธาสินี พานิชชานนท์ แปล

สนพ.คบไฟ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 13 2009, 10:53 PM

ประการแรกในการอ่านเล่มนี้ของผมเอง ก็เนื่องมาจากช่วงนี้เห็นและสนใจเรื่องอรับ ทั้งปรัชญาและ หนังที่เกี่ยวข้อง อันที่จริงแล้ว วัฒนธรรมและความเจริญก้าวหน้าของ อรับ มีความสำคัญในระดับโลก หมายความว่าส่งผลไปในวงกว้าง ไม่ต่างจาก จีน หรือ อินเดีย ว่ากันว่าวิทยการหลายๆอย่างของตะวันตก มาเจริญก็เพราะลอกเลียนหรือรับไปใช้จาก อรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โหรศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ หรือ แม้กระทั่งพวก อาหารเครื่องดื่ม อย่าง พวกชอร์แบต์ หรือ น้ำผลไม้เข้มข้นแช่แข็ง ของบ้านเราก็ได้รับผลที่สำคัญๆ ก็เช่นการเข้ามาของพ่อค้าจากอิหร่านคนหนึ่งสมัยอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม "ท่านเฉกอะหมัด" ซึ่งต่อมาคือต้นตระกูลบุนนาค เป็นต้น(หาอ่านเพิ่มถ้าสนใจได้จากศิลปวัฒนธรรม ปี 25 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2547 ผมว่าน่าสนใจมากๆครับ บทความอื่นๆก็น่าสนใจเช่นกัน)

มีหลายชื่อ ที่พอจะรู้จักมาก่อนบ้างทั้งจากหนัง หรือ หนังสือบางเล่ม ก่อนหน้าที่จะอ่านเล่มนี้ ผมพอจะรู้ว่า สงครามครูเสด มีหลายครั้ง กินเวลายาวนาน(ประมาณ 200ปี)ถ้าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องก็รู้จัก เช่น ริชาร์ดใจสิงห์ กับ ซาลาดิน ซึ่งอันนี้มาจากหนังเรื่อง kingdom of heaven นอกนั้น รู้แต่พวกรายละเอียด นิดๆหน่อย เช่น พวก เท็มเพลอร์ ซึ่งก้อมาจากหนังในช่วงหลังๆกับหนังสือขายดี อย่าง ดาวิดชี โค็ด หรือ ประโยคเด็ด "ฆ่าคนนอกศาสนาไม่บาป" (ที่มีคนใช้กันเกลื่อน ทั้งเมืองไทย หรือเมืองนอก เมืองไทยคนใช้ มีทั้งพระ และ กลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มที่เปลี่ยนจากฆ่า มาเป็นคำว่าทำร้ายไม่ผิด) นอกนั้นน่าจะเรียกว่าความรู้น้อย แต่เป็นประเด็นให้อยากหามาอ่านต่อยอดความอยากรู้

เล่มนี้เจตนาผู้เขียน คือต้องการให้อ่านง่ายสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวอรับ ซึ่งสมเจตนาเพราะ เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่อ่านง่ายและถือว่าเพลิน แต่ไม่เสียรสชาดในเรื่องข้อมูลไปแม้แต่น้อย / "ครูเสด"แปลตรงๆว่าประดับด้วยไม้กางเขน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการทำสงครามครั้งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ จริงหรือไม่ ณ.เวลานี้คงตอบได้ว่าแล้วแต่ว่า กลุ่มใดมอง ....ในความเป็นจริง ผมว่าเป็นนโยบาย ศาสนานิยมที่มาในรูปผลประโยชน์และการแผ่ขยายอำนาจของชาติตะวันตก ในตะวันออกกลาง โดยเล่นกับความเชื่อของคน เพราะแต่ละเมืองที่เข้ายึด ในช่วงหลังๆเป็นเมืองท่า สำคัญๆซะส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนมีผลประโยชน์มากมาย

ว่ากันที่เรื่องยังไม่เคยรู้มาก่อน คือ ในสงครามนี้ช่วงแรกๆ ฝรั่งพอชนะแล้วมีการต้มและย่าง เชลยศึกกินด้วย อันนี้ความรู้ใหม่มาก เพราะมีการกล่าวกันน้อยในเอกสารฝั่งตะวันตก (คือในความรู้สึกของผม เล่มนี้เป็นกลางในระดับหนึ่ง....ถ้าลองอ่านไปเองอาจจะตอบได้ว่าทำไมผมคิดเช่นนั้น) ประเด็นต่อมา อรับทั้งทะเลาะกันเองและหักหลังกันเองแบบถล่มทลาย คือ โกงกันทุกรูปแบบ มีตั้งแต่ หันไปหาฝ่ายตรงข้ามด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น...คำตอบคือ เหมือนทุกที่ในโลก เมื่อมีผู้ปกครองมากมาย ต่างเมืองก็ต่างใจ ทุกคนกลัวการถูกแทรกแซงจากภายนอก บางเมือง พี่น้องทะเลาะกันเอง ยาวนานจนเป็นสาเหตุให้แพ้ตะวันตก อีกอันคือ ในบริเวณนี้เรียกอรับ จริงๆแล้ว หมายถึงพวกเปอร์เซีย แต่คนสำคัญๆในประวัติศาสตร์ที่มีส่วนในสงครามครูเสดที่ยาวนานนี้ไม่ใช่คนอรับแท้ๆ แต่เป็นคนตุรกี ซะเป็นส่วนใหญ่ทั้งกษัตริย์ หรือ พวกผู้บันทึกเหตุการณ์, ซุลตานบางคนเป็นอาร์มาเนีย, ซาลาดิน เป็นชาวเคิร์ด ซึ่งในปัจจุบันเป็นชนกลุ่มน้อย ทางตอนเหนือของอิรักที่โดนถล่มด้วยอาวุธชีวภาพโดย ซัดดัม ฮุสเซน.....วีรบุรุษเหล่านี้ถูกขนานนามว่าเป็นคนอรับ อันนี้ก็ความรู้ใหม่

อีกเรื่องที่ส่วนตัวสงสัยมานาน ว่าทำไมคนในภูมิภาคนี้บางส่วนมักมีอาการเหมือนผวาฝรั่ง หรือ ทำไมคนที่ลอบยิง พระสันตปะปา จอน์ห พอลที่ 2 ถึงบอกว่าเพื่อ แก้แค้นในนามสงครามครูเสด พออ่านดู ผมถึงเข้าใจว่า ด้วยระยะเวลาอันยาวนานของสงคราม 200 ปี กับ การทารุณโหดร้ายอันเป็นผลเกี่ยวเนื่องของสงคราม ยังไงๆก็ลบจากใจยาก จริงๆแล้วก็ทั้งผู้บุกรุกและผู้ถูกบุกรุก / สงครามกลายเป็นสัญลักษณ์ไปแล้ว

อีกเรื่องที่พึ่งรู้ก้อคือ กลุ่มนักลอบสังหาร หรือ กลุ่มอัสแซสซิน หัวหน้ากลุ่ม เป็นเพื่อน กับ โอมาร คัยยัม กวีคนดังที่แต่ง รุไบยาต อีกอันหนึ่งคือ ที่มาของชื่อกลุ่มนี้มาจาก ที่คนสงสัยกันว่าทำไม กลุ่มคนกลุ่มนี้ถึงยอมตายกันง่ายนัก คนจึงเชื่อกันว่า สงสัยเล่นกัญชาแน่นอน พวกชาวบ้านเลยเรียก กลุ่มนี้ว่า พวก ฮัชชัชชูน หรือ ฮัชชีชชีน ที่แปลว่ากัญชานั่นเอง แล้วค่อยเพี้ยนมาเป็น อัสแซสซิน

โดยสรุปแล้ว ผมว่าผู้เขียนทำหน้าที่ในการค้นคว้าและนำเสนอได้หมดจด กลุ่มอภิธานศัพท์ท้ายเล่ม ก็สุดยอดมาก อ่านเพลินได้ความรู้ แบบที่หนังสือเชิงประวัติศาสตร์ที่ ชมกันอย่างเดียวให้ไม่ได้ เพราะ ด้วยความเป็นคน ย่อมมีผิด และดี กันอยู่แล้วนั่นเอง อีกหนึ่งคือ ผู้แปล คงรสชาดได้เกือบครบถ้วน ส่วนที่ขาด (ก้อจำเป็น อันนี้อ้างจากคำกล่าวของผู้แปล) ในแง่ การใส่คำออกเสียง ซึ่งผมว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสาระที่ได้ / และสุดท้าย เผื่อใครจะอยากต่อยอดไปทำความเข้าใจที่ภาคใต้บ้านเราต่อ ว่ามันซับซ้อนขนาดไหน ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องที่คนส่วนกลางคุยกันแล้วเลิก บางเรื่องผมว่ามันลงลึกแล้วล่ะ คงต้องหาทางช่วยแก้กันให้ถูกจุดต่อไป

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

Nineteen Minutes - Jody Picoult


Nineteen Minutes - Jody Picoult
19 นาที - จิตราพร โนโตดะ แปล


ต้นฉบับเขียนเมื่อ Feb 1 2009, 01:03 AM

สุดยอด สุดยอด และสุดยอด ในความเห็นส่วนตัวแล้ว เรื่องนี้น่าทำเป็นหนังมากๆ เป็นหนังดราม่าชั้นดีได้อย่างแน่นอน

ผมซื้อเพราะอ่านปกหลังแบบย่อๆ ตอนแรกคิดว่าเป็น ออกแนวนักสืบ/ฆาตกรรม ซึ่งจริงๆก็ไม่ไกล มันเป็นทำนองนี้จริงๆเหมือนกัน แต่ผมว่าจะออก ดราม่าเยอะกว่า / เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะว่าไปไกลตัวไหม ไม่แน่ ใกล้ตัวไหม ไม่เชิง ถ้าจะให้ใกล้เคียงสุดๆในความเห็นผม น่าจะเปรียบกับเรื่องในมหาวิทยาลัยบ้านเราจะตรงสุด เพราะด้วยความที่ว่า เด็กบ้านเราจะโตช้ากว่าเมืองนอก แต่ในปัจจุบันอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปในแง่ความกร้าวร้าวที่มากขึ้น แนะนำได้ว่าถ้าจะให้เห็นภาพสุดๆ ลองเปรียบเป็นเรื่องราว สักมหาลัยปี 1-3 ไม่เกินนี้ เห็นภาพครับ และจะเข้าใจได้มากขึ้นทั้งสภาพสังคม, การใช้ชีวิต

เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ เด็กนักเรียนมัธยมในอเมริกา ที่เอาปืนออกมายิงเพื่อน แรงบันดาลใจ คือ โคลัมไบน์ แน่นอน มีการอ้างถึงด้วย และ นักเขียนท่านนี้นำไปต่อยอดได้ดี โดยที่ลึกลงไปคือความเป็นนักเรียงร้อยเรื่องราวได้น่าสนใจคนหนึ่ง รายละเอียดเยอะจนทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจตัวละครมากขึ้นในระดับที่ชัดเจนขึ้น นักเขียนอีกคนที่เห็นทำได้ และ ผมเอย ถึงมาตลอด คือ สตีเฟ่น คิง

การนำหลายๆมุมมองจากหลายๆคนในเหตุการ์ณมาเรียง ทั้งต่อเนื่องและสลับช่วงเวลาใหม่ ทำให้อ่านสนุกไม่น้อย หลายคนอาจเคยถามว่า ทำไมต้องเด็กเอาปืนออกมายิงกัน - พ่อแม่และการเลี้ยงดูรึ (อันนี้ตอบได้แบบเห็นภาพว่าผมก้อไม่เชื่อในแง่นี้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์นัก เราเห็นเด็กเลวๆ ที่มาจากครอบครัวดีๆเยอะไป เช่นพวกเด็กจบนอกที่ตั้งกลุ่มปล้นที่เป็นข่าวไปไม่นานในบ้านเรา), สภาพแวดล้อมอันชวนหดหู่รึ หรือ ความกดดัน อันใดที่ทำให้เด็กพวกหนึ่งใช้ปืนแก้ปัญหา ........จริงๆแล้วถ้าท่านอ่านไปสักช่วงหนึ่ง อาจเกิดความคิดซักแวบ เหมือนผมว่า เด็กพวกนั้นอาจสมควรโดนยิง แต่พออ่านไปอีกท่อนหนึ่งความคิดก้อเปลี่ยนไปเป็น เด็กที่ยิงก้อสมควรโดนลงโทษและไม่น่าให้อภัย นี่ละครับเสน่ห์ของนิยายเรื่องนี้มันตัดไปตัดมาตลอดระหว่างสองขั้ว บางครั้งเหยื่ออาจสลับไปมาได้ตลอดเวลาแล้วแต่ว่าเราเลือกมองมุมใดและสังคมเลือกแบบใด

ตอนจบเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายมาก มากจริงๆ จนต้องยกนิ้วให้นักเขียนที่ไม่รอมชอมให้กับ ปมของเรื่อง จนเอามาบดบังสาระไป / ฉากและช่วงเวลา มีการปูพื้นฐานตัวละครตั้งแต่เด็ก มาจนถึงเหตุการ์ณ จนคลี่คลาย แล้วไป ขมวดปมต่อไปที่ฉากตัดสินคดี ที่พลิกไปพลิกมาจนเดาได้ยาก พอควร

ตัวเล่มอาจจะดูหนาซักนิด ถ้าอ่านไป ท่านจะเข้าใจทันทีว่ามันจำเป็น เพื่อจะได้เห็นชัดเจนในขณะที่นิยายจับภาพ ช่วงเวลานั้นไว้ ถ้าไม่ละเอียด ผมว่ามันอาจไม่กินใจเมื่ออ่านจบแบบนี้ก้อเป็นได้ และนี่คือประโยคที่ผมสนใจมากๆตอนอ่านครั้งแรกก่อนตัดสินใจเอามาอ่าน

" ภายใน 19 นาที คุณอ่านนิทานให้เด็กฟัง หรือเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง คุณเดินได้หนึ่งไมล์ หรือ เย็บชายเสื้อ
หนึ่งตัว หรือพับเสื้อผ้าที่ตากแห้งแล้วของครอบครัวขนาดห้าคนได้
ภายใน 19 นาที คุณสามารถหยุดโลกได้
ภายใน 19 นาที คุณสามารถแก้แค้นได้ "

The Wind-Up Bird Chronicle - Haruki Murakami

The Wind-Up Bird Chronicle - Haruki Murakami
บันทึกนกไขลาน - นพดล เวชสวัสดิ์ แปล


ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jan 19 2009, 07:02 PM

นิยายขนาดยาว เรื่องของคนที่สมัครใจจะตกงาน จ่าหัวอย่างนี้เรียกร้องความสนใจจากผมได้อักโขอยู่ จริงๆแล้ว บอกตามประสาซื่อว่า พึ่งรู้จักงาน มูราคามิ ได้เป็นชิ้นที่ 2 เท่านั้น เรื่องแรกที่พึ่งอ่านจบไปก่อนหน้านี้ คือ แกะรอยแกะดาว ซึ่งถูกใจเป็นอย่างยิ่งกับ ลีลาการเขียนที่ กวนอวัยวะเบื้องล่างอย่างได้จังหวะ
(น่าเสียดายที่เล่มอื่นในชุดนี้เลิกพิมพ์ไปแล้ว) งานมูราคามิ ในความรู้สึกผมคือ การนำเอาเรื่องธรรมดาๆ มารวมการโครงเรื่องแบบที่น่าจะเป็นไปไม่ได้ (ในกรณีแกะรอย แกะดาว คือ แกะพันธุ์ประหลาดที่มีปานดาวกลางหลัง) ทำให้ ลีลาไม่ซ้ำใครจริงๆ กับจังหวะการเดินเรื่องผมว่ามันส์มาก

เล่มนี้ก้อเหมือนกัน คือโครงเรื่องหลักนั้นไม่มีอะไร เพราะมันคือ บันทึกของคนที่เต็มใจตกงาน แต่ในรายละเอียด และการผูกเรื่องที่มูราคามิ ใส่เข้ามาต่างหากที่ เพิ่มรสชาด เปรียบเหมือนกับ ข้าวผัด ที่หลักๆก้อคือข้าวและไข่ เนื้อสัตว์ ผัก และ สไตล์ ต่างความชอบ ต่างเทคนิค บางคนใส่ เป็ดย่าง หมู ไก่ เครื่องทะเล คือสุดแล้วแต่เราจะคิด (จริงๆผมพึ่งเห็นรายการหนึ่งของญี่ปุ่น นำเสนอ วิธีการผัดข้าวผัดให้อร่อย ด้วย 13 ขั้นตอน ทั้งนี้รวมถึง เวลา, อุณหภูมิ และลำดับการใส่ก่อนหลังของเครื่องปรุง ที่ค่อนข้างเป็นระบบอย่างยิ่ง) แต่อันนี้คือ ข้าวผัดสไตล์มูราคามิ ที่ใส่ส่วนผสมอันหลากหลาย เหมือนเรื่องสั้นหลายเรื่องที่บรรจุในหนึ่งนิยายขนาดยาว

ความพิสดารของเครื่องปรุง มูราคามิ ทำให้ผมค่อนข้างทึ่งพอควร เพราะจากส่วนประกอบหลักอันได้แก่ นักแล่หนัง, บ่อน้ำแห้ง, เด็กผู้หญิงที่ไม่ยอมไปเรียน, หมอดูพลังจิต, อดีตนายทหารที่มือขาดไปข้าง, เรื่องสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2, ทหารโรคจิตรัสเซีย, ปานสีน้ำเงิน, สองพี่น้องสาวหมอดูที่แปลกด้วยทั้งชื่อและความเป็นมา, 2 แม่ลูกสุดประหลาด, บ้านผีสิง, บันทึกลับ และ แมว(หลายคนที่ตามงานคงจะสังเกตเหมือนกันว่า เพ่แกใส่แมว เพราะรักแมวมาก แทบจะทุกเรื่องหลังๆ) อ้อ เกือบลืม เรื่องแนว พี่เมียและครอบครัวภรรยาด้วย ซึ่งดูๆไป เกือบเหมือนละครบ้านเรา แต่ผมบอกได้เลยว่า ไกลจากกันมากเลย
มาผสมกันได้เป็นนิยายขนาดยาว 719 หน้า และแน่นอนการที่จะทำให้ผู้อ่านติดตามได้ตลอด นี่แหละครับฝีมือจริงๆ

เรื่องเหมือนไม่ไปด้วยกัน โครงเรื่องแฟนซีตลอด และอีกอย่างหนึ่ง การเขียนเรื่องของคนธรรมดาๆ เหตุการ์ณธรรมดา มาบิด แล้วเรียงใหม่ คือ ส่วนผสมที่น่าสนใจ และน่าหาอ่านในกรณีคนยังไม่เคยหรือพึ่งอ่าน งาน
มูราคามิ เหมือนผม ก้อน่าหามาลอง แฟนประจำคงไม่พลาดอยู่แล้ว

The Name of The Rose - Umberto Eco


The Name of The Rose - Umberto Eco
สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ - ภัควดี วีระภาสพงษ์


ต้นฉบับเขียนเมื่อ Dec 11 2008, 11:50 PM

ต้องยอมรับว่า ครั้งแรกที่สนใจอยากหาเล่มนี้มาอ่านเพราะ บทความเกี่ยวกับนิยายนักสืบโดยแท้ กว่าจะหาได้ก้อใช้เวลาพอควร ในสภาพที่พอรับได้ เหอๆ
นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายนักสืบที่มี ฉากและเรื่องอยู่ในสมัยกลางของยุโรปราว คศ. 1327 (ยุคกลางตอนปลายของยุโรป คศ.1000-1453) ยุคที่มีการเผาแม่มด, อิทธิพลของศาสนจักร กับทางโลกไม่กินเส้นกัน, นักบวชที่มีอำนาจมากล้น, ผู้ที่เห็นต่างคือผู้นอกรีตและสามารถถูกฆ่าโดยความชอบธรรม, ยุคที่ไม่ใช่พวกเราก้อเป็นพวกเขา, ชาวบ้านสามัญชน ดูเหมือนแค่สัตว์เลี้ยง ซึ่งไม่มีวันที่จะเข้าใจสิ่งใดที่ลึกซึ้งได้ หรือคู่ควรแก่ความรู้ต่างๆในสายตาคนชั้นสูง (คล้ายบ้านเราเพียงแต่บ้านเรา นิยมผ้าอนามัยใช้แล้ว แต่ในนิยายนี้นิยมหนังสือ), หนังสือเป็นสิ่งที่สงวนไว้แต่นักบวชและชนชั้นสูง, แต่ก้อเป็นยุคที่ผู้คนสนใจในการเสาะหาหนังสือและความรู้จากสมัยโบราณ (ฟื้นฟูศิลปวิทยา คศ.1300-1600)

เพียงเท่านี้ ผมว่าหลายคนคงเห็นภาพว่า นิยายนักสืบ ที่ผู้ไขปริศนาคือนักบวชรุ่นใหญ่กับรุ่นเล็กในยุคแห่งความขัดแย้ง (คือตามฉากจะเป็นในช่วงที่ศาสนาคริสต์มี พระสันตะปาปา 2 องค์ องค์หนึ่งอยู่โรม องค์หนึ่งอยู่
อาวีญอง พระเอกของเรามาจากฝ่ายโรม ซึ่งตามประวัติศาสตร์น๊อคไปในที่สุด) ผสานกับยุคแห่งการค้นหาความรู้ จากอดีตจะมันส์ขนาดไหน

รายละเอียดไม่ต้องพูดถึงแน่นสุดๆ แต่แปลกใจเรื่องปี คศ.เล็กน้อยเท่านั้น โครงเรื่องเป็นการสืบหาสาเหตุการตายต่อเนื่องที่ลึกลับในอารามแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงด้าน เป็นที่รวบรวมหนังสือและของมีค่าทางศาสนาเป็นจำนวนมาก โดยต้องแข่งกับเวลาก่อนที่คณะนักบวชของอีกฝ่ายจะมาถึง แล้วทำให้เรื่องนี้เป็นชนวนทางการเมือง เนื่องจากในขณะเดียวกันอารามนี้ก้อจะใช้ในการประชุมย่อย ระหว่างพระ 2 ฝ่าย ในเรื่องประเด็นทางศาสนาของทั้ง 2ฝ่ายที่เป็นอริกัน

ความตื่นเต้นและซับซ้อนมาจากตัวละคร ที่มีการเมือง ในอารามเอง และ ความพยายามในการปกปิดการเข้าถึงหนังสือ ที่อารามสะสมไว้ มากจนเกินงาม ปัญหาต่อมาคือ คนเราฆ่ากันได้เพราะหนังสือเล่มเดียวจริงหรือ จริงๆแล้วก้อเหมือนกับความเชื่ออื่นๆ ฉะนั้นคำตอบจึงได้ แต่เพียงว่า ผู้เขียนใช้หนังสือที่เป็นตัวแทน ของความรู้มาทำให้เป็นเรื่องที่แปลกออกไป (คือปัจจุบันแค่แบน สมัยก่อนมีเผา สมัยก่อนขึ้นไปอีกมีฆ่า) ประเด็นเชิงลึกคือ เพราะอะไรและทำไม หนังสือเล่มที่ว่า หรือสถานที่ๆเก็บจริงสำคัญ คอขาดบาดตายขนาดนี้ ทำไมบางคนจึงทุ่มเท จนกลายเป็นมาร เพื่อปกปิด .....ตอนจบล่ะก้อแปลกใจแน่นอน ยิ่งรู้ถึงหนังสือเล่ม ที่เป็นชนวน ยิ่งตกใจ แต่บอกก่อนได้ว่า อันนี้เป็นนิยาย ถึงแม้รายละเอียดจะสมจริงและอ้างอิงจากบุคคลจริง แต่หนังสือเล่มที่ว่าไม่มีนะ ฉะนั้นท่านก้อยังจะหาอ่านได้ แต่เล่มที่มีอยู่จริงๆไปอย่างเดียวก่อน

ผมลองยก สัก 2ประโยคให้ดูครับแบบชอบ หลายอันแต่อันนี้แสดงภาพคร่าวๆดี
"อันตคริสต์สามารถอุบัติขึ้นจากความศรัทธานั่นเอง จากความรักในพระเจ้าหรือความรักในสัจจะจนเกินเหตุ"
"แม้นเที่ยวแสวงหาความสงบไปทุกหนแห่ง ย่อมมิอาจพบพานสถานที่ใดนอกจากในมุมห้องพร้อมหนังสือ - โธมัส อะเคมพิส(1379-1471) กวีเยอรมัน

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

Living with the devil - Stephen Batchelor


Living with the devil - Stephen Batchelor
อยู่กับมาร - สดใส ขันติวรพงศ์ แปล


ต้นฉบับเขียนเมื่อ Nov 7 2008, 12:43 AM

พุทธทาสเคยกล่าวว่าการนับถือศาสนานั้น เราต้องมีศรัทธาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีปัญญาไว้ใคร่ครวญ ไว้ช่วยไม่ให้ศรัทธากันจนตกคู หรือเข้ารกเข้าพง
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่า เออ เราก้อคงต้องคิดน่ะสิ ถามได้แต่คิดอย่างไร อะไรคือเปลือกที่ต้องฝ่าเข้าไป บอกตามตรงยังไม่คล่องนักในด้านนี้
ซึ่งเล่มนี้ ค่อนข้างจะเน้นไปที่ การใช้ปัญญาเพื่อฝ่าแนวกั้นนั้น จริงๆแล้ว มีหลายๆเล่มที่ มีแนวทางประมาณนี้ แต่ หลายเล่มนั้น บางครั้งอ่านแล้วไม่ค่อยกระตุ้นให้คิดต่อ แต่กลับพยายามให้เห็นอย่างนั้น อย่างนี้
นี้คือถูกนั้นคือผิด แต่ไม่ได้เน้นไปที่การ มีสติอยู่กับความดีและความชั่ว อันเป็นหลักหนึ่งที่อธิบายศาสนาในขั้นต้นของทุกศาสนาได้ดีที่สุด

เล่มนี้หลักๆจะเน้นที่พุทธแต่ก็มีการอ้างอิงกลับไปหา คริสต์ อิสลาม และอื่นๆอีกบ้างตามควร (เลยทำให้พึ่งรู้เหมือนกันว่า ซาราตุสทรา เป็นศาสดาของศาสนาโซโรแอสเตอร์ ไม่รู้มีใครจำได้ไหมว่า มันคือชื่อหนังสือที่ นิชเช่ แต่งไง...แต่ผมยังไม่ได้อ่านจนจบนะ ในเล่มอ้างคำของนิชเช่เรื่องนี้อยู่นิดนึงด้วย)
มารในที่นี้ คือ อะไรที่เราหลายคนพอเดาได้ หลักๆก้อความชั่ว ความไม่รู้ ความหลงผิด ตัวตนของเรา สังขาร การเกาะติดแต่ที่ความเชื่อ เหล่านี้ คือมาร คือ เปลือกที่หุ้ม ตัวเราและสาระสำคัญทางศาสนา
ในภาษาฮิบรู ซาตาน หมายความว่า ปรปักษ์ ในภาษาบาลี สันสกฤต มาร แปลว่านักฆ่า
พระพุทธเจ้า เรียกมารว่า อันตกะ แปลว่า สิ่งที่จำกัด ผู้ที่จำกัด ขีดวงชีวิตให้เรา(ในทำนองว่าขวางทางของเราในการหลุดพ้น)

ในคำนิยม พระไพศาล วิสาโล ท่านเขียนอยู่ตอนหนึ่งว่า "มารที่มาในรูปของความดีต่างหากที่น่ากลัว"
ที่น่ากลัวก้อเพราะบางครั้งเรายอมให้มาร หลอกเราเอง การอยู่กับมารจึงเป็นการเรียนรู้อย่างเท่าทันต่อมาร เพราะไม่มีมารก้อไม่มีพุทธะ เหมือนไม่มีขี้เหร่ก้อคงไม่มีสวย เพราะมันเป็นเรื่องคู่ตรงข้ามให้ใคร่ครวญนั่นเอง เพื่อประโยชน์ในการดับ "นิพพาน" และเพราะมารไม่อาจถูกพิชิตได้ แต่ต้องเข้าใจมัน

หนังสือเล่มนี้ ยั่วให้เราคิดตาม แบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนพาเราเดินไปตามทาง เดินไปเรื่อยๆผ่านสุ่มทุ่มพุ่มไม้ ตามข้างทาง แล้วสุดท้ายเราก้อรู้ว่า ทางสายนี้มีคนเดินมาก่อนหน้าเราแล้วเป็นร้อยเป็นพัน และเพราะคนเหล่านั้น ทางจึงยังคงอยู่ และ หนังสือเล่มนี้ก้อคงหวังเช่นนั้น

ในทัศนะส่วนตัว เป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาและการค้นหา ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะไม่ยืดมาก และกระตุ้นเราให้คิดตลอดเวลา เหมือนเช่นที่เรารู้กัน หนังสือที่ดี ต้องกระตุ้นให้เราคิด
ถ้าคำของ คาฟคา ก็ว่า หนังสือที่ดีต้องเหมือนขวานที่จามลงไปบนหัวของเรายามเมื่ออ่านมัน
....โหดไปนิดแต่เห็นภาพ เหอๆ