วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Steps - Jerzy Kosinski


Steps - Jerzy Kosinski
สเตปส์ - เจอร์ซี่ โคซินสกี้
National Book Award ปี 1969 / จิตติ พัวสุทธิ แปล
สนพ. ลายคราม

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Oct 31 2009, 06:52 PM

เล่มนี้จะว่ารวมเรื่องสั้นคงไม่ได้ทีเดียว น่าจะออกไปทางความเรียง คือบางเรื่องมันสั้นมากขนาดประมาณ 1หน้า คล้ายๆกับ "ในความนิ่งนึก" ของ ฟรันซ์ คาฟคา คือสั้นๆง่ายๆจบก็ง่ายๆ เพียงแต่เล่มนี้จะอ่านไหลลื่นกว่า แต่การตีความไม่เป็นรอง จะอ่านแบบสนุกก็ได้ อ่านแบบเอาสาระก็ได้อยู่ / นักเขียนท่านนี้ผมเคยอ่าน "ที่เห็นและเป็นอยู่" มาก่อน ความทรงจำคือสนุกมากแต่ก็จำรายละเอียดไม่แจ่มชัดเพราะอ่านตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัย แถมยังจำได้ลางๆว่าเกิดกรณี ถูกหาว่าเล่มดังกล่าวลอกงานคนอื่นมา แต่นั่นก็ไม่ใช่สาระมาก เพราะเนื้อหาก็ถือว่าโอเค แล้วการพิสูจน์ก็ไม่ได้เนื้อได้น้ำมากจนบอกได้ว่าลอกมาจริง / ใน "สเตปส์" ช่วงแรกมีการสละหน้าไว้จำนวนหนึ่งเพื่อแนะนำนักเขียนให้นักอ่านทั้งมือใหม่และมือเก่าทราบที่มาที่ไปและผลงาน รวมทั้งไอเดียในการสร้างสรรค์ กับการมองปัญหาที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายแบบค่อนข้างแปลกของผู้เขียน

เล่มนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นเล่มที่ 2 ที่มีการแปลผลงานของโคซินสกี้ ออกมาเป็นภาษาไทย ผิดถูกประการใดท้วงติงได้ครับ ในเล่มแรกผู้ที่แปลก็จัดได้ว่าขึ้นหิ้งคนหนึ่ง (มโนภาษ เนาวรังษี) ในส่วนผู้แปล "สเตปส์" เคยอ่านที่ จิตติ พัวสุทธิ แปล คือ "รักแรกและเรื่องสั้นอื่น ๆ ของ Samuel Beckett " มาก่อน ก็ลื่นในระดับหนึ่ง คือเรื่องเขียนประมาณนี้ความไหลลื่นของตัวอักษรสำหรับผมค่อนข้างสำคัญ ยกเว้นกรณีที่เป็นความตั้งใจของผู้เขียน (เพราะอย่างนี้ จึงยังไม่เคยมีใครแปล "ยูลิซิส" ของ เจมส์ จอย ออกมาเป็นภาษาไทยเลย...การันตีว่าค่อนข้างโหด คืออ่านแบบเหนื่อยมากทีเดียว มีเวปหนึ่งถึงกับทำเป็นแนวพจนานุกรมแปลคำ ในเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อผู้อ่านที่รู้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว งงไหมเนี่ย คล้ายๆของ อุมแบร์โต เอโก ก็มีคนทำ) นอกนั้น การแปลควรจะต้องไหลไปได้เรื่อยๆเพื่อให้เราซึมซาบได้ดีที่สุด

ใน "สเตปส์" ช่วงแรกๆ (ขออภัยเพราะมันไม่มีบทหรือชื่อกำกับเลยไม่สามารถบอกชื่อได้......แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคืออ่านแล้วรู้สึกไหลๆดี ไม่ต้องถูกบังคับด้วยการแบ่งบท เหมือนรอยต่อจะเบลอๆ แม้ว่าเรื่องจะไม่ได้มีเนื้อหาที่ต่อกันเลย บางเรื่องคิดว่าต่อเนื่อง แต่ก็บอกยาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นความตั้งใจของผู้เขียนก็เป็นได้ เหมือนชื่อเรื่อง ในความรู้สึกเหมือนกับว่าเนื้อเรื่องเหล่านี้เป็นขั้นๆค่อยๆก้าวไปๆ อย่างช้าๆ) อาจจะออกแนวรุนแรงไปนิดสำหรับ เด็กและสตรีมีครรภ์ เพราะมันออกด้านเพศค่อนข้างชัดก็ว่าได้ จะว่าธรรมดาก็ได้ แล้วแต่ว่าผู้ที่อ่านอยู่ในวัยใดมั้งนะ ช่วงแรกจะเป็นแนวสัมพันธ์แบบคนแปลกหน้าคือ คนสองคนมาเจอกันแบบแปลกๆไปกันแบบแปลกๆในสถานที่เหมือนหลงไปเจอกันแบบผิดที่ผิดเวลา อย่างเรื่องแรก เป็นเรื่องของ "ผม" กับ เด็กสาวลูกกำพร้าคนหนึ่งที่ไปเจอกันตอนไปเมืองๆหนึ่ง หรืออีกหลายเรื่องต่อมา ก็จะพูดถึงภาวะแปลกแยกของบุคคลทั้งเปลือกและทั้งภายใน เพียงแต่จะเสริมเรื่องของประเด็นด้านเพศ-ความตาย-สงคราม-สังคมเข้ามา

ในช่วงต่อจากนั้น ความแปลกแยกที่เปลือกนอกจะเริ่มเข้มขึ้นและจริงจังขึ้น ส่วนว่าจะโหดขึ้นหรือไม่นั้น ก็คงขึ้นอยู่กับผู้อ่าน ซึ่งหมายความว่ามันทั้งถูกและไม่ถูกนั้นเอง แต่อย่างหนึ่งที่เห็นคือ การสอดแทรกเรื่องขำๆ (ในความรู้สึกนะ เผอิญบางทีผมออกจะเส้นตื้น หุหุ) แต่ทำนองตลกร้ายหรือตลกแบบให้คิด / หลายตอนผมชอบในแง่การนำเสนอ เช่น มีการใช้เฉพาะบทสนทนาในการดำเนินเรื่องหลายตอน จริงๆจะว่าดำเนินเรื่องก็ไม่ถนัดนัก เนื่องว่ามันเหมือนตัดบทสนทนาของตัวละครคู่หนึ่ง เป็นช่วงๆ มาเน้นในประเด็นที่ผู้เขียนต้องการเสนอ ซึ่งผมว่ามันได้ความสดและเข้าถึงในระดับหนึ่ง และไม่ถึงกับแยกออกมามาก เกินจนไม่รู้เรื่อง บางตอนบทสนทนาก็แสบๆคันๆดี อย่าง
อันนี้ฝ่ายชาย "เพราะต้องการหาคำตอบว่าทำไมคุณถึงได้รักผม คุณก็เลยนอนกับผู้ชายคนอื่น น.57"
อันนี้ฝ่ายหญิง "...ฉันเลือกส่วนหนึ่งของตัวเองที่ต้องการคุณมากกว่าส่วนของฉันที่จะไปอยู่กับเขา.."
เหมือนหลายคนทราบในประเด็นด้านจิตวิทยา เรื่องเพศเป็นประเด็นที่ซับซ้อน, วกวน และส่งผลต่อเนื่อง เรื่องหนึ่งที่นวนิยายหรือเรื่องสั้นทางตะวันตกชอบใช้ (จริงๆทางเอเชียก็มีหลายเรื่อง ของไทยก็มีเยอะและลึกไม่แพ้ใครเหมือนกัน) มีเรื่องหนึ่งไม่รู้ว่าจะเฉยหรือเกลียดมันดี คือมันเล่นกับเรื่องผิดชอบชั่วดีอะนะ เป็นเรื่องที่เด็กสาวไปเที่ยวกับแฟนหนุ่มแล้วโดนข่มขืน ถ้าลองอ่านดูจะเห็นความรู้สึกมันจะออก 2 ด้าน จะว่าไปหลายเรื่องในเล่มนี้จะออกอย่างนี้ เล่นกับความรู้สึกแบบ หัวก้อย

ครึ่งหลังไป ลึกและสนุกมากทีเดียว มีทั้งเรื่อง สถาปนิกที่ออกแบบค่ายกักกัน (น่าคิดเหมือนกัน...ในแง่งานกับชีวิต หลายคนโดนงานผสานเป็นเนื้อเดียวไปโดยไม่รู้ตัว), ห้องน้ำที่เปรียบดังวิหาร (อันนี้เห็นด้วย....ในแง่ความสงบเงียบ ก้องกังวาล และความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่ง จนสามารถเป็นที่เปิดเผยประเด็นความคิดส่วนตัวของเราลงไปบนกำแพงห้องน้ำนั้นๆ...หากมองเป็นประเด็นสังคมจะสนุกกว่าการมองว่ามือบอน เหอๆ แต่ต้องไม่ใช่ห้องน้ำบ้านคนอื่นนะ อันนี้เสนอในประเด็น ห้องน้ำสาธารณะ), ประเด็นว่าเราเข้าใจความเป็นฆาตกรได้ดีกว่าความเป็นเหยื่อเพราะเราคิดเช่นนั้นอยู่แล้ว (ก็น่าสนใจ....หากมองในกรณี คนในอเมริกาช่วงหนึ่งสนับสนุนการทำสงครามในเวียดนาม ก็จะเห็นภาพ) หรือเรื่องหลวงพ่อกับชาวบ้าน ก็สะเทือนดี (ในแง่ว่าบางครั้งเส้นแบ่งระหว่างดีและเลวมันบางมาก ด้วยเหตุแวดล้อมจนทำให้ ใครบางคนที่ควรจะเป็นคนนำทางก็มีหลงได้เหมือนกัน) / ด้วยว่าเล่มนี้ค่อนข้างบาง อ่านเพลินในระดับหนึ่งและไม่ถึงกับง่ายหรือเหนื่อยมากในการอ่าน ได้คิดได้มองปัญหาระดับธรรมดาๆใน ขนาดเล่มแค่นี้ก็น่าลองดูครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น