วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

The Catcher in The Rye - J.D. Salinger


The Catcher in The Rye - J.D. Salinger
จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น - เจ.ดี. ซาลินเจอร์
ปราบดา หยุ่น แปล
สนพ. ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Dec 20 2009, 11:17 PM

เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าเล่มนี้เป็นเล่มที่ดีที่สุด หรือเป็นเล่มที่มีวรรณศิลป์มากที่สุด แต่ที่แน่คือเล่มนี้กลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการดนตรี เมื่อมีคนอ่านแล้วได้แรงบันดาลใจไปยิง จอนห์ เลนน่อน ตาย โดยเขาอ้างว่า เลนน่อน กำลังหลงทิศทางในการสร้างสรรค์เพลง เปรียบเหมือนเด็กที่วิ่งเล่นในทุ่งข้าวไรน์ ที่อีกด้านเป็นหน้าผา เขามีหน้าที่ช่วยจับ เลนน่อน ไว้ก่อนที่ เลนน่อน จะตกหน้าผาไปด้วยการยิงให้ตาย ดูแล้วเหมือนจะตีความเกินขอบเขต แต่ก็อาจทำให้เข้าใจสังคมปัจจุบันในภาวะแห่งการหลงทิศหลงทางได้ดีขึ้น ว่าคนปัจจุบันกำลังเจอกับอะไร

สิ่งที่ได้จากการอ่าน คือความขบถของตัวละคร แต่ทำไมต้องขบถ ถ้าสังเกตดูเวลาพูดว่า "ขบถ" มักหมายถึง การแหกกรอบจากบริบท หรือสังคม บ่อยครั้งมักมองว่า คนที่ขบถมักแย่, แปลก หรืออยากทำตัวเด่น แต่ถ้าดูให้ลึกเราจะรู้ว่าปัญหานี้ของเด็กในยุคเสรีนิยมเกิดขึ้นทั่วไปเป็นปกติสามัญ สิ่งที่เด็กเหล่านี้เจอเป็นดุจดังกรอบที่ถูกล้อมไว้ ทำให้บางคนรับไม่ได้ แต่บางคนก็รับได้ขนาดปวารณาตัวเป็นดั่งแกะในฝูง ถ้าดูอย่างใคร่ครวญ นวนิยายเรื่องนี้อาจไม่เพียงแค่สะกิดเบาๆแต่อาจถึงตีกบาลเราด้วยมโนสำนึก พร้อมช่วยเราผ่ากรอบที่ครอบตัวเราอยู่ ด้วยการพาเราเดินทางสั้นๆ ผ่านประสบการณ์ของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่คนรอบข้างเห็นว่า ชอบแหกคอก

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ "โฮลเดน คอลฟีลด์" เด็กโข่งที่ทั้งซ้ำชั้นทั้งย้ายโรงเรียนบ่อย เขาก็เหมือนเด็กมีปัญหาแถมโง่ (?) ในโรงเรียนประจำทั่วไป มีเพื่อนร่วมห้องและข้างห้อง ที่เป็นพวกเด็กเด่นกับเด็กด้อย มีครูที่คิดว่ารู้ทุกอย่าง มีสาวสวยที่หมายปอง....มีครอบครัวชนชั้นกลางมีฐานะที่คาดหวัง มีพี่น้องที่เป็นดั่งโมเดลในใจ ต้องออกเดินทางเพราะโดนโรงเรียนไล่ออกอีกครั้ง แต่ตัวเขาเองไม่อยากให้ทางบ้านรู้ ประกอบกับเขาพอมีเวลานิดหน่อย เขาเลยอยากใช้เวลาหาความสุขในเมืองอย่างนิวยอร์ค / หากดูฉากโรงเรียน กรอบที่นวนิยายสร้างขึ้น เช่น ระบบสอดส่องดูแลเด็ก (ห้องพัก 2 ห้องคั่นกลางด้วยห้องน้ำ คนที่อยู่ห้องข้างๆก็ได้ยินเราด้วย แง่หนึ่งมันดูอบอุ่นดี แต่อีกแง่หนึ่งคือระบบสอดส่องที่ใช้สถาปัตยกรรมในการจัดการ) การลงโทษ หรือการประเมินผล น่าจะทำให้เราเริ่มเห็นภาพง่ายๆอันหนึ่งขึ้นมา ช่วยให้เห็นที่มาที่ไปของตัวละคร แล้วเมื่อเริ่มย้ายสถานที่ กรอบที่เปลี่ยนไป คนรอบข้างที่เปลี่ยนไป กรอบหรือภาพเหล่านั้นก็จะค่อยๆชัดขึ้นตามลำดับ

อันที่จริงสังคมมักชอบสร้างกรอบเป็นปกติอยู่แล้ว อาจจะเพื่อการปกครอง หรือความมีระเบียบ แต่พอลงมาที่บุคคล สิ่งที่นวนิยายเรื่องนี้พยายามแสดงคือเราจะเห็นกรอบที่แต่ละคนใส่อีกชั้นหนึ่ง ผ่านประโยคทั้งคิดและพูดของตัวเอก ที่เขาชอบใช้คำว่า "พวกเฟกๆ" แทนคนทั่วไปที่มักสวมหน้ากากและมีที่ว่างระหว่างกันมาก หลายประโยคจึงเหมือนเหน็บสังคมอยู่ในที หลายครั้งจะดูตลกปนโง่ เข้าใจว่าน่าจะเพื่อกระตุ้นให้คนอ่านคิดตาม หรือบางประโยคก็จับเอาเรื่องดาดๆมาเขียนใหม่แบบเจ็บๆคันๆ เช่น
"ผมมักจะพูดว่า "ยินดีที่ได้พบคุณ" กับใครบางคนที่ผมไม่เคยจะยินดีที่ได้เจอเลย" น.128
"...สิ่งที่ดีที่สุดในพิพิธภัณฑ์นั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างคงอยู่ในตำแหน่งเดิมของมันเสมอ.....สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็คือคุณนั่นเอง....." น.175
หรือ สัญลักษณ์ต่างๆที่นวนิยายเล่มนี้ใช้ เช่น ผมหงอกก่อนวัย, เด็กที่มีเงินใช้พอควร, ครอบครัวพ่อเป็นทนาย, เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค, แท็กซี่, คำถามแบบแหกๆ, เป็ดในทะเลสาบไปไหนตอนหน้าหนาว อะไรประมาณนี้เป็นต้น

มีประโยคหนึ่งที่ดูว่าจะสรุปได้ชัดเจน ถึงสิ่งที่ตัวละครพยายามทำหรือมุ่งหวัง ผ่านความรู้สึกของแต่ละตัวละครที่ล้อมรอบเขา ที่มีทั้งความคาดหวัง, ทั้งภาวะเป็นและไม่เป็นเหยื่อ, อารมณ์ หรืออนาคตอันไม่แน่นอน โดยเป็นช่วงที่ตัวเอกคุยกับน้องสาว ถึงสิ่งที่เขาอยากทำ
"...พี่ก็ยืนอยู่ขอบหน้าผาสูงที่อันตราย สิ่งที่พี่ต้องทำคือพี่ต้องเป็นคนคอยรับทุกคน ถ้าพวกเขาจะร่วงหล่นตกจากหน้าผา..." น.247
ในความรู้สึก มันเหมือนประโยคหนึ่งที่ เพลโต พูดถึงพันธกิจของคนๆหนึ่งที่นั่งหันหน้าเข้าหาถ้ำพร้อมคนอื่นอยู่ตลอดชั่วชีวิต เห็นแต่เงาที่สะท้อนบนผนังถ้ำ จนเชื่อว่าโลกแท้จริงเป็นเช่นนั้น จนวันหนึ่งเมื่อเขาหันหลังจากผนังถ้ำไปด้านหน้าถ้ำ แล้วเห็นว่าโลกจริงๆเป็นอย่างไร เขาต้องกลับไปบอกคนในถ้ำได้รู้ว่าโลกนั้น ไม่ได้เป็นเพียงเงาที่สะท้อนบนผนังถ้ำ / เหมือนบางครั้งเราเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเป็น คนที่มองเงาบนผนังถ้ำแล้วเชื่อมั่น หรือเป็นคนที่เห็นโลกภายนอก หรือเป็นเด็กที่วิ่งในทุ่งซะเองหรือเป็นคนที่คอยจับเด็กที่วิ่งในทุ่งอีกที / โดยตัวนวนิยายเองแล้วถือว่าอ่านเพลินและมีภาษาสัญลักษณ์ให้อ่านแบบลึกๆได้ด้วย เหมาะทั้งคนช่างคิดและไม่ช่างคิดอ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น