วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

La Peste - Albert Camus


La Peste - Albert Camus
กาฬวิบัติ - อัลแบร์ กามู
ประหยัด นิชลานนท์ แปล
สนพ. สามัญชน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jun 28 2009, 06:43 PM

หากใครคุ้นเคยกับ อัลแบร์ กามู มาบ้าง น่าจะพอจำได้ว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักเขียนแนว ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) คนดังก่อนแยกตัวออกมาจากเพื่อนร่วมกลุ่มที่ดังมากอีกคนคือ Jean-Paul Sartre เนื่องจากความเห็นไม่ตรงกัน / จริงแล้วความคุ้นเคยและชื่นชอบเป็นทุนเดิมนั้นผมมีกับ Sartre มากกว่า เพราะ กามู ผมเคยอ่านเล่มเดียวและเป็นนิยายขนาดสั้น ไม่มีบทความเสริมแนวความคิดเพิ่มเหมือน Sartre แล้วในกรณี Sartre ผมได้มีโอกาสอ่าน ทั้งเรื่องสั้น, บทความ และหนังสือเกี่ยวกับการเปรียบเทียบปรัชญาแนวนี้กับศาสนาพุทธ ทำให้ได้ความหลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม การแปลความในแบบนวนิยาย ส่วนหนึ่งผมกลับมองว่าเปิดโอกาสให้ตีความได้มากกว่า อีกทั้งได้อรรถรสจากประโยคคำพูด หรือชั้นเชิงทางภาษาไปด้วยในตัว (เพราะจริงๆครั้งแรกที่เริ่มอ่าน Sartre ก็เป็นรวมเรื่องสั้นมาก่อนเหมือนกัน)

ปรัชญาอัตถิภาวะนิยมคือปรัชญาที่เน้นการอธิบายมนุษย์โดยเน้น “การดำรงอยู่ของมนุษย์” (human existence) ในการอธิบายมนุษย์แทนที่จะเป็น “สาระ” (essence) ดังที่ได้มีมาในประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตกก่อนหน้า อย่างปรัชญากรีกและปรัชญายุคกลาง กล่าวคือเราไม่สามารถอธิบายมนุษย์ผ่านแก่นแกน (substance) ของมนุษย์อย่างที่เป็นมาได้แต่อย่างใด (ที่มา -http://www.philospedia.net/Existentialism.html - ถ้ามีโอกาสอ่านคราวๆก่อนก็จะยิ่งปูพื้นให้สนุกยิ่งขึ้น ในภาษาสัญลักษณ์ ของนิยายนี้ แต่ก็ไม่ได้ตายตัวขนาดว่าต้องอ่านก่อนประการใด / ถ้าสนใจลองดูหัวข้อหรือคำอื่นๆก็ได้ที่เกี่ยวกับปรัชญา ซึ่งน่าสนใจดีแต่ยังไม่สมบูรณ์นัก)

ฉากในเรื่องนี้เกิดที่ เมืองโอร็อง (เหมือนว่าจะเป็นเมืองชายทะเลทั่วๆไป) ในประเทศแอลจีเรียร์
".....เมืองนั้นต้องยอมรับว่าไม่สวยงามเอาเสียเลย.....ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสังเกตเห็นสิ่งที่ทำให้เมืองนี้แตกต่าง....น.17"
".....ลักษณะธรรมดาๆของตัวเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่เมื่อไหร่ที่เรามีความเคยชินกับมัน เราก็จะใช้ชีวิตแต่ละวันผ่านไปโดยไม่ลำบากยากเย็น....น.21"

ทุกสิ่งเริ่มเปลี่ยนจากความเคยชินและจำเจ เมื่อเช้าของ วันที่ 6 เมษายน หมอแบร์นาร์ด ริเออซ์ ไปสะดุดกับหนูตายตัวหนึ่งกลางบันไดในอาคารที่พักของเขาเข้า ซึ่งโดยปกติที่พักระดับนี้ แถมมีผู้ดูแลไม่น่าจะเกิดได้ และเมื่อปริศนาคลี่ออกว่าเป็นอะไร เมื่อนั้น "กาฬโรค" ได้เข้าครอบครองเมืองเรียบร้อยแล้ว เมืองจึงต้องทำการปิดตัวเอง ทั้งกันคนจากข้างในออกไปข้างนอก และกันคนข้างนอกเข้ามาข้างใน (ลัทธิอัตถิภาวนิยมเล็งเห็นว่าแก่นแท้หรือสารัตถะของมนุษย์ คือ เสรีภาพ ซึ่งหากลองเปรียบเทียบกับสิ่งที่ Sartre บอกไว้เรื่องเสรีภาพในมุมมองของเขาจะยิ่งเห็นภาพ และสนุกมากขึ้น) เกิดสภาพเหมือนทำการทดลองบางอย่างในพื้นที่ที่มีขอบเขตและจำกัด (คุกก็ไม่ผิด) ผ่านมุมมองของ 5 ตัวละครหลัก คือ หมอแบร์นาร์ด ริเออซ์ (ผู้เปลี่ยนใครหลายคน) / ฌ็อง ตาร์รู (เป็นสเมือนผู้จดบันทึกต่างๆ แต่....) / โจเซฟ กร็องด์ (พนักงานเทศบาล..ผู้อยากเป็นนักเขียน) / ก็อตตาร์ด (ที่พยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว) / เรมง ร็องแบร์ต (ผู้สื่อข่าว - ใบหน้าจริงจัง ดวงตาสดใสมีแววฉลาด ท่าทางไม่ทุกข์ร้อนอันใด แต่......)

ภายในกรอบเมืองๆหนึ่ง คนที่อาศัยต่างดำเนินชีวิตของตนไป การค้นหาตัวตนของแต่ละคนไม่สามารถเริ่มได้หากไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่มากระทบ กาฬโรค น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า ผลกระทบขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากสงคราม หรือโรคระบาดที่ร้ายแรงอื่นๆ คนเริ่มหันกลับมามองบางสิ่งที่ไม่เคยเห็น บางทีถ้าเป็นสงครามอย่างสงครามกลางเมืองก็อาจเกิดผลกระทบเช่นนั้นได้ แต่อาจจะเห็นในแง่การเลือกข้างหรือความเห็นต่าง แต่โรคระบาดในมุมหนึ่ง มันแสดง ธาตุแท้ของคนได้มากกว่า เพราะมันเป็นสงครามภายในตัวเรา ที่ไม่ใช่ผลกระทบจากภายนอกให้ต้องเปลี่ยนใจ (เพราะมันติดเชื้อแล้วจะเปลี่ยนใจให้ไม่เป็นคงไม่ได้...เราต้องสู้เพื่อตัวเราเอง ในตัวเราเอง)

ว่ากันว่ามนุษย์เรานั้นรู้เรื่องราวของจักรวาล, ดวงดาวหรือดวงจันทร์ มากกว่า เรื่องถ้ำใต้ดิน (อย่างกลางป่าลึก ในนิวกีนี หรือระบบถ้ำน้ำใต้ดินของมายา ในแหลมยูคาทัน) และใต้ทะเลลึกของโลก และยิ่งน้อยลงไปอีกถ้าพูดถึงจิตใจมนุษย์ (ยังคงเป็นปริศนาตลอดมา จริงๆ) เพราะเหตุการณ์หรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เราก็สามารถเปลี่ยนได้ / หรือจะเป็นเพราะว่า เราเคยชินกับอะไรมากเกินไป จนชาชินและละเลยในการตั้งคำถามกับมันไป เมื่อไร้ซึ่งการตั้งคำถาม ทุกอย่างก็เลยดูไร้สาระที่จะสงสัย เพราะเหตุนี้กระมัง เวลาเกิดโรคระบาด หลายๆครั้งในยุโรป คนจึงมักมองว่าเป็น พระประสงค์ของพระเจ้า ของเอเชียก็ ฟ้าบันดาล ในขณะที่คนอีกส่วนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับอีกหลายประเด็น ทั้งชีวิตและสังคม เลยทำให้โลกก้าวต่อมา เพื่อมาพบกับ พระประสงค์ของพระเจ้าหรือ ฟ้าบันดาล อีกครั้ง ก็เป็นได้

จังหวะและการพรรณา ในการใช้ภาษา ถือว่าเล่มนี้โดดเด่นมาก การเจาะลึกทั้งในใจคนและสภาพแวดล้อม ผมรู้สึกประหนึ่ง กามู กระทำตนเป็น กึ่งๆนักมานุษยวิทยา ที่ทั้งสำรวจอยู่วงนอกในบางคราว แล้วก็เป็นนักจิตวิทยา เพื่อสำรวจภายใน โดยผ่านการนำเสนอ ชั้นเชิงทางภาษา ที่เหลือรับจริงๆ ....เสียดายที่ไม่รู้เรื่องภาษาฝรั่งเศสเลย เพราะบางคนว่า การเลือกใช้คำ ในภาษาฝรั่งเศส ก็แสดง ไอเดียได้หลากหลาย เหมือนคำไทยเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น