วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ดีไซน์ + คัลเจอร์ / Design + Culture


ดีไซน์ + คัลเจอร์ / Design + Culture
ประชา สุวีรานนท์
สนพ. ฟ้าเดียวกัน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jul 23 2009, 07:01 PM

ว่ากันว่า ดีไซน์ ส่งผลกระทบกว้างไปในสังคม แม้ว่าเราๆท่านจะเรียกว่าหากินกับเรื่องของดีไซน์ หลายคนเหมือนจะไม่รู้สึกว่างานของเรา ส่งผลกระทบมากเพียงใดต่อสังคม และพื้นฐานในการเรียนรู้ของเราก็พลอยส่งผลต่อเหมือนคลื่นที่วิ่งออกจากตัวเราด้วย หลายครั้งคลื่นของเราก็ไปรวมกับคลื่นคนอื่น กลายสภาพเป็นคลื่นที่ใหญ่ขึ้นหรือไม่ก็หักล้างกันจนหมดพลัง / เล่มนี้มีการยกตัวอย่างในหลายๆกรณีทั้ง กราฟฟิคดีไซน์ หรือสถาปัตยกรรม หรือเฟอร์นิเจอร์ หรือตัวพิมพ์ หรือโฆษณาต่างๆหรือแม้กระทั้ง ความหมายแฝง หรือเจตนาแฝงในโฆษณาชวนเชื่อหลายอย่าง พวกนี้ล้วนมีพลังของการดีไซน์อยู่เบื้องหลังทั้งนั้น

สิ่งประทับใจแรกจับของหนังสือเล่มนี้ คือรูปเล่มและการเย็บ ที่ดูดีมีชาติตระกูล หยิบจับถนัดใจ แถมไม่ดูว่าจะพังคามือไปง่ายๆ / รูปประกอบภายในคือจุดเด่นอีกประการ เพราะมีมากและหลากหลาย ซึ่งเหมือนเคยเหมาะกับคนทั่วไป (ถ้าเชื่อตามหลายโพล ที่บอกว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัดอ่ะนะ...ไม่เคยเก็ทเลย เป็นไปได้ยังไงว้า) ประการต่อมาคือ เนื้อหาที่อ่านสนุกได้มุมมองในเรื่องดีไซน์ ดีเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เราขาดหนังสือ ดีไซน์สัญชาติไทยก็เป็นได้ ส่วนเล่มนี้ก็เป็นการรวบรวมมาจาก มติชนสุดสัปดาห์

เล่มนี้แบ่งเนื้อหาหลัก ออกเป็น 5 ส่วน Identity, Style, Icon, Information และObject ความน่าสนใจแสดงออกด้วยมุมมองของผู้เขียนอย่างแท้จริง เพราะมีความแปลกและต่างดี บางหัวข้อมีกระทบบ้างพอเป็นน้ำจิ้ม อย่าง "ฝรั่งอึ้งไทย", "วิธีขับและจอดรถของชาวไทยคล้ายวิธีการพายเรือ" บางหัวข้อก็ได้ความรู้ดี อย่าง "ศิลปะแห่งการทึกทัก" ในหัวข้อย่อยและหลักมีการแนะนำ ดีไซน์เนอร์ระดับเทพ หลายคน คนที่ผมรู้สึกชอบเลย คือคนที่ออกแบบ หนังสือ colors ของ benetton กับ หัวหอกแห่ง pentagram สองคนนี้เก่งมากจริงๆ ความคิดสดใหม่และแตกต่างอย่างชัดเจน รวมถึงกล้าจะทำด้วย แต่อย่างว่ากว่าจะมาถึงระดับนี้ได้ต้องอาศัยหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่ฝีมืออย่างเดียว อันนี้เข้าใจอยู่ อีกบริษัทที่ผมว่าดูจะเข้ากับแนวทางสถาปนิก ก็บริษัท ออกแบบสัญชาติอเมริกัน ideo เด่นมากๆเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้เคยได้ดูสารคดีทางเคเบิลทีวี กับอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอาจไม่เกี่ยวนักแต่ อาจเห็นภาพในอีกรูปแบบว่าด้วยเรื่องของยา หรืออาหารเสริมทั้งหลายที่ดูเหมือน บริษัทยาจะเป็นผู้สร้างอาการหรือความต้องการนั้นๆขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปรู้สึกว่า ตัวเองอาจป่วยเป็นโรคนั้นๆหรือต้องกินยาหรือวิตามินนั้นๆ ด้วยการออกแบบระบบของโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมาแทน (เชื่อหรือไม่ว่าฝรั่งบางคนถึงขนาดเคร่งในการกินอาหารเสริม, วิตามินที่เชื่อกันว่าจะคงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ประมาณ 40-50 เม็ดต่อวัน) ถ้าให้ตรงกับเล่มนี้ก็น่าจะอยู่ในหมวดว่าด้วย เฟอร์นิเจอร์ไฮเอนด์ ที่บริษัทเจ้าของผสิตภัณฑ์จ้างนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์มาเขียนบทความ เพื่อทำให้ของขายของตัวดูดีมีชาติตระกูล เปี่ยมล้นด้วยแนวความคิดอันอุดม นัยว่าเพื่อให้คนซื้อรู้สึกว่าตัวเอง เป็นคนฉลาดที่ได้ครอบครองของนั้นๆ / หรืออย่างกรณี บะหมี่สำเร็จรูปที่โฆษณาว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง, เครื่องดื่มชูกำลังที่โฆษณาว่ามีวิตามินมากมาย ให้สงสัยว่าทำไมกระทรวงสาธารณสุขถึงไม่สนับสนุนให้เด็กกินบะหมี่สำเร็จรูปแกล้มเครื่องดื่มชูกำลังกันบ้าง ถ้ามันดีจริงดังว่า แต่นี่แหละผลของพลังดีไซน์ ในชีวิตปกติของเรา

ส่วนที่น่าอ่านมากๆอีกส่วนคือส่วนที่ว่าด้วย Icon หลากหลายและเข้ากับปัจจุบันมาก บางเรื่องมีขำนิดๆ เช่นเรื่อง รถถัง, กำปั้น กับเรื่องสวัสดิกะ ในเรื่องรถถังยังมีภาพคลาสิคที่ถือว่ายังคงทรงอิทธิพลอยู่ มีการนำกลับมาใช้ใหม่ในหนังอย่าง watchmen หรือในหัวข้อหลักเรื่อง Object แต่เป็นบทย่อยว่าด้วย minimalism ก็น่าสนใจ ก่อนหน้านี้ผมเคยฟังหลายคนพูดถึงกระแสของ ดีไซน์แบบ minimalism ว่ามันมีปัญหาแบบหญ้าปากคอก อยู่คือการจะทำให้ minimalism จริงๆ ต้องใช้วัสดุและการประกอบที่สุดยอด นั่นหมายความว่า แพง อีกทั้งการดูแลรักษายิ่งแพงกว่าเพราะต้องให้มันคงสภาพเดิมแบบเรียบๆแต่ดูดีไว้ สรุปว่ามันคือ ดีไซน์เรียบๆแบบคนรวยนั่นเอง พ้องกับความคิดในเล่มนี้พอดี เพราะแทบมองไม่ออกเลยว่า ใครจะมีปัญญาลงวัสดุเป็นหินอ่อนแบบเปิดบุ๊ค (ซื้อทั้งก้อนแล้วเลือกลายให้แมทกัน) ถ้าไม่มีสตางค์เพียบๆ เคยสเปคไปทีหนึ่ง ผมว่าลูกค้ามีหน้ามืด แล้วไหนจะดีเทลกับค่าแรงช่างอีก .....และอื่นๆอีกมากมาย ทั้ง fixture หรือเฟอร์นิเจอร์ ที่ดูเรียบๆแต่ประกอบเนี๊ยบๆ อันนี้ว่าแค่บ้าน เหอๆ

หลังอ่านเสร็จเห็นไอเดียอย่างหนึ่งแน่ๆ ว่าเรื่องที่สวยงามเกินจริงมักเป็นเรื่องไม่จริง สิ่งที่ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามักมีเจตนาแฝง และเรื่องจริงมักไม่สวยงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น