วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

This Earth of Mankind - Pramoedya Ananta Toer


This Earth of Mankind - Pramoedya Ananta Toer
แผ่นดินแห่งชีวิต - ปราโมทยา อนันตา ตูร์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Feb 23 2009, 07:32 PM

บอกตามตรงก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักนักเขียนท่านนี้มาก่อน ประการหนึ่งคือไม่ค่อยรู้จักหรือคุ้นเคยฝีมือและลีลาของ นักเขียนจากประเทศเพื่อนบ้านมากนัก นักเขียนท่านนี้เป็นคนอินโด ผมคิดว่าบางคนน่าจะอ่านมาก่อนผมบ้างแล้ว จริงๆนี่คือเล่มต้นในชุด สี่เรื่องของนิยายของเขา(จตุรภาคเกาะบูรู คล้าย จตุรทุ่ง บ้านเราหรือไม่เหอๆ) ที่ผมเห็นก็มีแปลแล้ว 3 เล่ม เล่มที่ 4 ยังไม่เห็น หรือ ใครรู้วานบอกได้ครับ เพราะอ่านจบแค่เล่มแรก ก็รู้สึก เสพติดเสียแล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆก้อหวังว่าจะมีการแปลกันแพร่หลายต่อไป

เกริ่นเป็นน้ำจิ้มสำหรับประวัติของนักเขียนเล็กน้อย ปัจจุบันท่านอายุ 75 ปี เกิดในสมัยที่อินโด ยังเป็นเมืองขึ้นของ เนเธอร์แลนด์ ปราโมทยาเข้าร่วมขบวนต่อต้านลัทธิอาณานิคม และถูกจับคุมขัง ระหว่าง พ.ศ.2490-2492 (น่าจะคล้ายกับนักเขียนในบ้านเราอีกหลายท่าน) โดยท่านเริ่มเขียนนิยายในคุกนั่นเอง หลังจากได้รับเอกราช ปราโมทยา ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ และค้นคว้าประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ในปี 2508 ท่านถูกจับในข้อหา คอมมิวนิสต์ หลังถูกขังใน จาร์กาตาร์ 4 ปี ก็ถูกส่งต่อพร้อมนักโทษอีก 12,000 คนไปเกาะบูรู
ถูกขังอีก 10ปี นิยายชุดนี้สร้างขึ้นที่นี่นั่นเอง โดยใช้วิธีเล่าต่อปากต่อปากผ่านนักโทษด้วยกัน เพราะ คุกไม่ให้ใช้กระดาษ ในปี 2522 ปราโมทยา ถูกปล่อยตัว แต่ก็ถูกกักบริเวณจนกระทั่งปี 2542 นี่เองที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ และอีกประเทศที่มาเยือนคือ ไทยนี่เอง แต่เป็นปีที่แล้ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องราว ของ มิงเก หนุ่มพื้นเมือง (ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบุคคลจริง)ที่ได้มาเรียนหนังสือที่
สุราบายา ในโรงเรียนชั้นนำของอาณานิคม ที่ไม่ค่อยมีเด็กพิ้นเมืองได้รับอนุญาต เรียนกันมากนัก ก้อคงคล้ายๆกับโรงเรียนฝรั่ง หรือ โรงเรียนเจ้านายในบ้านเรา ที่ไม่เปิดโอกาส ให้เด็กที่ไม่ใช่ เจ้า หรือ คนรับใช้เจ้าได้เล่าเรียน พึ่งมาเปิดจริงๆจัง น่าจะหลังเปลี่ยนการปกครองแล้ว(ไม่นับโรงเรียนจีนนะครับ)
ตัวเรื่องมีการปูพื้นฐาน มิงเกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่มาของชื่อ ที่อาจารย์ฝรั่งเป็นคนตั้ง ซึ่งไม่ได้มีความหมายดีนัก ออกจะดูถูกด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ยังประกอบไปด้วยตัวละคร และเรื่องราวที่ผูกกันมากมาย หลายตัวละคร ทั้งคนพื้นเมือง ฝรั่ง คนอินโด(ในนิยายกล่าวว่า ระหว่างคนอินโดกับคนพื้นเมืองก้อมีชนชั้น..ทั้งๆที่พูดตรงๆก็อยู่บนเกาะเดียวกัน) คนจีน คนญี่ปุ่น บางคนมีแต่ชื่อไม่มีนามสกุล อย่างตัวเอกเป็นต้น ถ้าเป็นตัวละครอีกตัวที่ผมชอบมากๆคือ ไญ หรือ ตำแหน่งเป็นหญิงที่ถูก พ่อแม่ขายให้ไปเป็นเมียน้อย ด้วยมิติ, ที่มาที่ไป และความลึกของตัวละคร ทำให้ตัวละครตัวนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ ใครจะเชื่อว่า การศึกษาแบบมีแบบแผนที่ดีไม่ได้ มีได้เสมอไปในโรงเรียน สมัยนี้ผมว่าเป็นไปได้ แต่สมัย เมื่อปี 1898 ไม่ธรรมดาจริงๆ ถึงแม้ว่าปมปัญหาที่เป็นตัวขับดันตัวละคร หรือการแสดงออกต่อแรงนั้น อาจจะดูรุนแรงไปบ้างในสายตาบางคน

ตัวเรื่องหลักจริงๆ คือว่าด้วยความรักทั้งรัก เพื่อนมนุษย์, รักศักดิ์ศรี, รักชาติ, รักในการหาความรู้, รักระหว่างแม่กับลูก และ รักระหว่างหนุ่มสาว อีกด้านหนึ่ง นิยายยังเสนอ ด้านของการตัดรักด้วย ทั้งตัดรักจากเพื่อน, จากครอบครัว, จากความรู้, จากศักดิ์ศรี และจากสิ่งที่เคยเชิดชู ยิ่งอ่านไปยิ่งรู้ว่าทำไมมันถึงโดนแบน ในอินโด แม้จะนำเสนอในแง่นิยายออกแนวรักๆ แต่แฝงไว้ด้วย ชาติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างลึกซึ้ง เข้าทำนองว่าเอาเรื่องที่เป็นยาขม มาหุ้มไว้ด้วย เรื่องรักใคร่ และเรื่องที่อ่านง่าย สนุก

ประการสุดท้าย ผมว่าด้วย สถานที่และเวลา ในนิยาย ผมว่าทำให้มีความน่าสนใจและสนุกมากขึ้น ตอนแรกไม่ได้คิดว่าสนุกขนาดนี้ คือจริงๆ ผมซื้อแค่เล่มนี้เล่มเดียว แถมซื้อมานานพอควรแบบไม่ได้แตะ แต่พออ่านเสร็จ ถึงกับต้องรีบไปหา เล่มอื่นมาให้เต็มชุดทันที.....หากท่านชอบนิยายเพื่อชีวิต สังคม ท่านไม่ควรพลาด แต่ถ้าท่าน ชอบนิยายสไตล์ ชิงรัก ทั้งแบบสมหวังและไม่สมหวัง ท่านยิ่งไม่ควรพลาด หรือ ถ้าอยากรู้จักเพื่อนบ้านให้ดีขึ้น อ่านได้ไม่ผิดกติกา

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมรักวรรณกรรมชุดนี้มากๆๆๆๆ อยากอ่านเล่ม4 มากเลยครับน่าเสียดายที่ทางคบไฟไม่เเปลต่อเเล้ว เซ็ง

    ตอบลบ