วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ธรรมศาสตร์ 60 ปี รัฐศาสตร์สาร 30 ปี เล่ม 1, 2, 3 และ 4

ธรรมศาสตร์ 60 ปี รัฐศาสตร์สาร 30 ปี เล่ม 1, 2, 3 และ 4
บรรณาธิการ ธเนศ วงศ์ยานนาวา

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Apr 8 2010, 07:28 PM
เป็นเพียงการเสนอภาพคร่าวๆแบบยังไม่ได้อ่าน

โอ้แม่เจ้า ถ้าท่านเห็นขนาดของมันก่อน ผมคิดว่าหลายท่านคงถอดใจเป็นแน่ แต่สำหรับผู้โปรดปรานหนังสือหนาหนักเปี่ยมคุณภาพ ย่อมเห็นตรงข้ามเป็นอาหารรสเลิศ ชวนลิ้มลอง ยิ่งพลิกดูปกหลังแต่ละคนที่มาเขียน ถ้าไม่ระดับมือพระกาฬ ก็ระดับน้องๆดารา ว่าไปนั่น แถมบทความที่เขียนก็ จั่วหัวได้น่าสนใจชวนติดตามและคิดต่อ บอกตามตรงนี่คือชุดหนังสือ เพียงชุดเดียวที่ผมตั้งใจไปซื้อมากที่สุดของปีนี้ คือประมาณว่าแค่เห็นใบโปรย ที่ไหนซักที่หนึ่ง แต่จำไม่ได้แน่ ก็อยากได้มากแล้ว เหอๆ / เนื้อหาในเล่มชุดนี้จัดทำเนื่องในวาระครบ 30 ปี วารสาร รัฐศาสตร์สาร โดยธรรมดาผมซื้อบ้างตามสะดวก เนื้อหาก็หนักแน่นและตื่นตาตื่นใจดี หลาย มหาวิทยาลัยและหลายคณะก็จะจัดทำ วารสารประมาณนี้ออกมาเป็นปกติ ถ้าที่เรารู้จักก็ หน้าจั่ว ของศิลปากรเป็นต้น

โดยสัตย์จริงตัวผมเวลาหาอ่านเรื่องที่ข้องใจไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ผมจะพยายาม ขุดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือไม่ก็พยายาม หาอ่านให้กว้างที่สุดเพื่อขจัดข้อข้องใจ (ผมเป็นพวกเจ้าหนู จัมไม) วันก่อนมีรุ่นน้องคนหนึ่งส่งอีเมล กลับมาบอกผมว่า ไม่ควรส่งอีเมลแนวเสื้อแดง เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริง ผมเลยส่งว่า มันเป็นแค่ส่งต่อ ไม่น่าจะมีผลอะไร แล้วเมลพวกเขาพระวิหารที่ออกทะเล มากกว่าอีกของพันธมิตร ผมยังไม่เคยส่งกลับไปบอกมันสักคำ ผมก็ส่งต่อปกติ ด้วยผมเชื่อว่า ความรู้ไม่ได้จากอีเมล เราต้องใช้สติคิดเอง เพราะเราเชื่อทุก อย่างที่ทุกคนบอกไม่ได้ คนที่ได้รับต้องคิดเอง การที่เราส่งหรือรับเมลเหล่านี้ ไม่ได้หมายความเราต้องเห็นด้วยทั้งหมด ถ้าเราเชื่อทุกคนทั้งแดงทั้งเหลือง โดยไม่ไตร่ตรอง มันก็กลายเป็นวิกฤตทางปัญญาแน่นอน

กลับมาที่เนื้อหาเล่มนี้ อย่างที่บอกครับ คณะนักเขียนสุดยอดเหนือคำบรรยาย อาทิเช่น
เล่ม 1
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล "รัฐชาติ ชาติพันธุ์ และความทันสมัย"
- ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ระบบทาสไทย - ความหมายและความจริง"
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์ "หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม" - นักกฎหมายน้ำดี อีกคนที่ไม่ค่อยเป็นที่สบอารมณ์ ของเหล่าสาวกพันธมิตร และกลุ่มสนับสนุนแม้วแบบสุดลิ่ม เพราะแกเขียนตรงไปตรงมาทั้งสองฝ่าย ล่าสุดทนายแม้วยืมคำวิจารณ์ของแกไปใช้ ต่อสู้ในศาล ฟังดูก็แปลกๆดี เพราะแต่ก่อนมันไม่อย่างนี้ นี่ถ้าไม่ได้ว่าแกไม่ชอบ การใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง คงจะยากกก
- เก่งกิจ กิติเรียงลาภ - คนนี้ใหม่หน่อย ผมเคยอ่านเป็นบทความที่วิเคราะห์ กลุ่มพันธมิตร ไว้ค่อนข้างน่าสนใจ แม้จะมีบางคนวิจารณ์ว่า แกมองพันธมิตร ดีเกินไปก็ตาม ส่วนตัวผมว่าก็กลางดี มันก็ต้องมีทั้งคนดีคนไม่ดี เป็นปกติ (แต่แกใส่ กลุ่มกู้ชาติ ที่เป็นกลุ่มย่อยในพันธมิตรเยอะนะ)
- ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ "ความรุนแรงในการเมืองไม่ฆ่า - ชุมชนเอกฐานกับความเป็นการเมือง" นี่ก็หน้าใหม่แต่มีผลงานเยอะและต่อเนื่อง เช่นกันมีบทความแสดงความไม่เห็นด้วยแต่เฉพาะแกนนำพันธมิตร หลายบทความ แกนนำก็จะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมเคยอ่านทีหนึ่งแกเขียนว่า มวลชนในพันธมิตรนั้นไม่ผิด แต่แกนนำนั้นผิด ซึ่งอันนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วย

เล่ม 2
นำทีมโดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ผมเคยอ่านเล่มเกี่ยวกับ สฤษดิ์ ซึ่งหลายสำนักให้ความเห็นตรงกันว่า เล่มนั้นเป็นเล่มที่ดีที่สุดในเรื่อง สฤษดิ์ ลองหาอ่านได้ครับ / อีกท่านหนึ่งจะเด่นทางด้านภาษาศาสตร์ เข้าใจว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินมาบ้าง ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ / เล่มนี้จะมีบทความเรื่องอัตลักษณ์ของคนในสังคมพอควร ที่ผมเห็น เพราะมันมีหลายบทความเป็นเรื่อง ชาวเพศที่ 3 และผู้สูงอายุ อะไรประมาณนี้ครับ / บทความอื่นที่น่าสนใจ ก็เช่น เรื่องของ มาคิอาเวลลี, เดอ แชร์โต เป็นต้น

เล่ม 3
เล่มนี้ บทความที่ผมถูกใจนะ เหอๆ แค่เห็นชื่อนะครับ อย่าพึ่งเข้าใจเป็นอื่น เช่น การเมืองอิสลามในโลกมุสลิม - ขบวนการฮามาส, ลีโอ สเตร๊าส์ กับการต่อต้านรัฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์และการทำการเมืองให้เป็นปรัชญา, ทฤษฏีวิพากษ์ แห่งสำนักแฟรงก์เฟิร์ท และ การสำรวจวรรณกรรมเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เล่ม 4
เล่มนี้บทความหลากหลาย และน่าสนใจครับ เช่น อาหารที่ดี อาหารไม่ดี อาหารขยะ และอาหารฟาสต์ฟูด ในสายตาของคนกรุง, ตำราอาหารชาติไทย ว่าด้วยภาพสะท้อนความเป็นไทยในตำราอาหารไทยร่วมสมัย, อีแร้งในผ้านุ่ง ความทรงจำวัยเยาว์ของ Leonardo da Vinci และ ความต่อเนื่องและการตัดขาด ว่าด้วยความแตกต่างของ "พังค์" รุ่นแรกสุดในนิวยอร์กและลอนดอน บทความหลังนี่ ถ้าผมจำไม่ผิด แม้กระทั่งสเกลและความแรงของเพลงก็ต่างกันนะครับ เนื้อหาแนวทางรายละเอียดก็ต่าง จนคุณจับรายละเอียดได้เลยว่า มาจากฝั่งไหนของ แอตแลนติก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น