วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐกิจต้องรู้


เศรษฐกิจต้องรู้
ศุภวุฒิ สายเชื้อ และ ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง
สนพ. มติชน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jul 28 2009, 08:36 PM

บางทีอาจเหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เล่มนี้น่าจะเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นมากที่สุด เพื่อจะนำไปสู่บทเรียนที่หนักยิ่งขึ้น บางคนอาจคิดว่า เรื่องเศรษฐกิจไกลตัว รู้ไปก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือน "เลขไม่จำเป็นต้องเรียนมาก แค่บวกลบคูณหารเป็นก็ใช้ได้แล้ว" ในแง่หนึ่งก็ถูก แต่ในอีกแง่หนึ่งเราลืมไปว่า ของทุกอย่างล้วนนำไปหาสิ่งอื่นที่ดีขึ้นได้ อย่างเลข นำไปหา อวกาศ, ระเบิด แม้กระทั่งสูตรขนมได้ / เล่มนี้เป็นการนำเอาเรื่องเศรษฐศาสตร์มาย่อย พร้อมยกตัวอย่างแบบทันเหตุการณ์ บวกการเขียนที่ใช้ภาษาไม่ยากไม่วิชาการมาก ทำให้ทำความเข้าใจและเห็นประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอได้รวดเร็ว บอกตรงๆค่อนข้างอ่านเพลินด้วยซ้ำ โดยนำเสนอผ่าน 6 ส่วนหลัก และบทย่อยอีกหลายบท แม้เน้นไปที่ การแข่งขันอย่างเสรีและแบบทุนนิยม (ซึ่งผู้เขียนเกริ่นในบทนำแล้วว่า หมายถึงการแข่งเสรีเพื่อผู้บริโภคไม่ใช่เข้าข้างผู้ผลิต) แต่ก็นำเสนอด้านอื่นให้เห็นภาพคู่ขนานด้วย บางอันอาจดูลำบากใจสำหรับคนขวัญอ่อนไปบ้าง และบางกรณีอาจรับได้ยาก แต่ยังคงน่าสนใจและน่ารู้ไว้

ในส่วนแรกพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจของไทย เห็นภาพมากขึ้นว่าเราพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการ (รวมท่องเที่ยว) มากขนาดไหน (ปี 2003 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70.5% ของจีดีพี ตามตัวเลขธนาคารโลก ให้ใกล้ก็ เกาหลีใต้ 36% ทั่วโลกประมาณ 23.9%), การเติบโตของภาคเกษตรเทียบกับ จีดีพี ลดลงขนาดไหน และส่งผลถึงปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้าในภาคเศรษฐกิจของไทยเพียงใด ซึ่งแน่นอนมันนำไปสู่คำถามเรื่องทุนต่างชาติ แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็ตั้งคำถามว่า เราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าหรือไม่ (ในแง่เทคโนโลยีและความรู้พื้นฐานอีกหลายอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา) เพราะคนส่วนหนึ่งไม่อยากก้าวเพราะคิดว่าที่ยืนอยู่นี่ก็ดีแล้ว งั้นจึงน่าทำความเข้าใจเรื่องทุนต่างชาติกันนิดน่าจะดี ว่าต้องการกันไปทำไม / ในส่วนแรกนี้ปิดท้ายด้วยเรื่องอาเซียนที่น่าสนใจแม้จะเก่าไปบ้างแต่ ไกด์ได้เห็นภาพชัด

ส่วนที่ 2 "ความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค" - ส่วนตัวผมว่าน่าสนใจสุดๆ บทที่ว่าก็เช่น เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังต่างกันอย่างไร, การควบคุมเงินเฟ้อกับนโยบายการคลัง และแนวโน้มดอกเบี้ย รายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ได้ความรู้ใหม่ๆเพียบ สมกับคำว่าโลกนี้กว้างใหญ่นัก แถมน่าจะเห็นภาพและเข้าใจการทำงานของทั้งรัฐบาลและแบ็งค์ชาติมากขึ้น (ถ้าใครจำกรณี เรื่องขึ้นดอกเบี้ยของแบ็งค์ชาติเมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องแนวคิดจริงๆ เหมือนตอนนี้ผู้ว่าการ ออกมาพูดว่า เงินบาทไทยไม่แข็งค่ามากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่...และต่างชาติมั่นใจไทยเงินทุนจึงไหลเข้าเยอะ ส่วนหนึ่งถูกแต่ไม่ทั้งหมด อ่านเสร็จน่าจะพอเข้าใจ) และแน่นอนเห็นภาพอีกด้านของสงครามโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องปากท้องชาวเรา ที่มีทั้งชมกันและด่ากันไปมา

ส่วนที่ 3 "มุมมองเศรษฐกิจโลก" - บทนี้เป็นการเรียนในเรื่องกว้างๆของเศรษฐกิจโลกและความเป็นไป ซึ่งน่าสนใจและทำให้เข้าใจบางอย่าง เช่นเรื่องตลาดเสรี, อัตราแลกเปลี่ยนกับนโยบายการเงิน, ระบบนายทุน, เรื่องอุปสงค์ของโลก (ผมชอบประโยคหนึ่ง "โลกยุคใหม่นี้จึงดูเสมือนว่าจะมีผู้ที่อยากผสิตมากกว่าผู้ที่อยากบริโภค" ทำไมถึงชอบ เห็นชัดมากเลยว่าของทุกอย่างที่เราอยากได้ ทยอยเปิดตัวกันแทบทุกวัน แล้วใครๆก็อยากมีกิจการของตัวเอง ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร, ร้านของหวาน, ธุรกิจขายตรง มีมากมายเป็นดอกเห็ดจนไม่รู้ใครจะมาใช้บริการหมด แล้วลืมกันไปว่าของมันมีจำกัด....อันนี้ละเอียดและต้องพิมพ์ยาว เหอๆขอ งด) ปิดท้ายบทด้วยเรื่องธรรมาภิบาล

ส่วนที่ 4 "น้ำมัน ค่าเงิน และหนี้เสียของสหรัฐ" - จะเห็นว่าหลายๆตอนในเล่มนี้เน้นเป็นพิเศษเรื่องค่าเงิน เพราะว่ามันส่งผลกระทบลึกและกว้างมากนั่นเอง อย่างน้อยก็ส่งผลถึงดอกเบี้ยเงินกู้บ้านกู้รถของใครหลายคน และส่งผลถึงเงินในอนาคตของพ่อแม่มือใหม่อีกหลายท่าน / ส่วนเรื่องน้ำมันก็น่าอ่านมีหลายตอน แต่ไม่ยากและเห็นภาพพอควร / หนี้เสียเป็นอะไรที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง เพราะลักษณะเช่นนี้ไม่มีทางเกิดครั้งเดียวและเกิดกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น อันนี้ทำให้ผมนึกถึงคุณ Bernard Madoff ที่ทำให้แชร์แม่ชม้อย กลายเรื่องขายขนมของเด็กเล็กไปเลย เพราะเสียหายถึง 65,000 ล้านเหรียญ มากกว่า และกว้างกว่าอย่างที่เทียบกันไม่ได้เลย

ส่วนที่ 5 "เศรษฐกิจจุลภาค" - บทนี้คือบทที่พึงอ่านด้วยความระมัดระวังและเปิดใจเปิดสมอง เป็นอย่างยิ่ง เพราะอะไรเพราะว่า หลายเรื่องมีการนำมาเป็นประเด็นการเมืองมาก่อนหลายเรื่องผ่านการคัดกรองด้วยระบบโฆษณาชวนเชื่อและข่าวลือมาก่อนอย่างหนัก เชื่อว่าถ้าท่านอ่านอย่างใคร่ครวญน่าจะได้อะไรอีกหลายประการ และอีกครั้งไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือเห็นด้วย แต่อย่างที่บอกไป เศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยเอาอารมณ์มาเป็นปัจจัย บางครั้งจึงอาจขัดใจ แต่ข้อมูลที่ผู้เขียนยกมาก็ดูน่าสนใจ น่าอ่าน และน่าคิดตาม

ส่วนที่ 6 "จุดอ่อนของระบบทุนนิยม" - บทนี้ในแง่หนึ่งใช้คิดทบทวนและประเมิน เรื่องราวเก่าๆ จริงอยู่บางคนว่ามีแต่คนแก่คิดแต่เรื่องเก่าๆแต่เรื่องนี้น่าคิดจริงๆ หลายประเด็นเหมือนที่เราประสพตอน ฟองสบู่ครั้งแรกแตก ทำให้หลายคนที่ผมรู้จักบางครั้งเกิดอาการ "เสียว" เมื่ออะไรก็ตามสวยงามเกินจริง เช่นมีช่วงหนึ่ง อสังหาบ้านเรากลับมาบูมขนาดหนัก เราหลายคนเชื่อกันว่ามันจะร้อนแรงไม่มีหยุด ทุกคนคุยกันสนุกสนานถึงโปรเจคและงานมากมาย หลายคนที่มีอายุหน่อยเริ่มกังวล "ดูไบ" ที่ครั้งหนึ่งใครหลายคนคิดว่างานจะไม่มีวันหมด เริ่มโดนเหมือนกัน ล่าสุด "ดูไบ" ต้องขอความช่วยเหลือจาก "อาบูดาบี" ในรูปพันธบัตรรัฐบาลปริมาณมหาศาล เพื่อเอาไปใช้หนี้แต่ "อาบูดาบี" จะเข้ามามีส่วนในการบริหารงานแทน ว่ากันว่า "อาบูดาบี" ค่อนข้าง อนุรักษ์นิยมกว่า ซึ่งอาจส่งผลใน "ดูไบ" ได้ / ในส่วนนี้ก็ยังมีอีกหลายบทที่น่าระลึกตาม

ผมเคยได้ยิน คนแก่บางคนคุยกันว่า ค่าเงินบาทไม่เกี่ยวกับชีวิตเรา หรือพิธีกรเวทีพันธมิตร เคยกล่าวในช่วงแรกๆว่าการชุมนุมไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเพราะมันตกอยู่แล้ว หรือผู้ชุมชุมอีกกลุ่มกล่าวว่า หากอดีตนายกกลับมาทุกอย่างจะดีขึ้น ทุกอย่างเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งเหมือนกัน "ความเชื่อมั่น" ต่างคนต่างเชื่อมั่นไปคนละอย่าง แต่โดยรวมแล้วความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจการเมืองและชาวบ้าน ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงค่าเงิน, การจ้างงาน, เงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ยและอื่นๆ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าบางความเชื่อมั่น ดีหรือเลว ผมว่านี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ คือไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวไปร่วมตัดสิน (บางครั้งผมก็มองว่า สถาปัตย์ ก็ด้วยนะแต่เป็นแค่บางครั้งนะ) การฉุกคิดว่าทุกเรื่องล้วนเกี่ยวพันกัน ทำให้การหาความรู้เพิ่ม ก็น่าจะสนุกดีเหมือนกัน ล่าสุดสภาพคล่องของธนาคารในไทยเริ่มมีอาการบ้างแล้ว...........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น