วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทพิจารณ์ว่าด้วย วรรณกรรมการเมืองและประวัติศาสตร์


บทพิจารณ์ว่าด้วย วรรณกรรมการเมืองและประวัติศาสตร์
สมบัติ จันทรวงศ์
รางวัล TTF Award เกียรติยศ (มูลนิธิโตโยต้า)
สนพ. คบไฟ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Jul 4 2009, 06:45 PM

เล่มนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ความหนา 625 หน้า (ถือว่าค่อนข้างเป็นอาวุธชั้นดีและอุปกรณ์ชั้นเยี่ยมในการหนุนนอน) แบ่งออกเป็น 12 บท หลายบท เคยพิมพ์แยกเป็นหนังสือ มาแล้วในเครือมติชน / เล่มนี้นำเสนอวรรณกรรมและผู้เขียนหลายท่านที่น่าสนใจว่าด้วย การเมือง ถึงจะไม่เจาะลึกมากในบางหัวข้อ แต่ถือว่าเป็นการเปิดประตูอีกฝั่งให้คิดตามหรือตั้งคำถามในประเด็นต่อเนื่องได้ดี / วรรณกรรมในอดีตและปัจจุบันจำนวนไม่น้อย ล้วนรับใช้ผลประโยชน์แฝงทางการเมืองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น รามายณะ ก็ถือว่ามีประเด็นการเมืองแอบแฝง ส่งผลถึงความเชื่อของคนอินเดีย (และอีกหลายประเทศ)ได้ยาวนาน หรือ สามก็ก ที่ส่งผลอย่าง กว้างขวางต่อคนจีน และประเทศที่รับอิทธิพลจากจีน

แต่อย่างหนึ่งเราต้องยอมรับก่อนว่า ทั้งในสังคมตะวันตกในยุคแรกๆ หรือในสยาม วรรณกรรมเป็นของชนชั้นสูง ภาษาเขียนสงวนไว้สำหรับชนชั้นเจ้านาย (ของตะวันตกก็อย่างที่รู้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อกำเนิดแท่นพิมพ์ กูเตนเบิร์ก ของบ้านเราจะเน้นไปที่สมุดไทยในสมัยแรกๆ ทำให้ไม่ใช่ใครก็ได้ ที่จะมีโอกาสจ้างคนให้คัดลอก และซ้ำร้ายคือ มีคนอ่านออกน้อยมากๆ) อย่างดีที่สุดที่เราได้คือมุมมองต่อการเมืองของชนชั้นสูง แต่ถ้าอยากได้แบบ บ้านๆก็ต้องดูไปที่วรรณกรรมพื้นบ้าน หรือเชื่อว่าเป็นพื้นบ้าน ถ้าในเล่มนี้ก็เริ่มกันที่บทสุนทรภู่ และบทศรีธนญไชย แล้วในวรรณกรรมประเภทอื่นๆล่ะ ความซับซ้อนจะไปถึงไหน มันจะสื่อสังคมของเราไปในทางใด

- บทวิเคราะห์การศึกษาการเมืองในงานเขียนประเภทนิทานของสุนทรภู่

นิทานพื้นบ้าน และวรรณคดีประเภทจักรๆวงศ์ๆ มักเป็นไปในทำนองเดียวกันซะมาก แกนหลักจะเป็น เจ้าชาย, ของวิเศษ, สัตว์วิเศษ, ต้องจากเมือง หรือได้อาจารย์สอนวิชาดี เป็นต้น เราอาจมองได้ว่าเพราะสังคมการเมืองในสมัยก่อนเป็นแบบปิด ผู้มีสิทธิมีน้อยเลยพลอยทำให้เรื่องราวต่างๆเหล่านี้ห่างไกลจากความจริงทั้งในแง่การรับรู้ หรือการมีส่วนรวมของคนทั่วๆไป การนำเสนอจึงต้องไปในทางนั้น เมื่อดูๆไปงานของ สุนทรภู่มีหลายชิ้นที่เป็นในทำนองนี้ แถมบางชิ้นยังโดดเด่นทั้งแง่การนำเสนอและความคิด และดูเหมือนว่าความนิยมในงานของ สุนทรภู่ จะมาจากคนทุกชนชั้นและมีอยู่ทุกสมัยไม่เสื่อมคลาย (น.5) ถ้าเราสามารถยึด สุนทรภู่ ว่าเป็นหนึ่งในตัวแทนของคนต้นยุครัตนโกสินทร์ได้ (เป็นพุทธศาสนิกชนแบบไทยๆ เชื่อเรื่องบาปกรรม) น่าจะพอให้ภาพบางอย่างได้ สุดท้ายสุนทรภู่เป็นสามัญชนที่เป็นทั้งกวีเอกและผู้อยู่ใต้ปกครอง ที่ถูกภัยการเมืองมาแล้ว(น.7) ทำให้งานของสุนทรภู่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในฐานะคนวงใน

บทความนี้นำเอางานเด่นๆ ของ สุนทรภู่ มาวิเคราะห์ ถึงการแสดงออก, ความคิดและความเชื่อทางการเมือง ทั้งจากมุมมองผู้คนในสมัยนั้น (ทั้งล่างและบน) และมุมมองของสุนทรภู่เองที่มองการเมือง หลายมุมมีความแปลก และน่าอ่านมากๆ โดยผู้เขียนมีการยก บททั้งกาพย์กลอน มาประกอบการตีความ ทำให้อ่านแล้วเห็นประเด็น และเห็นมุมที่ผู้เขียนนำเสนอ ได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง อ่านเสร็จแล้วจะมองสังคมไทยแบบตั้งคำถามมากขึ้น แน่นอน

- คำสอนทางการเมืองของวัน วลิต ( เยเรเมียส ฟอน ฟลีท) หรือวิเทโศบายของพระเจ้าปราสาททอง

เยเรเมียส ฟอน ฟลีท เป็นคนฮอลลันดา ที่เข้ามาในสยามครั้งแรกในตำแหน่งรองนายวาณิช ของบ.อีสต์อินเดีย แห่งฮอลลันดา และดูเหมือนว่าเขาจะใช้การเขียนหนังสือเกี่ยวกับอยุธยา (หรือสยาม) ในการเลื่อนตำแหน่งงาน โดยเขาเขียนออกมา 3 เล่ม (การพรรณนาเรื่องราชอาณาจักรสยาม, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และจดหมายเหตุวันวลิต) ทุกครั้งที่เขียนเสร็จและใส่คำอุทิศให้เจ้านาย หรือเสนอเจ้านายเรียบร้อย ก็จะเลื่อนขั้นทีหนึ่ง เล่มที่สำคัญและมีการอ้างถึงบ่อยๆ คือ จดหมายเหตุวันวลิต ซึ่งเป็นการกล่าวถึงสมัยปลาย พระเจ้าทรงธรรมมาจนถึง สมัยพระเจ้าปราสาททอง แม้ฟอน ฟลีท ไม่ได้อยู่ตอนเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ก็อยู่ในกรุงศรีอยุธยาในช่วงต้นๆของสมัยพระเจ้าปราสาททอง / พัฒนาการด้านความคิดเห็นของ ฟอน ฟลีท ต่อพระเจ้าปราสาททองก็เปลี่ยนไปตามหนังสือที่เขาเขียนด้วย คือ เริ่มจากไม่ชอบและเขียนถึงแบบเสียๆหายๆ มาเป็นจะว่าชื่นชมก็คงบอกยากแต่ มีความเข้าใจและเชื่อมั่นแนวทางในทางการเมืองของพระเจ้าปราสาททองมากขึ้น มันก็น่าสนใจในแง่ที่ความเห็นของผู้เขียนจะเปลี่ยนไปขนาดนี้ เช่น ในงานเขียนชิ้นแรก ฟอน ฟลีท เรียก พระเจ้าปราสาททองว่า ผู้ช่วงชิงอำนาจของผู้อื่น เสมอ (แม้พระเจ้าปราสาททองจะไม่รู้ก็ตาม.....รู้คงโดนตัดหัวแน่ เหอๆ)

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือไม่ใช่แค่ มุมมองต่อพระเจ้าปราสาททองเท่านั้นที่ออกมาดูแย่ในสายตา ฟอน ฟลีท เพราะเขาใช้มาตรฐานตะวันตกสมัยนั้นในการมองและตัดสินเหตุการณ์ (จริงๆก็ไม่แปลก เพราะใครๆก็ต้องใช้ความเคยชินในตอนแรกกันทั้งนั้น) แม้ในส่วนทัศนะต่อชาวสยามก็ไม่เว้นด้วย / คำถามว่าทำไมมุมมองถึงเปลี่ยนจากไม่ยอมรับวิธีของพระเจ้าปราสาททองมาเป็นยอมรับได้ แล้ววิธีการของพระเจ้าปราสาททองก็ อย่างที่หลายคนรู้ คือไม่ได้ใสซื่อและยุติธรรมอะไร เอาง่ายๆแค่การขึ้นครองราชย์ หรือปีที่สร้างวัดไชยวัฒนาราม กับเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้านั้น จนน่าเชื่อว่าท่านอาจจงใจสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นได้ หรือการแอบตั้งคำถามถึงเหล้าเก่าเก็บ สองขวดว่าจะทำยังไงดีกับขุนนางที่มาชุมนุมกันที่ท้องพระโรง เป็นต้น (ฉลาดร้ายมาก)อยากให้ลองอ่านดูแทน เพราะค่อนข้างยาวนิดแถมอ่านเสร็จมีอึ้งแน่ แต่ผมเห็นด้วยในแง่หลักการและวิธีการของพระเจ้าปราสาททอง เพียงแค่ผมไม่อยากอยู่ใกล้คนอย่างนี้เลย เหอๆ ฉลาดและโหดจนเกินไปอีกประการทั้งงานของ ฟอน ฟลีท และเหตุการณ์ ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีความ แหลมคมทางความคิดไม่น้อยและซับซ้อนมากเลยทีเดียว

- ศรีธนญไชย : ความคิดเรื่องอำนาจ ปัญญา และความหมายทางการเมือง

ศรีธนญไชย ฉบับแท้จะเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้แต่งไม่อาจหาคำตอบได้แน่นอน แต่ที่แน่นอนคือมีการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ไม่น้อยกว่า 16 ต้นฉบับ ในบทความนี้เลือกมาจาก 4 ต้นฉบับ ได้แก่ ศรีทะนนไชย สำนวนกาพย์ (เชื่อกันว่าเป็นสำนวนเก่ามากฉบับหนึ่ง), เสภาเรื่องศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง, "ศรีธนญไชย" จอมปราชญ์ ฉบับสมบูรณ์ของวรวรรณ (เป็นฉบับที่เป็นตัวแทนของฉบับที่มีการต่อเติมอย่างกว้างขวาง) และหนูชอบเชียงเมี่ยง (เป็นการดัดแปลงให้เป็นร้อยแก้วจากฉบับข้างต้น) โดยเนื้อหาแล้วต้นกำเนิดของตัวละคร อย่าง ศรีทะนนไชย หรือศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง จะมีความคล้ายคลึงกันในหลักใหญ่ๆแต่ต่างกันที่รายละเอียด รวมถึงในเนื้อหาบางตอนด้วย แต่แกนกลางของเรื่องคือ ว่าด้วยปัญญา, การแก้ปัญหา และการท้าทายอำนาจของผู้ที่อยู่เหนือกว่า

ในเสภาเรื่องศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง มีการพาดพิงถึงภาระหน้าที่ของผู้มีปัญญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับชุมชน คือการกู้พาราอยู่ด้วย เป็นการกู้โดยใช้ความคิด, เป็นการใช้ความคิดเพื่อบิดวาที, เป็นปัญญาที่จะคิดบิดเบือนความหมายของคำพูดเป็นหลัก อีกทั้งการปูเรื่องมีการเน้นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของการประพฤติตามกรอบประเพณีเดิม (ขนบประเพณีในสังคม) อยู่มาก ซึ่งจริงๆก็ดีนะในความคิดผม ทำให้ไม่ออกนอกลู่เกินไป (แม้ในช่วงแรกๆจะเหมือนเป็น การสู้กันของความคะนองปัญญาก็ตาม) แต่ในขณะเดียวกัน ในฉบับที่เราได้ยินกันบ่อยๆของฉบับศรีทะนนไชย ที่มีตอน เอาน้องไปผ่าท้องล้างไส้ให้สะอาด (ไม่มีในฉบับศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง) ผมกลับมองว่า ฉบับศรีทะนนไชย พูดตามจริงคือโหดและดูร้ายฉลาดแกมโกง กว่าฉบับศรีธนญไชยเชียงเมี่ยงมากๆ แถมไม่ค่อยมี กรอบที่ว่าปรากฎนัก / สิ่งที่บทความนำมาเปรียบเทียบกันจึงน่าจะทำให้ผู้อ่านเห็นประเด็นพวกนี้ชัดขึ้นที่ไม่ใช่แต่สนุกอย่างเดียว

- พระญาจักรพรรดิราชในไตรภูมิพระร่วง : ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความหมายทางการเมือง

วรรณกรรมศาสนา เป็นวรรณกรรมที่มีความละเอียดซับซ้อน และส่งผลกว้างกว่า วรรณกรรมทั่วๆไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดความชอบธรรมในการปกครอง ให้จารึกลงไปในจิตสำนึกของประชาชนข้ารับใช้แต่ละคน แล้วถ้ายิ่งเป็นสมัยก่อนแล้ว ความชอบธรรมนี้ยิ่งมีความสำคัญและซึมลึกอย่างยิ่ง หลายๆครั้งน่าจะกำหนดการคงอยู่หรือการล่มสลายของผู้ปกครองด้วยซ้ำไป / ยกตัวอย่างทั่วไปอย่างปรัชญาทางการเมืองไม่ว่าตะวันตก หรืออหรับ หรือเอเชีย (เขมร,อินเดีย) ต่างก็อ้างศาสนาด้วยกันทั้งนั้นและทุกๆข้อเขียนเหล่านั้นก็ แทรกทัศนะทางการเมืองของแต่ละคนลงไป (ไม่ว่าจะเป็นเทพ, บุตรของพระเจ้า หรือผู้มีบุญ ใดๆก็แล้วแต่) เพื่อสร้างความชอบธรรมและระเบียบในการควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา แม้กระทั่งในปัจจุบัน ถ้าเรามองดูดีๆ ก็จะพบสิ่งเหล่านี้แทรกตัวอยู่เช่นกันเพราะการอ้างความชอบธรรมที่ดีที่สุดก็คือ ศาสนา+ความเชื่อ นี่แหละ

ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ โดย พระเจ้าลิไท ขณะทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย โดยในบทความนี้พยายามเสนอความเห็นกว้างๆ เกี่ยวกับคำถาม 2 คำถามในความหมายทางการเมือง 1. ผู้นิพนธ์ ไตรภูมิพระร่วง มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการเขียนงานชิ้นนี้หรือไม่ และ 2. ถ้ามีวัตถุประสงค์ อะไรคือ "ข่าวสาร" ทางการเมืองที่พยายามเผยแพร่ / รายละเอียดและเหตุผลของผู้เขียนมีเยอะพอควร แต่ไม่ถึงกับยากมากในการทำความเข้าใจ หลังอ่านเสร็จแล้ว น่าจะเห็นอิทธิพลทางความคิดที่ยังหลงเหลือมาถึงในรุ่นของเราได้ชัดเจนขึ้น (เหลือมาจริงๆครับไม่ได้เล่นคำ.....จริงๆเหลือเยอะกว่าที่ใครหลายคนอาจจะคิดด้วยซ้ำไป....พูดถึงความสำเร็จแล้วผมว่าได้ตามเป้า) จริงๆอยากกลับไปอ่านซ้ำอีกรอบ เพราะเคยอ่านตอนมัธยม (ถ้าจำไม่ผิดมี 3เล่ม และเล่มที่หนาสุดจะเป็นนรก แต่บทความนี้บอกว่าไม่ใช่) แต่ก็อ่านเพราะความแปลกและสนุก (ว่างขนาดนั่งคำนวณขนาดนรก แล้วเอาพวกนิยามของเปรตไปด่าเพื่อนขำๆ เหอๆ เวงจริงๆ) ไม่ได้อ่านเพราะต้องการตีความ แต่หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ผมว่าน่าสนใจครับ ยังมีประเด็นให้อ่านอีกเยอะ (แม้กระทั่งนิยามของเปรต)

- ราชนีติ : บทวิเคราะห์

เชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์โบราณ มี 153 คาถา เขียนโดยพราหมณ์ สองคน คือ พราหมณ์อนันตญาณ และพราหมณ์คณามิสสกะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนกษัตริย์ (บางคนเชื่อว่ามีการใช้เป็นหลักในการปกครองของกษัตริย์ไทยสมัยโบราณจริง) ครอบคลุมทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม แต่เราไม่อาจรู้แน่ว่าเขียนขึ้นสมัยใด และเราก็ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผู้รจนา ทั้งคงจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลายครั้งซึ่งผู้เขียนท่านว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับงานประเภทนี้ในสมัยพุทธกาล ผู้ศึกษาบางท่านเห็นว่า ราชนิติขัดกับหลักศาสนาพุทธแต่ผู้เขียน เสนอว่าแท้จริงคือ เป็นคำสอนที่มีลักษณะทางพราหมณ์ โดยมีคำสอนหรือศัพท์ทางพุทธศาสนาแปลกปลอมเข้ามา และจริงๆแล้วอาจไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่เอาเข้ามาเติมเต็มกันแทนก็เป็นได้

ในราชนิติ หัวข้อใหญ่จะถูกเชื่อม หากันด้วยบทคาถา ซึ่งบางหัวข้อก็มีคาถาเกี่ยวข้องหลายบท ลองดูหัวข้อและคาถาที่ยกมาตามที่ผู้เขียนอ้างอิงมาไว้แบบคร่าวๆ
- วัตถุประสงค์ของราชนิติ -
(ข้าพเจ้าจะแสดงราชนิติศาสตร์ที่เห็นประโยชน์ทันตา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการขยายพระราชอาณาจักร...คาถาบทแรก) คำว่า "ประโยชน์ทันตา" นี่สะดุดใจมาก
- รูปแบบการปกครอง -
(พลเมืองไม่มีผู้นำก็พินาศ มีผู้นำมากก็พินาศ มีหญิงชั่วเป็นหัวหน้าก็พินาศ มีคนหนุ่มขมองใสเป็นหัวหน้าก็พินาศ...คาถาบทที่150) ผมเน้นว่าแปลแบบอ้อมๆน่าจะเห็นภาพดี
- ธรรมของกษัตริย์ -
(ประเทศเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ กษัตริย์พระองค์ใดปกครองโดยธรรม ก็จะได้ประโยชน์จากความมั่นคงและผลของต้นไม้นั้น..คาถาบทที่141)
- การรักษาความสงบสุขภายใน -
(เจ้า1 ข้าเฝ้าที่คล้อยตามเจ้า1 ประเทศมีคนดี1 คูมีลักษณะข้ามยาก1 ลงโทษตามโทษานุโทษ1 คลังมีทรัพย์สมบัติมิรู้สิ้น1 มิตรที่เป็นเพื่อนในยามวิบัติ1 นี้นักปราชญ์ฝ่ายนิติศาสตร์ กล่าวว่าเป็นความสงบ 7 อย่าง .....คาถาบทที่ 25)
- การขยายอาณาเขต -
(พึงแบกศัตรูไว้บนบ่าตราบเท่าที่โอกาสยังไม่ได้ แต่เมื่อได้โอกาสต้องรีบทำลายเหมือนทุบหม้อดินที่หินฉะนั้น.....คาถาบทที่99) อันนี้แหละที่ดูขัดกับแนวพุทธ

คิดว่าน่าจะเห็นภาพคร่าวๆในการอ่านเพิ่มเติม

- มหาชาติคำหลวง : ความหมายทางการเมือง

มหาชาติคำหลวงคือ เรื่องของพระชาติที่เป็น พระเวสสันดร อันเป็นชาดกเรื่องที่ 547 จาก 550 เรื่อง ในนิบาตชาดก (มีลักษณะเป็นนิทานโบราณ เชื่อกันว่ามีมาก่อนพุทธกาล) ลักษณะการแต่งชาดกจะมีทั้งส่วนที่เป็นคาถาและคำอธิบายที่เป็นร้อยแก้ว การจัดแบ่งชาดกในพระสูตรก็จะจัดแบ่งเป็นหมวดๆเรียก นิบาต เรื่องที่เกิน 80 คาถาจะเรียกว่า มหานิบาตชาดก ซึ่งมีอยู่ 10 เรื่อง มักนิยมเรียกกันว่า พระเจ้าสิบชาติ และในนั้น เวสสันดรชาดกถือเป็น ชาติสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า จึงเรียกกันว่า "มหาชาติ"

มหาชาติภาษาไทยที่เก่าที่สุดที่มีในปัจจุบันคือ มหาชาติคำหลวง ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีรับสั่งให้ประชุมราชบัณฑิต ในอยุธยาแปลขึ้น แต่ทำไม มหาชาติคำหลวง จึงได้รับยกย่อง ให้เป็น "คำหลวง" (ในพระราชอุปถัมภ์) ผู้เขียนเสนอว่า อาจมีเหตุผลอื่นนอกจากศาสนา โดยเฉพาะด้านการเมือง ทำให้เราต้องทำความเข้าใจกับบริบทการเมืองในสมัยนั้นประกอบ จริงๆแล้วถ้าลองอ่านในแง่การแทนชื่อด้วยพระนามของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ลงในบริบทเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะเข้าใจมากขึ้น และควรอ่านคู่เปรียบเทียบกับ วรรณกรรมสมัยสุโขทัยอย่าง ไตรภูมิพระร่วง ด้วยจะยิ่งน่าสนใจขึ้น อย่างที่ผมเกริ่นว่าผลกระทบของวรรณกรรมเชิงศาสนาเหล่านี้กระทบในเชิงลึกมากกว่าที่เราคิดมากเช่น เราอาจเคยได้ยินหลายคนพูดถึงเหตุที่ ทำไมคนอื่นได้ดีกว่า, ทำไมเราเงินเดือนไม่ขึ้นเหมือนคนอื่น ว่าเป็นเพราะชาติก่อนหรือกรรมเก่าหรือทำบุญ นั่นคือผลกระทบจากวรรณกรรมเหล่านี้ที่เห็นง่ายๆ ถ้าในเชิงลึกก็ลองยกเองน่าจะเห็นภาพมากขึ้น ส่วนในบทความรายละเอียดที่ได้น่าสนใจพอตัวทีเดียว

- ธรรมชาติและประเพณี : พื้นฐานความคิดทางสังคมของศรีปราชญ์

ศรีปราชญ์ เชื่อกันว่าเป็นกวีเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่องที่เล่าต่อมากล่าวว่าแววทางกวีเอกปรากฎขึ้นเมื่อ ศรีปราชญ์ อายุได้ 9 ขวบ เมื่อ ศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงสี่สุภาพที่ สมเด็จพระนารายณ์ แต่งค้างเอาไว้แล้วให้ พ่อของศรีปราชญ์ ที่เป็นกวีราชสำนักมาแต่งต่อ แต่พ่อแต่งต่อไม่ได้ และศรีปราชญ์สามารถแต่งได้เป็นที่โปรดปรานยิ่งของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งแม้ว่าพ่อจะภูมิใจแต่ก็เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ที่ไปแต่งโคลงของพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งนิสัยนี้เป็นอันตรายได้ในภายภาคหน้า เลยไปขออภัยโทษไว้ล่วงหน้าว่า ต่อไปภายหน้าถ้า ศรีปราชญ์เข้ารับราชการแล้วมีโทษถึงตาย ก็ขอให้ลดหย่อนโทษเป็นเนรเทศ

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤาริ้นพลาย ลอบย้ำ
---------------------------------------ศรีปราชญ์ แต่งต่อว่า
ผิวชนแต่จะกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

ซึ่งดูแล้วผู้เขียนกลับเห็นว่า ศรีปราชญ์ แม้จะเด็กก็มีความคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางฐานะ ระหว่างสตรีในวังกับคนธรรมดานอกวังอยู่แล้วถึงได้แต่งดังนี้ และแม้ว่ากวีไทยคนสำคัญๆมักมีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่า ในเชิงกวีแล้วตนไม่เป็นรองใครแม้ คนผู้นั้นจะมีศักดิ์หรือสกุลหรืออำนาจสูงกว่านี้ก็ตาม ในแง่ของศรีปราชญ์เองผู้เขียนกลับเห็นต่างออกไป / ในประเด็นของบทความ ผู้เขียนใช้การยกตัวอย่างของบทกวี และชีวประวัติบางตอนของ ศรีปราชญ์มาประกอบเพื่อให้เห็นภาพพื้นฐานความคิดได้ชัดขึ้น แม้จะเป็น บทความสั้นๆแต่ก็อ่านเพลินไม่น้อย

- เวนิส วาณิช : ความรักกับสังคมการเมือง

ทำไมรัชกาลที่ 6 จึงทรงเลือกแปลวรรณกรรมนี้ เป็นฉบับภาษาไทยเป็นเรื่องแรกของพระองค์ ทั้งๆที่มีคนเคยแปลก่อนหน้ามาแล้ว จะเป็นเพราะแค่ความถูกต้องของการแปล เพียงอย่างเดียว หรือทรงมีแนวความคิดใดซ่อนอยู่ และนั่นหมายถึงบริบททางสังคมในช่วงนั้นด้วยหรือไม่ เรารู้ว่าวาทะเรื่องชาติ เริ่มปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนครั้งแรกในสมัยของ พระองค์ (ก่อนหน้านั้น ชาติไม่มีตัวตนให้จับต้องได้) รวมถึงวาทะเรื่องรักในชาติ หรือการก่อตั้งหน่วยงานหลายๆหน่วยในสมัยนั้น อย่างกองลูกเสือป่าเป็นต้นที่เกี่ยวพันกับ อุดมคติของ"ชาย" และ"ความรักในชาติและศักดิ์ศรี" แล้วถ้าใครเคยอ่าน "หัวใจนักรบ" น่าจะยิ่งเห็นภาพมากขึ้นในแง่ "รักชาติ" ที่พระองค์พยายามสร้างขึ้น การทำความเข้าใจวรรณกรรมนี้จึงน่าจะให้มากกว่าแค่ความบันเทิงอย่างเดียวอย่างแน่นอน / ส่วนตัวผมเองหลังอ่านเสร็จ ความคิดเกี่ยวกับอันโตนิโย เพื่อนสูงวัยของพระเอกที่เอา เนื้อใกล้หัวใจตัวเองไปคำประกัน เปลี่ยนไปไม่น้อย ทั้งในแง่เหตุและปัจจัย หรือความคิดลึกๆของ อันโตนิโยเอง อีกประการในความรู้สึก (ย้ำ) ผมว่าอันโตนิโย ใช้ประเด็นด้านเพศ เป็นตัวขับดันทั้งการกระทำและเรื่องนี้ (เพราะไม่ค่อยเชื่อว่าแค่ความรักและความสัมพันธ์แบบเพื่อนจะไปได้ไกลขนาดนั้น) คงต้องลองอ่านกันดูแล้วล่ะครับ

- ศาสนากับการเมือง : ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยอุดมการณ์และวิเทโศบายของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

อย่างที่เกริ่นนำไป วรรณกรรมศาสนามีความสำคัญและแทรกตัวในสังคมมาช้านาน ประเด็นในบทความนี้ ตั้งคำถามต่อ ช่วงที่เราเรียกว่าช่วงผลัดแผ่นดิน หรือช่วงเปลี่ยนถ่าย ที่ต่อเนื่องความไม่สงบมาตั้งแต่ปลายอยุธยา มาจนถึงสมัยธนบุรี แล้วมาเริ่มกันใหม่อีกครั้ง สมัยรัตนโกสินทร์ ปัญหามากมายและผลกระทบจากการเสียกรุงนั้นใหญ่มากแม้ผ่านสมัยกรุงธนบุรีมาแล้วก็ตาม จนต้องมีการจัดระเบียบและแก้ไขอย่างแน่นอน ฉะนั้นกุศโลบายและวิเทโศบาย ของชนชั้นนำจึงจำเป็นและต้องแหลมคมอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น

ในบทความจะเน้นไปที่การยกข้อกฎหมายตราสามดวงที่บัญญัติขึ้น ทั้งตอนต้นรัชกาลและตลอดรัชกาลในการวิเคราะห์ประเด็นด้านนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลของกฎหมายที่มีอำนาจในการควบคุมประชาชนและข้าราชการได้ดีกว่าศาสนาเพียวๆ อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถปฏิเสธ การมีส่วนร่วมของศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมได้เลย เพราะพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานที่สำคัญของอุดมการณ์ "ธรรมราชา" และเห็นได้ชัดอีกอย่างคือการมีส่วนในคำเรียกตำแหน่งผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ ว่า"หน่อพุทธางกูร" หรือ "พระพุทธเจ้าอยู่หัว" เพื่อแสดงความเป็นประดุจเชื้อสายของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน ลองอ่านดูจะเห็นว่าละเอียดเพียงใดในพระราชกำหนดต่างๆหรือกฎพระสงฆ์ เพราะพุทธจักรไม่อาจแยกจากอาณาจักรได้เลย

- ความหมายทางการเมืองของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

สมัยต้นรัชกาลที่ 1มีพระราชดำรัสสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย 2 เรื่อง คือ ไซ่ฮั่น (อำนวยการแปลโดย สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระราชวังหลัง) และสามก๊ก(อำนวยการแปลโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน)) ลงในสมุดไทย และต่อมามีการจัดพิมพ์ เป็นครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อาจอำนวยการแปลไม่ตลอด เพราะมีสองสำนวน (อันนี้จะเป็นเหตุผลอีกอย่างได้หรือไม่)

หลายคนอาจจะพอรู้ว่า สามก๊กของไทย (ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)) นั้นต่างจากฉบับของจีน แต่ทำไมถึงต่าง นั่นคือคำถามของผู้เขียน ที่ตั้งขึ้นจากข้อสงสัย หลายประการเช่น อาจเกิดจากการเลือกต้นฉบับ, ความเข้าใจในการแปลทางด้านภาษา (เพราะสมัยก่อนไม่ได้เหมือนสมัยปัจจุบันที่เราสามารถหาคนไทยผู้ที่รู้ภาษาจีนอย่างแตกฉานได้ ฉะนั้นระบบการแปลความในบางครั้งต้องแปลหรือเกาคำอีกครั้งจาก คนแปลคนจีน แล้วยังต้องดูว่าคนจีนผู้นั้นเข้าใจภาษาไทยพอที่จะแปลแล้วออกมาตรงหรือไม่ด้วย) หรือจะมี ประเด็นทางการเมืองใดที่ต้องการสื่อหรือเผยแพร่ใน ช่วงต้นรัชกาล ถ้าเป็นในประเด็นหลังก็ย่อมหมายความว่า วรรณกรรมนี้เป็นมากกว่าหรือมีความสำคัญมากกว่าที่เคยได้ยินกันมาแน่นอน แต่เพราะอะไร จึงเป็นคำถามต่อไปที่ต้องวิเคราะห์ดู / ในบทความนี้มีการยกทั้งข้อความที่ถูกดัดแปลง, แก้ไข, ต่อเติม บางกรณีตัดออกไปเลยทั้งยวงจากต้นฉบับจีน ซึ่งแต่ก่อนเชื่อกันว่าแก้เพราะให้ถูกกับรสนิยมคนไทย แต่จะเป็นเพียงเท่านี้หรือ.......

- ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยคําพูดในประวัติศาสตร์อยุธยา: ศึกษาเฉพาะกรณีบทสนทนาในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

นักประวัติศาสตร์มีข้อสรุปว่า พระราชพงศาวดารเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผ่าน "กระบวนการผลิต" มาแล้ว (หมายถึงต้องมีการเลือกสรรว่าจะเรียบเรียงเรื่องใด ลำดับเรื่องอย่างไร และอาจรวมถึงการกำหนดแกนเรื่อง แนวความคิดหลักหรือโครงเรื่อง) ในกรณีของ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีการบันทึกเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด 34 พระองค์ (สมัยอยุธยา) แต่มีเพียง 21 รัชกาลเท่านั้น ที่ปรากฎว่ามีบันทึก หรือการ "สร้าง" บทสนทนาไว้ (น.560)

ผู้เขียนตั้งคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าด้วยการบันทึกคำสนทนาแล้วถ่ายทอดมาสู่ พระราชพงศาวดาร เพราะเหตุว่าเราไม่น่าจะสามารถจำคำพูดของใครก็ตามแบบถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ได้ (เรื่องระยะเวลาที่ห่างออกมานั้นก็อีกประเด็นหนึ่ง) นั่นหมายความว่าถ้าเรายกคำใครมาหมายถึงเราให้ความสำคัญกับเขามาก ในบางกรณีอาจแต่งเติมต่อเข้าไปตามลำดับความสำคัญนั้นๆ / อีกประการเรื่องที่เป็นบทสนทนาสามารถให้รายละเอียด เน้นความสำคัญของเหตุการณ์ สร้างความสำคัญของตัวบุคคลทั้งในด้านความคิดความอ่าน อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้ดีกว่าการบอกเล่าแบบธรรมดามากนัก / ช่วงท้ายผู้เขียนรวบรวมทำเป็นตารางของบทสนทนานั้นๆ ว่าใครเป็นผู้กล่าว กล่าวกับใคร กล่าวเรื่องใดไว้ด้วยน่าสนใจดีทีเดียว

- ความรัก ความจริง และอำนาจ

เป็นบทความสั้นๆ โดยมีการนำเรื่อง King Lear ของเชคสเปียร์ และเรื่อง ราชาธิราช ที่ถูกแปลและเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มาประกอบ น่าสนใจอ่านเพลินๆดีเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น