วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Power and Terror [Post - 9/11 Talk and Interview] - Noam Chomsky


Power and Terror [Post - 9/11 Talk and Interview] - Noam Chomsky
ฝ่าพายุก่อการร้าย (บทอภิปรายและสัมภาษณ์หลังเหตุการณ์ 9/11) - นอม ชอมสกี
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปล
สนพ. มูลนิธิเด็ก

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Nov 12 2009, 10:17 PM

หลังเหตุการณ์ 11 กย. สังคมได้รับผลกระทบทางข่าวสารทั้ง ข้อมูลจากอเมริกา (สื่อและรัฐ), ข้อมูลขนานจากเหล่านักวิชาการ และข้อความสำคัญที่ส่งตรงจากผู้ก่อการร้ายถึงคนทั้งโลก ที่ถูกแปลความหมายต่างๆนานา แล้วเราล่ะมองโลกนี้เปลี่ยนไปหรือไม่ / ปรากฎการณ์หนึ่งที่เห็นคือ บินลาเดน กลายเป็นดาราดังในชั่วข้ามคืน เด็ก, หนุ่มสาว, คนแก่ แม้แต่คนที่ไม่ค่อยสนใจยังรู้จัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า บินลาเดนมาจากอากาศ หรือการก่อการร้ายไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพียงแต่นี่เป็นครั้งแรกที่การก่อการร้ายมาถึงอเมริกาอย่างเป็นรูปธรรม (มีคนตายจำนวนมาก) ทั้งๆที่การก่อการร้ายทั้งโดยรัฐหรือกลุ่ม มีมานานแล้ว และอเมริกาคือหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญ เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายหลายสิ่งอย่างมีนัยยะ ดังความเห็นของ "ชอมสกี" ต่อ 11 กย. ว่า
"นั่นเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แต่โชคร้ายที่มันเป็นประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพราะระดับหรือลักษณะของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เพราะคนที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์นั้น" น.6
ชัดหน่อยก็ถ้าเป็นตาสีตาสา จากประเทศโลกที่สามตายมันคงไม่ดูรุนแรงเท่านี้ ในสายตาคนตะวันตกหรือคนชั้นกลางทั่วไป แน่นอนว่าเขาเองบอกตลอดว่าไม่ได้เห็นด้วยเช่นกัน เพียงแต่อยากให้ผู้อ่านมองในมุมอื่นด้วย

เดาว่าบางคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ "ชอมสกี" มาก่อน เพราะ "ชอมสกี" คือนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการกระทำไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลสหรัฐต่อประเทศอื่นที่เด่นที่สุดคนหนึ่ง โดยนำเรื่องเหล่านี้ออกมาพูดในวงกว้าง ทั้งที่ข้อมูลก็ไม่ได้ปิดลับทั้งหมดแต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ทราบ / แม้ว่า "ชอมสกี" จะเอาเรื่องของประเทศอื่น มาถกเหมือนกัน เช่น อังกฤษ หรือฝรั่งเศส แต่อเมริกาก็ยังโดดเด่นกว่า ทั้งในแง่ชาติทรงอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ (ถ้าฟังนายยกสิงค์โปร์ ล่าสุดว่าเขายังเชื่อว่าอเมริกาจะยังคงอิทธิพลในภูมิภาคนี้ไปอีกนานก็จะเห็นภาพขึ้น) อีกทั้งเป็นชาติที่ทำ (หรือร่วมสนับสนุน) การก่อการร้ายระหว่างประเทศมากเป็นอันดับต้นของโลก (โดนสหประชาชาติประฌาม แต่อเมริกาใช้สิทธิ์วีโต้ให้ตัวเอง หรือบางทีก็งดออกเสียงดื้อๆ ที่ทำได้ก็เพราะเป็น 1ใน 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคง ที่ร่วมก่อตั้งสหประชาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)

"ชอมสกี" นั้นโด่งดังมาจากด้านภาษาศาสตร์ การที่เขามาได้ถึงจุดที่คนส่วนหนึ่งหันมาฟังทัศนะทางการเมืองของเขา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามและความต่อเนื่องเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าประเด็นที่เขาถกไม่ใช่เรื่องสวยงามนักแถมยังต้อง ฝ่าประเด็นชาตินิยมแบบลืมตาไม่ขึ้นของพวกอนุรักษ์นิยมในอเมริกา (ลองคิดว่าเป็นเมืองไทย ทำอย่างนี้หมออาจจะไม่รับรักษาเอาได้) ทัศนะแบบกระแสรองเช่นนี้จึงน่าสนใจมากกว่าการไปไล่อ่านตามสื่อกระแสหลัก (เหมือน นสพ.ภาษาไทยหรือข่าวกระแสหลัก ที่หลังๆนี่อ่านแทบไม่ได้เลย เพราะทั้งปิดทั้งบิดจนมั่วไปหมด) มากกว่ามาก เช่นในกรณี การฝ่าประเด็นด้านที่คนอเมริกันมักมองตัวเองว่าเป็นใหญ่เหนือทุกชาติ การถูกท้าทายจากชาติเล็กๆ มักไม่ค่อยสบอารมณ์ เพ่ใหญ่ซะเท่าไหร่ จนหลงลืมกันไปว่าตัวเองก็ทำเขาไว้เยอะเหมือนกัน (ลองดู ความเห็นคนทั่วไปเรื่อง กัมพูชากับไทยก็ได้ ชัดดี)

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ภาค ประเด็นส่วนใหญ่ "ชอมสกี" ถกก็จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐ ที่มาในรูปของการใช้ความรุนแรงอันหลากหลาย หรือการเลือกหลับตาซะข้างหนึ่ง หรือสนับสนุนอาวุธให้ มิตรประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน (กรณี อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์) ฉะนั้นในบางตอนข้อมูลอาจซ้ำกันบ้าง แต่ในแกนหลักยังคงความน่าสนใจได้ตลอด ในส่วนนี้จะขอยกบางประโยคประกอบน้ำจิ้มเพื่อยั่วยวนให้หาอ่านกันต่อ

- บทสัมภาษณ์สำหรับภาพยนต์
"ทุกคนมัวแต่กังวลว่าจะหยุดการก่อการร้ายได้อย่างไร อันที่จริงวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ เราต้องหยุดมีส่วนร่วมในการก่อการร้ายเหล่านั้น"
"...การไต่สวนคดีที่กรุงนูเรมเบิร์กเป็นเรื่องที่น่าสนใจ...อาชญกรรมใดจะเป็นอาชญกรรมสงครามก็ต่อเมื่อเป็นสงครามที่ฝ่ายเยอรมันเป็นผู้กระทำต่อเรา ไม่ใช่ฝ่ายเรากระทำกับฝ่ายอื่น" น.17 (ถ้าใครเคยได้ยินกรณี ผู้หญิงเยอรมันถูกกระทำทารุณทางเพศ ในระหว่างสงครามโลก ก็น่าจะพอเข้าใจได้ อันนี้แบบหยาบๆ)
"พวกเขาสามารถสร้างภาพลักษณ์เหมือนปีศาจให้กับนายซัดดัม ฮุสเซนได้ แต่พวกเขาก็ไม่ควรละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าอาชญกรรมอันรุนแรงที่สุดที่นายซัดดัมเคยทำมา ล้วนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ และอังกฤษทั้งนั้น" น.43

- สุนทรพจน์ที่นิวยอร์ค
ยกตัวอย่างเช่นในกรณี สหรัฐบุกนิคารากัว
"ในเบื้องต้นนิคารากัวส่งเรื่องฟ้องศาลโลก......ศาลโลกสั่งให้รัฐบาลสหรัฐยุติอาชญกรรมเหล่านั้น และจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล....สหรัฐ ตอบโต้ด้วยการเพิ่มระดับความรุนแรงของสงคราม" น.59
"ถ้าเราทำกับพวกเขา เราจะเรียกว่าปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย หรือสงครามอันชอบธรรม" น.77 ถ้าหยาบๆก็ประมาณว่า "ความผิดเขาเท่าช้างความผิดเราเท่าขี้ตา"

- บทอภิปรายและบทสนทนา
ในภาคนี้บทที่ชอบมากคือบทที่ว่า "ทำไมพวกเขาถึงเกลียดเรา ทั้งๆที่เราดีแสนดี?" ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐ ค่อนข้างเป็นระบบ ประชาชนจึงปักใจจะเชื่อได้ง่ายกว่า แต่สังคมตะวันตกนั้นเป็นแบบขี้สงสัยและใคร่อยากรู้ความจริง (ไม่ว่ามันจะจริง จากด้านใดก็ตาม) เลยมีคนอย่าง "ชอมสกี" หลุดออกมาเป็นพักๆ ทำให้เรื่องราวค่อนข้างมีมิติกว่าปกติ อย่างไรก็ตามมันไม่ได้หมายความคนทั่วไปจะเข้าใจด้วย เลยเกิดคำถามตลกปนเศร้าของ บุช อย่างนี้ขึ้น คือไม่รู้ว่าใช้ฐานใดในการตัดสินใจแทนคนอื่นได้ซะขนาดนี้ (จะว่าไปเมืองไทยก็เป็นเหมือนกันนะ)
"ประชาชนไม่ต้องการที่จะถูกเหยียบติดดินภายใต้อุ้งเท้าใคร พวกเขาไม่ชอบสิ่งนั้นและเป็นเหตุให้เกิดกระแสความเกลียดชัง ไม่อย่างนั้นคุณก็อาจจมปลักอยู่กับจินตนาการของตัวเอง..." น.117 (ในแง่คนในตะวันออกกลางหรือคนระดับล่างทั่วไป)
"กระบวนการสันติภาพ หมายถึงอะไรก็ตามที่สหรัฐเป็นฝ่ายกระทำ" น.152 ชัดทีเดียว
แถมว่าลองอ่าน ความเห็นของ เชอร์ชิลล์ นายกกระดูกเหล็กคนดังของอังกฤษ ต่อกรณีการใช้ก๊าซพิษกับชาวเคิร์ด มีอึ้งแน่ เพราะแกเห็นว่าไม่เห็นผิดอะไร

- ข้อมูลเพิ่มเติม
ก็มีแนะนำพวกหนังสือของ "ชอมสกี" ส่วนใหญ่ก็ภาษาอังกฤษ มีขายหลายเล่มอยู่เหมือนกันที่ผมเคยเห็นตามร้านหนังสือนะ ถ้ามีแปลไทยเล่มนี้น่าจะเป็นเล่มที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น