วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ชาตินิยม ในแบบเรียนไทย


ชาตินิยม ในแบบเรียนไทย
สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ
สนพ.มติชน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Aug 12 2009, 01:49 PM

เล่มนี้เป็นได้ทั้งเล่มแรกในการอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยม หรือเพื่ออ่านเสริมจากเล่มอื่น เราทราบดีว่าสิ่งที่ถือเป็นเครื่องมือที่ดีและได้ผลของรัฐในการถ่ายทอดอุดมการณ์ คือแบบเรียน เราอาจเคยได้ยินว่าทั้งจีนและเกาหลีใต้ ต่างก็มีปัญหากับแบบเรียนของญี่ปุ่นบ่อยครั้ง บางคนที่ไม่ค่อยสนใจ ก็อาจจะว่าไม่เห็นมีอะไร เพียงแต่หากเรามองของชาติอื่น เราน่าจะเห็นประเด็นได้หลากหลายกว่า และพร้อมรับกับการหันมามองของบ้านเรา เพื่อแก้ไขหลายๆอย่างให้ดีขึ้นอย่างที่เล่มนี้พยายามเสนอ

แล้วการหลงประเด็นเรื่องนี้เกิดได้ง่าย เพราะนักเรียนไทยถูกโปรแกรมให้อยู่ในระบบที่ต้องเชื่อ การตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ไม่ควร (เล่มนี้เองก็เสนอในบทท้ายๆ) ทำให้จะว่าเรื่องอดีตก็แล้วกันไปให้มาเริ่มใหม่ ทำได้ยากเพราะถ้าในเมื่อการตั้งคำถามเป็นสิ่งไม่ควร แล้วจะเริ่มการแก้ไขได้อย่างไร / เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องหญ้าปากคอก ทำจริงต้องใช้ปัจจัยและสภาพทางกายภาพแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลหลายประการ ไม่ใช่ทำกันได้ชั่วข้ามคืน เหมือนที่หลายคนคิดว่า คนที่มีการศึกษาจะคิดได้ทั้งหมด / เล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 บท บทแรกและบทที่ 2 สุเนตร ชุตินธรานนท์ มีส่วนในการแต่งและแต่งเองตามลำดับ ซึ่งจะเป็นการเกริ่นนำถึงที่มาที่ไปและทบทวนให้ผู้อ่านได้รับทราบก่อน / บทอื่นๆจะแบ่งออกตามประเทศได้แก่ พม่า, กัมพูชา, ลาว และมาเลเซีย ผู้เขียนจะต่างกันไปในแต่ละบท แต่ทุกบทเหมือนกันที่มุมมองหลักผ่านแบบเรียนในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือหลักสูตรประถมต้น-ปลาย และมัธยมต้น-ปลาย 4 ช่วงเวลาคือ หลักสูตร พศ.2503, 2521, 2533 และ2544

บทว่าด้วยพม่า หลายคนน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด จากประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันมาต่อเนื่อง นี่คือคู่สงครามตัวเอ้ที่สุดตลอดกาลของเรา แม้จะไม่ใช่คู่สงครามที่อันตรายที่สุด อย่างอังกฤษ หรือฝรั่งเศส ทำให้เกิดคำถามหนึ่ง "ทำไมความคิดนี้ยังอยู่ในสำนึกคนไทยนานขนาดนี้" / บทความนี้นำเสนอว่าพื้นฐานของความคิดดังกล่าวน่าจะมาจาก 3 แหล่งคือ พงศาวดาร ("การอธิบายถึงความกล้าหาญ, ความเก่งกาจ และความมีคุณธรรมของชาวไทยควบคู่ไปกับภาพของพม่าในฐานะปัจจามิตร" น.87), พระนิพนธ์ไทยรบพม่า ("ได้เสนอภาพของพม่าในความคิดของชนชั้นนำไทยในฐานะของคู่แค้นอย่างชัดเจน" น.94) และแบบเรียน จากนั้นจะนำเสนอผ่านหัวข้อย่อยซึ่งมีความน่าสนใจแถมเปิดมุมมองสำหรับผู้ไม่เคยอ่านเรื่องทำนองนี้ได้ดี และถือว่าเป็นการสรุปกับลงรายละเอียดที่มากขึ้นสำหรับผู้เคยผ่านตามาบ้างแล้ว ส่วนตัวผมว่าบทนี้ยังไม่สุดมากนัก เหมือนติดๆอะไรอยู่

บทว่าด้วยลาว (ล่าสุดพึ่งมีตีพิมพ์เกี่ยวกับเจ้าอนุวงศ์ใน นิตยสารสารคดี ก็มีที่เกี่ยวกับแบบเรียนและความเชื่อ รวมถึงพิษของการตั้งคำถามกับความเชื่อของชาวบ้าน และผลจากการตั้งคำถามร้ายแรงขนาดจะเอาชีวิตกัน) / ลักษณะการรับรู้เรื่องของ ลาวในแบบเรียนไทย บทความนี้แบ่งวิเคราะห์ออกได้ 3 ลักษณะใหญ่ คือ ลาวมีฐานะเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่ดีของไทย, ลาวมีฐานะเป็นประเทศที่มีสถานะต่ำกว่าไทย และลาวมีฐานะเป็นตัวปัญหาของไทย / ทำไมและอย่างไรหลายคนน่าจะพอเห็นภาพอยู่แล้ว แต่เข้าใจว่าเหตุมาจากไหนอาจยัง มึนๆอยู่บ้าง ฉะนั้นบทความนี้จึงถือว่าเข้ามาเติมช่องว่างนั้น และอีกครั้งเพื่อการแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านให้ดีขึ้น

บทที่น่าสนใจที่สุดและน่าจะยาวที่สุดคือบทว่าด้วยกัมพูชา (แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเปิดตาใครได้หรือไม่) ในบทนี้ตอนเริ่มต้นมีข้อความหนึ่งที่สะกิดใจมาก "เด็กมักเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏในแบบเรียนคือความจริง" น.164 ที่ว่าสะกิดเพราะเมื่อนึกทวนดู ก็เห็นจริงตั้งแต่เด็กจนถึงมัธยม ใครต่อใครพากันสอนและส่งต่อความคิดกันมากมาย กว่าจะกรองได้ก็ต้องอาศัยเวลาพอควร / บทความนี้กล่าวว่าเรื่องของกัมพูชาในแบบเรียนอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะคือ การกล่าวถึงที่แยกออกมาเป็นหัวข้อต่างหาก ที่เรียกว่า "เพื่อนบ้านของเรา" กับ การกล่าวถึงที่รวมไปกับหัวข้ออื่นอย่าง "ชาติไทยของเรา", "บ้านเมืองของเรา" / ความประหลาดใจเกิดขึ้น พึ่งรู้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับ กัมพูชาบางระดับชั้นไม่มีเลย และยิ่งระดับชั้นสูงยิ่งน้อยลง / ที่น่าแปลกอีกคือ ชนชั้นนำของเราให้ความสนใจกับกัมพูชามานาน มีการแปล, แต่งตำรา ให้เจ้านายศึกษากันมาก่อนมากมาย นั่นหมายถึงอะไร มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะอะไร / อีกอันที่หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง "ขอมไม่ใช่เขมร" มาบ้าง ในเล่มนี้ก็มี เพราะในประเด็นนี้เราเคยใช้ในการอ้าง เหนือปราสาทของเขมรในไทย ในประเด็นนี้ถ้าเรามองให้ลึกลงไปเราจะเจออะไรมากพอดู มันคงจะเป็นเรื่องตลกของเราเหมือนกันถ้าใครมาบอกว่า "เสี๊ยม" หรือ ชื่อใดๆก็ตามที่คนชาติอื่นใช้เรียกเรา มันคนละอย่างกับ "สยาม" เพราะคงต้องแก้ประวัติศาสตร์กับระเบิดเทิดเทิงเลย

บทว่าด้วยมาเลเซีย ส่วนตัวคิดว่าน้อยไปนิด แต่ก็เข้าใจในประเด็นของผู้เขียนและเห็นภาพ เพียงแต่มองว่ามันออกจะไปทางเรื่อง ปัตตานีมากไปนิด เพราะมีหนังสือทำนองนี้พิมพ์อยู่แล้วในท้องตลาด เลยรู้สึกไม่อิ่มเท่าที่ควร แต่ก็ได้ข้อมูลใหม่หลายเรื่องอยู่

สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอก็คือ ตัวตนของอุษาคเนย์เกิดจากคนภายนอกสร้างขึ้น หรือแม้กระทั่งการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ ก็มาจากความต้องการแรกเริ่มของอเมริกาที่พยายามจะทำความเข้าใจ และเพื่อพลังทางการเมืองของตัวเองในภูมิภาคนี้ แล้วเราเองก็สมอ้างไปกับเรื่องเหล่านี้โดยไม่มีใคร (หรืออาจมี) อยากจะแก้ไข (หรือเพื่อเหตุผลอะไรบางอย่างเพื่อคง มันไว้ในสภาพนี้) ปัญหาหลายอย่างกับเพื่อนบ้านเริ่มมีมากขึ้น และมันคงจะมากขึ้นไปอีกถ้าเราไม่ดูอย่างจริงจัง แต่ควรหรือที่ผู้น้อยอย่างเราจะเต้นไปตามจังหวะนั้น ผมว่าเราแก้ไขได้ / หลายเรื่องนี่พิมพ์กันได้อีกยาวในประเด็นต่อเนื่อง แค่เรื่องแรงงานอพยพนี่ก็คุยกันได้นานเลยทีเดียว หรือเรื่องที่เราชอบทะเลาะกับเพื่อนบ้านในประเด็นเรื่องดูถูกกันนี่ก็บ่อย ลาวก็หลายครั้ง กัมพูชาก็หลายครั้ง แม้แต่มาเลเซียก็หลายครั้ง อึม...........จริงหรือที่มันอาจเริ่มมาจากแบบเรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น