วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Child of All Nations - Pramoedya Ananta Toer


Child of All Nations - Pramoedya Ananta Toer
ผู้สืบทอด - ปราโมทยา อนันตา ตูร์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
สนพ. คบไฟ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Sep 30 2009, 09:42 AM

เล่มนี้คือเล่มที่ 2 ในชุด "จตุรภาคเกาะบูรู" หากเล่มที่แล้วคือ เริ่มการเดินทางของ "มิงเก" โดยใช้ประเด็นเรื่องความรักและความรู้สึกแปลกแยกของเด็กหนุ่มในการดำเนินเรื่อง เล่มนี้ก็คือการพยายามรู้จักตัวเอง หรือเรียนรู้โลกผ่านสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าถึงตัวตนภายใน ว่าเขาควรทำอะไรหรือเขามุ่งหวังสิ่งใดในภายภาคหน้าต่อไป ในเล่มนี้หากจะบอกว่าบทเรียนมีความซับซ้อนขึ้นก็ว่าได้ "มิงเก" ได้เริ่มออกไปสัมผัสอีกด้านของสังคมอินโด ไม่ใช่เพียงเขียนบทความที่ไม่ได้มาจากประสบการณ์จริงแต่คราวนี้ต่างออกไป / และอีกครั้งที่ชั้นเชิงในการเล่าเรื่องของผู้เขียนบอกได้เลยว่าในเล่มนี้เหลือรับประทานจริงๆ

เนื่องจาก นวนิยายเรื่องนี้เป็นประเภทกึ่งประวัติศาสตร์กึ่งชีวประวัติดัดแปลง หลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นเคย แม้ไม่ใช่ด้วยช่วงเวลาแต่เพราะบรรยากาศ ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะเราอยู่บนอาณาบริเวณใกล้กัน ขนบหลายๆอย่างคล้ายกันในแง่จุดมุ่งหมาย แต่ต่างที่รายละเอียด ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา อีกอย่างผู้เขียนก็พยายามสอดแทรกประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นระยะๆอยู่แล้ว ทั้งเพื่อความสมจริงมากที่สุดและเพื่อความเป็นเหตุเป็นผลกันของนวนิยายด้วย / ในเล่มนี้จะเริ่มมีการแทรก ประเด็นประเทศเพื่อนบ้านและบทบาทคู่ขนานของตัวละครที่เป็นคนชาติอื่น เข้ามาเพื่อให้ "มิงเก" ได้ประสพ ในเล่มแรกก็มีเพียงแต่เล่มนี้ ตัวละคร "โค้วอาซู่" มีความโดดเด่นมากอย่างชัดเจน เมื่อประสานกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ก็ทำให้เรื่องยิ่งมีน้ำหนักและมิติที่มากขึ้น

บทบาทตัวละครตัวเอกในเรื่อง ก็ยังคงเป็น 2 ตัวหลักเช่นเดิม สอดแทรกด้วยตัวละครระดับอิทธิพลที่จะเข้ามาเป็นระยะๆตลอด หลายตัวที่อาจไม่ค่อยเด่นมากในเล่มที่แล้วเล่มนี้จะมีบทบาทในการเปิดประเด็นเรื่องสำคัญๆหลายช่วง / อ่านไปบางตอนต้องยอมรับว่าผู้เขียน แต่งเรื่องของ "มิงเก" ได้อารมณ์ของเด็กหนุ่มคะนองวิชา ผู้อยู่ภายใต้ของอิทธิพลตะวันตก และประเด็นชาตินิยมแบบกึ่งดิบกึ่งสุก ที่ทำเป็นหาญกล้าว่าเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำได้อย่างทะลุและน่าหมั่นไส้ไปในตัว จนเรารู้สึกได้แบบชัดเจนมากขึ้น

ในเล่มนี้ "ไญ อนโตโซโระห์" ทวีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ความเหนือชั้นทั้งความคิดและการกระทำ ยิ่งเหมือนตอกย้ำว่า การศึกษาไม่ใช่ทุกอย่าง โรงเรียนที่ดีให้ได้แค่โอกาสแต่ไม่ได้ทำให้เราฉลาดมากกว่าคนอื่น ยิ่งในตอนท้ายๆ "มิงเก" ถึงกลับยอมรับอย่างหน้าชื่นทีเดียว (แม้ว่าในเล่มแรกก็มี การยอมรับบ้างแล้ว แต่เล่มนี้วางจังหวะสอดรับได้ดีกว่าเดิมมาก) และยังแสดงพลังของผู้หญิงที่ถูกตราหน้าจากสังคม ว่าทรงพลังและกระตุ้นคนได้ขนาดไหน "มิงเก" เหมือนแค่มาทำให้ "ไญ อนโตโซโระห์" ใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก

เล่มนี้มีการนำเสนอในเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นมากขึ้น โดยหลักแล้วจะเป็นการต่อสู้ของ "ไญ อนโตโซโระห์" กับ ระบบ ซึ่งก็คือการเมืองเชิงอาณานิคม โดยเทียบระหว่าง หญิงที่เป็นเพียงเมียเก็บของชาวตะวันตก กับ ระบบขนาดใหญ่และชาวยุโรปเลือดแท้ (หรือเราจะเรียกว่าชนชั้นสูงก็น่าจะได้ เพราะในระบบการเมืองอาณานิคม ฝรั่งใหญ่สุด แม้จะมีชนชั้นเจ้านายของอินโด ก็ตาม) ที่เล่มนี้จะเข้มข้นขึ้น แทรกด้วยการเมืองเชิงชนชั้นอีกด้านโดยให้ "มิงเก" ไปพบเห็นการเมืองแบบภาคประชาชน ที่ชาวบ้านไม่มีเครื่องมือมากนักในการต่อสู้กับชนชั้นสูงนอกจากสิ่งง่ายๆที่เพวกเขาคิดได้ / "มิงเก" มาในฐานะของคนชนชั้นกลางที่มีเครื่องมือในการต่อสู้ ค่อนข้างเยอะกว่าชนชั้นล่าง ทำให้บางครั้ง เล่มนี้พยายามแสดงให้เห็นว่า "มิงเก" ไม่สามารถเข้าใจสถานการณ์เหล่านั้นได้ในครั้งแรกที่ประสพ แถมยังเสนอทางออกแบบประสาคนชั้นกลางชอบทำ คือให้ความหวังบนพื้นฐานความไร้เดียงสาของตัวเอง แต่นั่นเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง มันจะทำให้ "มิงเก" ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เหมือนตัวละครจะเริ่มคลี่คลายตัวเองตามเส้นทาง

ในใจผมเลย ผมว่าเล่มนี้โดดเด่นในแง่การเล่าเรื่องที่หนักๆให้อ่านง่าย สนุก น่าติดตาม และน่าคิดตาม แม้เล่มนี้บริบทและช่วงเวลาจะต่างกับภาวะของเรา แต่ผมกลับมองว่ามันไม่ห่างเอาเลย เช่น ในนวนิยายมีการต่อสู้ทางชนชั้น บ้านเราก็มีเช่นกัน ในบางแง่แนวทางมันคล้ายจนน่าขนลุก หรือฉากชาวนาที่ต่อสู้ในเรื่องที่ดินกับโรงงานน้ำตาล ก็คล้ายกับในบ้านเรา ที่บริษัทเกษตรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใช้กับเกษตรกร ในแง่หยิบยื่นเหมือนว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่งดงามให้เกษตรกร (การทำสัญญาผูกขาดเรื่องผลผลิตระหว่างเกษตรกรกับบริษัท) แต่ในความเป็นจริงมีความซับซ้อนซ่อนอยู่มากกว่านั้น หรืออีกกรณี ของชาวจีน "โค้วอาซู่" ก็มีประเด็นน่าสนใจ อ่านแล้วผมยกให้เป็น 1 ในจุดเปลี่ยนของนวนิยายที่น่าสนใจที่สุด 3 จุดเลยทีเดียว อีก 2จุด คือ ฉากชาวนา และปิดท้ายด้วย การเผชิญหน้ากันของ "ไญ อนโตโซโระห์" กับ ตัวแทนของระบบอาณานิคม / ประโยคสนทนาเด่นๆยังมีตลอดเรื่องอีกมากมาย มากกว่าเล่มแรกนะ (ในความคิดผม) ทำให้ไม่น่าพลาดในการหาอ่านเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น