วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

Walden - Henry David Thoreau


Walden - Henry David Thoreau
วอลเดน - เฮนรี่ เดวิด ธอโร
สุริยฉัตร ชัยมงคล แปล

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 1 2009, 10:39 PM


ย้อนไปหลายปีก่อน ชื่อของนักเขียนท่านนี้ไม่รู้จักแม้แต่น้อย ใช้เวลาอ่านจริงๆของเล่มนี้นับตั้งแต่ซื้อมา น่าจะประมาณ 12 ปี เป็นเล่มที่อ่านนานที่สุด โปรดอย่านับการวางทิ้งอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี กับ อาการเบื่อง่ายมานับรวม แล้วซื้อหามาได้อย่างไร หลายคนคงอยากถาม ตอบง่ายๆ เจอตอนเป็นหนังสือลดราคา ซื้อเพราะคนแปล กับขนาดที่อยู่ในระดับที่ชอบ และภาพประกอบแนวนามธรรมของ จ่าง แซ่ตั้ง ก็ชวนใจไม่น้อย

ความรู้สึกแรกที่อ่าน ช่วงนั้นชอบอ่านและตีความทุกบรรทัด ทำให้บางเล่มบางบทจะอ่านซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เล่มนี้ก็ตกในสถานะนั้น มาหลังๆเริ่มไม่แน่ใจว่าบางทีอาจเป็นเพราะอายุน้อยเกินไปรึเปล่า คือ ไม่เคยปฏิเสธเลยว่า อายุหรือประสบการณ์บางอย่างมีผล ต่อการอ่านและทำความเข้าใจหนังสือบางเล่ม และบางทีการตีความ ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดมาก สู้ปล่อยให้มันไหลผ่านช้าๆเข้าหัวไป แล้วค่อยมาจับรายละเอียดทีหลังซ้ำอีกรอบ ต่อบท หากเราไม่เข้าใจน่าจะดีกว่า คิดได้ดังนั้นเลยวางเล่มนี้ไปซะนาน หยิบขึ้นมาอีกครั้งอ่านแบบ ใคร่ครวญแต่ใช้เวลาน้อยลง

หนังสือแบ่งออกเป็น 18 บท เล่มนี้ ธอโรเขียนเมื่อย้ายไปอยู่แบบสันโดษ เมื่อปี 1845 (164ปี มาแล้ว ลองคิดดูสิว่าหนังสือและสถานที่มันเปลี่ยนไปขนาดไหน) ริมบึง ที่ชื่อวอลเดน ในที่ส่วนบุคคลของเพื่อนชื่อ อีเมอร์สัน อยู่ได้ประมาณ 2 ปี ธอโร ก็ย้ายออกมา ในระหว่าง 2 ปีนั้น ธอโร ทำไร่ และเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนใหญ่ / ธอโร เป็นนักอุดมคติ, นักสังเกตธรรมชาติ และนักปรัชญา ทั้งเป็นพวกต่อสู้ทางสิทธิและต่อต้านการค้าทาส แค่นี้คงพอเห็นภาพ ตัวผู้เขียนคร่าวๆ

บึงวอลเดน เป็นบึงปิดแต่มีตาน้ำจากพื้น ภาพจากการบรรยาย เห็นภาพเป็นบึงกระจกขนาดใหญ่ ที่สะท้อนภาพกลับหัวเหมือนดึงฟ้ามาบรรจบพื้นน้ำ สภาพโดยรอบ ร่มรื้นและมีสัตว์น้อยๆ รวมทั้งปลาค่อนข้างมาก ธอโร สร้างกระท่อมไม้ (ด้วยตัวเอง) และดำรงชีวิตแบบเข้าใกล้ธรรมชาติอย่างที่สุด จดบันทึกสภาพโดยรอบ แทรกด้วยข้อคิดทางปรัชญาและเสียดสีสังคม ของตัวเองแนบเอาไว้ด้วย กลายเป็นบทพรรณา ที่สวยงามที่เปี่ยมด้วยแง่คิดมากมาย (บทแรกๆมีตารางค่าใช้จ่ายประกอบอีกด้วยนัยว่าเพื่อพิสูจน์ว่าเขาอยู่ได้)

บทหนึ่งที่แนะนำว่าควรอ่านก่อน (จริงๆก็อยู่ช่วงแรก) เพราะเห็นบางคนอาจเบื่อเลยข้ามไปอ่านที่เนื้อหาเลย โอเคถ้ารู้จักกันแล้ว ก็ข้ามๆก็ได้ แต่ถ้ายัง น่าอ่านก่อนเพื่อเข้าใจแนวและชีวิตคร่าวๆอีกครั้ง อย่างเช่น อันนี้มาจากบทแรก ที่ อีเมอร์สันเขียนถึงเพื่อนที่ภายหลังเกิดทะเลาะกันแต่ยังชื่นชม
"สิ่งที่คุณเสาะแสวงหาอย่างไร้หวังมาครึ่งค่อนชีวิต ครั้นแล้วจู่ๆวันหนึ่งคุณก็ประจันหน้ากับมันเข้าอย่างจัง คุณแสวงหาเหมือนดังติดตามค้นหาความฝัน และในทันทีทันใดที่คุณได้ค้นพบคุณก็กลับต้องเป็นเหยื่อของมันเสียเอง" หน้า 38

บทที่คิดว่าค่อนข้างยาว เป็นบทพรรณาช่วงแรกใช้ชื่อบทว่า มัธยัสถ์ อาจดูยาวไปบ้างแต่อาจถือว่าบรรจุแนวความคิดไว้ค่อนข้างละเอียดบทหนึ่ง ตัวอย่างบางข้อความที่น่าสนใจ
"คนมีอารยธรรมก็คือคนเถื่อนที่มีประสบการณ์และฉลาดขึ้น" หน้า 106 ค่อนข้างง่ายๆตรงไปตรงมา แต่บางครั้งยากที่จะเข้าใจ แต่อันนี้....
"ผู้ที่เดินทางเพียงลำพังสามารถเริ่มวันนี้ได้เลย แต่ผู้เดินทางไปกับคนอื่นต้องรอจนอีกคนพร้อมเสียก่อน และมันอาจกินเวลานานกว่าจะได้ออกเดินทาง" หน้า135 ค่อนข้างได้ใจ เพราะมันจริงทั้งในแง่ความหมายตรงๆ หรืออ้อมๆก็ได้
"ไม่มีกลิ่นอะไรจะเหม็นร้ายกาจเท่ากลิ่นความดีที่เน่าเสีย" หน้า 136 ตรงๆตัวประเด็นนี้ ธอโรเหน็บพวกชอบอ้างทำดี

บทต่อมา ก็มีหลายอันน่าพูดถึง อย่างประโยค "สำหรับ นักปรัชญาแล้ว สิ่งที่เรียกว่า -ข่าว- ทั้งมวล คือเรื่องซุบซิบ ส่วนผู้ที่เรียบเรียงและอ่านมันคือหญิงชรา" หน้า158 อาจดูแรง ไปนิด แต่ก็เห็นภาพสมัยนั้นหรือสมัยนี้ได้ดี

คือทุกบท จะเกี่ยวเนื่องมาจากสิ่งที่ธอโร เห็นหรือเจอ ระหว่างอยู่ที่บึงวอลเดน มีตั้งแต่ บทเรื่องไร่ถั่ว หรือเพื่อนบ้าน บางบทพรรณาการทำงานและชีวิตประจำวัน บางบทสอดแทรก ทั้งเรื่องบทกวี หรือ อ้างอิงจากที่อื่น ทั้ง กรีกหรือจีน น่าอ่านมากๆอีกเล่มหนึ่ง เห็นมีพิมพ์ใหม่ออกมาแล้วด้วย แต่หน้าปกจะหวานๆกว่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น