วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน


บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน
สันต์ ท.โกมลบุตร

สนพ.ศรีปัญญา

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 28 2009, 07:34 PM

เป็นความจริงทีเดียวว่าประวัติศาสตร์ช่วงอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีความซับซ้อน และน่าสนใจมากที่สุดช่วงหนึ่ง ทั้งการย้ายเมืองหลวง หรือ ฝรั่งที่เข้ามาได้ดิบได้ดีกัน หรือ ช่วงรอยต่อของการครองอำนาจ ทั้งพระเพทราชา, หลวงสรศักดิ์ หรือช่วงต่อเนื่องมาแต่พระเจ้าปราสาททอง แต่ในความซับซ้อนมีข้อดีครับ มีข้อมูลจากจดหมายเหตุของฝรั่งเยอะไปหมด แล้วแต่ละคน(ฝรั่ง) ก็ไม่ได้ชอบหน้ากันมากขนาดเขียนชมกันจนหมด ทำให้เกิดความหลากหลายในข้อมูล เพิ่มมิติได้ดี นี่อ่านเล่มนี้จบแล้ว ผมตั้งใจจะเหมาทั้งหมดในชุดนี้ ในงานหนังสืองวดนี้เลย เพราะเล่มอื่นๆต่อจากนี้ รวมคนที่ไม่ค่อยจะชอบขี้หน้า ฟอลคอน ทั้งนั้น น่าสนใจครับน่าสนใจ

อย่างที่เกริ่นไป เล่มนี้ น่าจะเรียกฉบับคนชอบ ฟอลคอน ก็น่าจะได้ (หลวงพ่อท่านนี้ใกล้ชิดกับฟอลคอลมาก ทั้งเป็นพระที่รับสารภาพบาปให้ฟอลคอลด้วย ซึ่งอย่างที่รู้ๆกัน การสารภาพบาปเป็นการเมืองอย่างหนึ่ง แต่พระที่รับสารภาพบาปโดยมากมักไม่เปิดเผยสิ่งที่ ผู้สารภาพนั้นสารภาพออกมา) ฉะนั้นเราจะได้เห็นมุมมองที่ดีๆ และด้านร้ายๆของพระเพทราชา ซึ่งว่ากันตาม นิธิบอก มันไม่แปลกสำหรับการเมืองในภูมิภาคนี้ มันเป็นของมันอย่างนี้เอง ที่ใครอยากครองอำนาจก็ฆ่ากันไปมา เอาง่ายๆแค่การขึ้นสู่อำนาจของ สมเด็จพระนารายณ์ ในเล่มอื่นที่ผมเคยอ่านก่อนหน้านี้ไม่ได้ดูดีเท่าเล่มนี้ที่ฝรั่งเขียนเลย แต่เช่นกันบางตอน ในเล่มนี้อย่างเรื่องของ ท่านโกษาธิบดี (ปาน) ราชฑูตไทยคนแรก ในเล่มนี้ดูแย่กว่าทุกๆเล่มที่ผมเคยอ่านมา แต่ อีกครั้งเหมือน นิธิ กล่าวไว้ เราไม่อาจใช้วิธีวิพากย์ของตะวันตกมาใช้กับ บริบทไทย ถึงว่าในสายตาฝรั่งเรื่องท่านอาจดูเหมือนเนรคุณ แต่ผมมองต่างมุม เพราะมันเป็นเรื่องอำนาจและอีกหลายสาเหตุประกอบที่ฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ / จริงๆปัญหาก็คือ ไทยมักชอบใช้ การวิพากย์แบบฝรั่งมาใช้กับประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ก็เลยทำให้วิตกจริต กลัวจะดูไม่ดีในสายตาต่างชาติ เลยด้นสดของตัวเองขึ้นมาแทน ซึ่งจริงๆ มีหลายเรื่องครับเรื่องการอายของไทยเนี่ย ลองไปหาอ่านของนิธิ หรือ พวกประวัติศาสตร์นอกกระแสดูจะเห็นภาพกว่า

กลับมาที่เล่มนี้ เรารู้ก่อนแล้วว่า ฟอลคอน(จริงๆมีหลายชื่อครับเรียกเพี้ยนบ้างสะกดเพี้ยนบ้างหรือเป็นชื่อแต่ดั้งเดิมบ้าง อันนี้แค่ในจดหมายฉบับนี้ก็ไม่ค่อยเหมือนกันในแง่ชื่อเรียกยศ แล้วล่ะครับ) คือ ฝรั่งชาวกรีก เข้ามาในไทยจนได้ดิบได้ดีได้เป็น เสนาบดีผู้ใกล้ชิดและทรงอำนาจ มีภรรยาที่เป็นคนทำต้นกำเนิดของขนมพวกทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง ตอนแรกผมจำได้ว่าแกชื่อ ท้าวทองกีบม้า เป็น โปรตุเกส ก็พึ่งมารู้เล่มนี้ว่าเป็นลูกครึ่ง ญี่ปุ่น-โปรตุกีส ชื่อเต็มๆว่า โดญ่า กุโยม่าร์ สวยขนาดมีลูกก็แล้ว สามีพึ่งถูกบั่นคอไปหยกๆ หลวงสรศักดิ์ ยังอยากได้มาไว้ส่วนตัว (หลวงสรศักดิ์คือพระเจ้าเสือในกาลต่อมานะครับ เผื่อบางคนลืมๆไป ว่ากันว่าแกอาจเป็นลูกชายลับๆของสมเด็จพระนารายณ์ แต่เล่มนี้ไม่ได้ว่าไว้) มีออกอุบายทั้งหลอกทั้งล่อลวง อันนี้ทำเมื่อพระเพทราชากำลังจะปราบดา นะครับ คือหลังจากยึดอำนาจจาก สมเด็จพระนารายณ์

เล่มนี้จะเกริ่น รายละเอียดช่วงชีวิต ของฟอลคอน ตั้งแต่หนุ่ม ที่ประสบความล้มเหลวต่างๆนาๆ ค้าขายทางเรือ พอมีเงินจะทำเอง เรือก็ล่มเกือบตาย หมดตัวต้องให้เพื่อนชาวอังกฤษช่วยเหลือเงินทอง หรือชื่อที่เปลี่ยนให้โดยคนอังกฤษจากภาษากรีก และ การยอมเปลี่ยนกลับมานับถือศาสนาดั้งเดิม เพื่อจะได้ชนะใจ ท้าวทองกีบม้า ที่เล่มนี้ว่ากันว่า เคร่งศาสนาพอควรเลย / จนไปถึงการเข้ามาในราชสำนัก การเข้าถึงสมเด็จพระนารายณ์ และทำให้ท่านเชื่อใจ ขนาดว่าขาดไม่ได้ต้องเรียกคุยกันตลอดเวลา / หรือเรื่องที่กลุ่ม พระมิชชั่นนารี พยายามจะให้สมเด็จพระนารายณ์ เข้ารีต ซึ่งเล่มนี้เคลมว่าเกือบได้ ถ้าท่านไม่ทรงพระประชวรแบบขนาดหนักไปซะก่อน ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นให้มีการส่งฑูตไปฝรั่งเศส และขอทหารฝรั่งเศสมาช่วยคุ้มกัน สมเด็จพระนารายณ์ ตามคำขอของ ฟอลคอล ซึ่งต่อมามีการตกลงเรื่องเมืองกึ่งเมืองขึ้นที่จะยกให้ฝรั่งเศส เช่นสงขลา, มะริด และกรุงเทพ หรือการพูดคุยกันเองเรื่องการขุดคลองคอคอดกระ (คิดดูครับมีคนอยากทำตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์) / ดูไปดูมาฟอลคอลฉลาดมากๆครับ เปรียวทีเดียวแต่ก็ไม่แปลกสำหรับคนระดับนี้ แต่เล่มนี้ออกจะเป็นภาพ ฟอลคอลแนวซื่อๆนะครับ ดูน่าสงสารในบางตอน ผิดถูกประการใด ต้องเช็คจากเล่มรวมพลคนเหม็นหน้า ฟอลคอลอีกครั้งอีกทั้งในกรณีประวัติส่วนตัวก็เป็นคำบอกเล่า ซะมาก นักบวชเพียงจดตามความทรงจำเพื่อส่งจดหมายฉบับนี้ต่อ

ในช่วงท้ายๆมีการเล่าถึงการช่วงชิงอำนาจและแผนของพระเพทราชา ที่ไม่รู้ว่าเล่มนี้จะเรียกว่าด่าหรือชม ว่ามีกลเกมส์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเนื่องด้วย พระเพทราชาเป็นคนที่ฉลาดแต่ก็โหดเหี้ยมมากๆพอๆกัน (อันนี้เล่มอื่นๆที่เคยอ่านมาก็กล่าวเช่นนั้นแต่แผนการอาจจะละเอียดแตกต่างกันไปตามมุมมองที่เจอ) / หรือแผนตอบกลับของฟอลคอล ต่อแผนพระเพทราชา ไปจนถึงการหักหลังกันเองของคนของฟอลคอล มีบางชื่อที่ขึ้นมาที่ผมบอกแต่แรกว่าแปลกใจ แต่ไม่เหลือเชื่อ คือชื่อของ ท่านโกษาธิบดี (ปาน) อย่างไรก็แล้วแต่ต้องลองหาอ่านเล่มอื่นประกอบด้วยอีกครั้ง / หรือเหตุการณ์หลัง ฟอลคอลตายและการตก ระกำลำบากของ มาดามฟอลคอล เป็นต้น แถมด้วยจดหมายที่ลงลายเซ็นต์ ของ ฟอลคอลส่งไปหา หลวงพ่อ เดอะ ลาแชส และจดหมายลับที่ส่งถึงโป๊บอินโนเซนต์ที่ 11 / ถ้าถามว่าน่าสนใจไหมผมว่าอ่านสนุกและน่าสนใจแม้สำนวนจะดูเก่าไปสักหน่อยก็ตาม (ในส่วนจดหมายลับสำนวนเก่าถึงเก่ามาก ผมเองไม่ค่อยอินเท่าไหร่ แต่เนื้อหาก็เป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับทำความเข้าใจบริบทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) แล้วจะเห็นมุมมองใหม่ๆครับอันนี้แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น