วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

The Brothers Karamazov - Fyodor Dostoevsky


The Brothers Karamazov - Fyodor Dostoevsky
พี่น้องคารามาซอฟ - ฟีโอโดร์ ดอสโตเยฟสกี
สดใส
(บทนำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล / ภาพประกอบโดย เทพศิริ สุขโสภา)
สนพ.ทับหนังสือ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 21 2009, 11:37 PM

ยามบ่ายของวันฟ้าใสวันหนึ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งแวะมาหาที่บ้าน คุยกันเรื่อยเปื่อย ลงท้ายเพื่อนถามว่า "เห้ยตอนนี้อ่านหนังสือไรอยู่ว่ะ" ว่าแล้วก็คว้าขึ้นมาโชว์ แบบอวดๆเล็กน้อย เพื่อนร้องคำแรกเลยว่า " เห้ยนี่มัน text book นี่หว่า สาดดด หนาโคดๆๆ" ผมก็ตอบว่า "เห้ย คลาสสิคๆ รู้ไหม สาดดดด ดอสโตเยฟสกีอ่ะ สาดดดดรู้ไหม เหอๆ"

ด้วยว่าความหนาและเนื้อหาที่ค่อนข้างมากแบบละเอียดเพราะเป็นการเจาะเหตุการณ์ของบุคคล คำว่า text book ก็ไม่น่าไกล เพียงแต่มันอ่านเพลิดเพลินกว่า (แต่ถ้าใครอ่านกลศาสาตร์ของไหล แล้วรู้สึกว่าเพลินกว่าจะแย้งก็ได้นะ เหอๆ อันนั้นแล้วแต่ความชอบ) ความหนาของเล่มนี้อาจทำให้หลายคนถอดใจ บางคนอาจเหมือนผม คือถอยไปตั้งหลักก่อน แต่ถ้าลองอ่านดู แม้เพียงบทจะเข้าใจทันทีว่าทำไม ถึงเพลิน ทำไมถึงคลาสสิค การพรรณาแบบ ดอสโตเยฟสกี นั้นมีลักษณะเฉพาะตัวมาก บางคนอาจแย้งว่า เป็นสไตล์นักเขียนรัสเซีย แต่ในรายละเอียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน จริงอยู่ว่าบางคนไม่ค่อยชอบ อย่าง อันตัน เชคอฟ ก็บ่นๆว่าฟุ่มเฟือย แต่ก็นำลักษณะบางประการไปใช้

ถ้าอ่านส่วนหนึ่งของบทนำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จะเห็นภาพและบทสรุปสั้นๆ ของนวนิยายเรื่องนี้พอควร คือมีการไกด์และแนะนำ บางช๊อต แต่ไม่เสียอรรถรส แน่นอน เพราะมันคร่าวมากๆนั่นเอง / ถ้ารู้ตอนหลังจะยิ่งงงว่าเล่มนี้ยังไม่สมบูรณ์ (1032 หน้า) เพราะนักเขียนตายก่อน และยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเราอ่านถึงตอนสุดท้ายคือมันรู้สึกเหมือนขาดๆไปนิดแต่จะจบแบบนี้ก็ได้ เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 4 ภาคใหญ่ ประกอบไปด้วย 13 บท และตอนย่อยๆในแต่ละบทอีกทีหนึ่ง บวกด้วย ภูมิหลังผู้เขียนและบทสั้นจากผู้เขียนในการเกริ่นนำก่อนเข้าเรื่อง

เรื่องนี้ใช้วิธีการนำเสนอแบบผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่อง, บางตอนเป็นบันทึกช่วยจำ, บางตอนเป็นเรื่องเล่าจากคนอื่นทอดหนึ่ง โดยใช้เรื่องพี่น้องสามคนจากตระกูล คารามาซอฟ เป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง ทั้งหมดพ่อเดียวกันแต่ต่างแม่ (2คน) อาจพูดได้ว่าความแตกแยกในตระกูลสมานได้ด้วย น้องคนเล็ก (อโลชาหรือ อเลกไซ) ที่เป็นคนค่อนข้างเคร่งในศาสนา จิตใจงาม ในระหว่างเหตุการณ์ยังบวชอยู่ (ภายใต้การดูแลจาก ท่านผู้เฒ่าซอสสิมา - ผมชอบประโยคพูดในหลายๆตอนของตัวละครนี้มากๆ) ปัญหาหลักมักมาจากพ่อ (ฟีโอโดร์ พาฟโลวิช) ผู้เป็นตัวแทนของการหลงมัวเมาในทางกิเลส (ชอบหลอกตัวเอง [บทที่ 2/ตอน 2]) กับ พี่ชายคนโต (มิตยาหรือ ดมิตรี) ผู้มีศักดิ์ศรีแต่ก็มีประเด็นทางด้านกิเลสเหมือนกัน เรื่องที่ไม่กินเส้นกันเป็นเรื่องเงินๆทองๆและมรดกจากแม่ของมิตยา สอดแทรกโดยพี่ชายคนรอง (อีวาน) ผู้ซึ่งเราอาจจะมองได้ว่าเหมือนคนสังคม ปัจจุบันมากเหมือนกัน มีประเด็นทางด้านศาสนาที่ต้องเรียกว่าโดดเด่นพอตัวสำหรับยุคนั้น (ลองดู บทที่ 5/ตอน 5 ประกอบ) แต่ละตัวละครหลักมี บทบาทและลักษณะทางความคิดเฉพาะตัว เสริมเรื่องด้วยตัวละครประกอบหลายตัวที่มีลักษณะและผลกระทบต่อเรื่องที่หลากหลาย หลายตัวเสริมนำเสนอมุมมองได้น่าสนใจยิ่ง และบางตัวนำเสนอทางด้านศาสนา (บทที่ 1/ตอน 5, บทที่ 6) อย่างน่าสนใจ แต่อาจน่าเบื่อได้สำหรับบางคน เพราะเป็นบทที่มีการพรรณาที่ค่อนข้างยาว (บทที่ 6/ตอน 3)

ตัวละครอีกตัวที่มีเสน่ห์ และถือเป็นตัวพลิกก็ได้ คือ สเมอร์ดิยาคอฟ (ช่วงบทที่ 11 จะเป็นการสรุปประเด็นต่างๆของตัวละครนี้ จริงๆแล้วเราจะเห็น เสน่ห์ ของตัวละครนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นๆแล้ว) หรือลองดูประเด็นความร้ายๆในจิตใจคนที่มีเสนอ ในแต่ละตัวละครตลอดเวลาทั้ง หญิง ชาย หรือ แม้กระทั่งเด็ก การลงลึกในจิตใจปุถุชนคนธรรมดา เป็นเรื่องที่ ถ้าผู้เขียนไม่ละเอียดหรือมีความเข้าใจดีพอ ก็อาจทำให้เรื่องดูเบาๆไม่น่าเชื่อได้ แต่เรื่องนี้มีปัญหานี้น้อยมาก ค่อนข้างสมบูรณ์ จนสงสัยเหมือนกันว่า เขียนขนาดนี้ได้ยังไง ยิ่งบทที่ 12 จะมีการคล้ายๆสรุปและเน้นรายละเอียดอีกครั้ง เป็นบทที่สนุกและซับซ้อนพอตัว จะเห็นชัดเลยใประเด็นนี้ จริงอยู่ในรายละเอียดบางจุด อาจอ่านดูแล้วแปลกๆแต่ในภาพรวมถือว่า เต็มไม้เต็มมือดี

ถ้าเคยอ่านงานของ มูรากามิ จะรู้เลยว่า แกชอบเล่มนี้ขนาดไหน เราเห็นแรงบันดาลใจในบางส่วนจากเล่มนี้ได้เลยในงานของ มูรากามิ จริงๆแล้ว เล่มนี้ถือว่าเป็นขวัญใจของคนดังและนักเขียนชื่อดังหลายคน อย่าง ไอน์สไตล์ หรือ โฟล์กเนอร์ หรือ เฮสเส ผมถึงว่าควรลองอ่านดู แล้วจะรู้ว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน แม้เรื่องนี้จะออกด้านมืดและความหดหู่ในใจคนแต่ในนั้นมันก็พอมีแสงเล็กๆอยู่ด้วย อีกอย่างผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หลังอ่านเสร็จว่า เรื่องนี้มันทำให้เกิดคำถาม และเป็นคำถามที่จะต่อเนื่องต่อไป ทำให้เราต้องคิดตามต่อไปหลังอ่านเสร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น