วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

Utopia - Sir Thomas More


Utopia - Sir Thomas More
ยูโทเปีย - สมบัติ จันทรวงศ์

สนพ.สมมติ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 29 2009, 06:54 PM

เล่มนี้ผมอ่านครั้งล่าสุดคือ เมื่อตอนอยู่ ปี4 ในครั้งนั้นใจผมเชื่อ ราฟาเอล ฮิธโลเดย์ (ในหนังสือคือผู้ที่เล่าเรื่อง - มอร์คือผู้บันทึก) เต็มเปี่ยม ด้วยใจของนักศึกษาผู้เชื่อมั่นเต็มที่ว่า โลกที่ดีกว่านี้ต้องประมาณนี้แหละ ไม่มีการลังเลแม้แต่น้อยว่าบางอย่างมันจะเป็นไปได้หรือ / จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ผมมีปิยมิตร ผู้ถือว่าเป็นผู้ทำให้ผมรักการอ่านอยู่คนหนึ่ง เพื่อนท่านนี้อายุมากกว่าผม เราเตะบอลกันมาแต่เด็ก หลังเตะบอลก็มักพูดคุยกันตามเรื่องตามราว เย็นวันหนึ่งหลังเตะบอลเสร็จ ณ.ตอนนั้นผมอยู่ประถม4 เพื่อนอยู่ประถม6 เราคุยกันเรื่อง ยูโทเปีย ครับ ฟังดูบ้าๆใช่ไหมครับ แต่จริงๆแล้ว ณ. ขณะนั้นเราไม่รู้หรอกว่า ยูโทเปียคืออะไร ใครเขียน ไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป เพียงแต่เราคุยเรื่องสังคมในอุดมคติที่ต้องดีกว่านี้ ตามประสาเด็กๆต่างจังหวัดจะคิดกันได้ / จริงๆเพื่อนผมเป็นคน เอาเรื่องนี้ขึ้นมาคุย เนื่องจากว่า พ่อของเพื่อนผมคนนี้บ้าหนังสือขนาดหนัก มีหนังสือ
แทบทุกประเภท ตั้งแต่ตำราพรหมชาติ ยันคู่มือเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

ฉะนั้นเพื่อนผมเลยชอบหาเรื่องแปลกๆมานั่งคุยกับผมเสมอๆ วันนั้นพอดีมันไปแอบเปิดตู้หนังสือต้องห้ามของพ่อมันเข้า เมื่ออ่านเสร็จมันเลยนำเรื่องที่มันอ่านมาคุยกับผมบอกตามตรงว่าวันนั้นผมฟังซะส่วนใหญ่ เพื่อนผมมันว่าโลกที่ดีกว่านี้ต้องเป็นโลกของวิทยาศาสตร์ ที่เราสร้างได้ทุกอย่างเพื่อตอบสนองคนทุกประเภทและทุกความต้องการ เพราะถ้าทุกคนได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทุกคนก็จะรู้จักพอ วันนั้นผมตั้งคำถามไปว่า อย่างเราอยากได้จักรยานเดินไปบอกเครื่องปุ๊บแล้วได้เลยใช่ไหม เพื่อนบอกว่าประมาณนั้น ผมก็ว่างั้นก็เยี่ยม เพราะแม่งเพื่อนจะได้ไม่อิจฉากันว่ากรูมีมรึงไม่มี เพราะสมัยนั้นบ้านผมใครมีจักรยานพวก บีเอ็มเอ็กซ์ เท่ห์โคด ใครไม่มีก็เซ็งโคด / ซึ่งเมื่อเราโตขึ้นจึงรู้ว่า เรื่องพวกนี้ไม่จริง เพราะความอยากของคนไม่มีที่สิ้นสุด แต่ด้วยความคิดแบบเด็กๆซื่อๆจึงยังคงเชื่อกันว่าจะเป็นเช่นนั้น.....ตอนนี้เพื่อนผมเป็นด๊อกเตอร์ทางฟิสิกส์ และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง(เลียนแบบพวกนสพ.ดาราหน่อย) ผมยังไม่เคยถามมันอีกครั้งเลยว่าที่มรึงเคยคิดและเชื่ออ่ะ ยังยืนยันไหม ปล.แม้แต่ตอนที่ผมอ่าน ยูโทเปีย เองจบในครั้งแรกก็ยังไม่มีโอกาสเลย

กลับมา ณ. ตอนนี้ผมไปซื้อฉบับพิมพ์ใหม่มาอ่าน เพราะไปดู ซีรีย์ เรื่อง ทิวดอร์ ที่เป็นฉบับเฮนรี่ที่8 เท่ห์ โคดๆอ่ะ มีการพูดถึง มอร์ ผมเลยได้แรงจูงใจอย่างแรงให้กลับมาอ่านอีกครั้ง จริงๆก็อยากรู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป เรายังจะคิดเหมือนเดิมไหม / ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า มอร์ ค่อนข้างขี้เล่นมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นทั้งปัญญาชนและผู้เลื่อมใสในศาสนาอย่างแรงกล้า (เขาสั่งเผาคนที่ไปนับถือโปรแตสแตนท์ ไป 8คน รวมทั้งประฌาม มาร์ติน ลูเธอร์ ซะเสียไปเลย) รวมทั้งบรรยากาศที่ศาสนาและพระราชามี อิทธิพลยิ่งในขณะนั้น หรือสังคมที่เน่าขนาดหนัก สิ่งเหล่านี้ประกอบกันขึ้นมาเป็นหนังสือเล่มนี้ (ประวัติชีวิต ของมอร์ ค่อนข้างจบแบบเศร้าๆ แต่ในภายหลังได้ถูกประกาศเป็นนักบุญ หาอ่านได้จากเล่มนี้เช่นกัน เพื่อจะเข้าใจได้ดีขึ้น)

อย่างแรกเลยหนังสือเล่มนี้มีการใส่ทั้งชื่อคนและสถานที่มากมาย(ต้นฉบับเป็นภาษาละติน) ชื่อเหล่านั้นทำให้ดูสมจริงมาก เพราะมีการระบุรายละเอียดหลายๆอย่างลงไปแต่ ตัวอย่างที่เห็นชัดของความขี้เล่นคือ ยูโทเปีย เป็นภาษากรีกกลับแปลว่า "ไม่มีที่ไหน" ความแปลกและพิสดารยังมีปรากฎทั่วไปในหนังสือ / ราฟาเอล ฮิธโลเดย์ - ราฟาเอล ในภาษาฮีบรู แปลว่า"พระเจ้าได้ทรงรักษา", ฮิธโลเดย์ hythloday มาจากภาษากรีก hythlos แปลว่า"ไร้สาระ" daio แปลว่า"ผู้แจกจ่าย" ซึ่งดูไปจะเห็นว่าความหมายมันจะไม่ค่อยไปด้วยกันเท่าไหร่ เนื่องจากสาเหตุใดนั้นลองหาอ่านดูได้ในเล่มนี้ / หนังสือเล่มนี้ในฉบับเดิมแบ่งออกเป็น 2 เล่ม และอีก 2 จม.ตอบโต้ ซึ่งตอนแรกผมดูว่าไม่ค่อยจำเป็น แต่พออ่านๆไป อึมจำเป็นฮ่ะ / เล่มที่ 1 เป็นหัวข้อและแนวคิดของ ราฟาเอล ฮิธโลเดย์ ที่พูดกับมอร์และเพื่อน เล่มที่ 2 จึงเป็นเรื่อง เกาะหรือประเทศที่ชื่อว่า ยูโทเปียทั้งเล่ม ซึ่งว่ากันตั้งแต่ ภูมิประเทศ, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, ประเพณี, การเกษตร และ ศาสนา จริงๆแล้วความโดดเด่นไม่ได้จำกัดเพียงเล่มที่ 2 แต่เล่มที่ 1 ก็มีแนวความคิดที่น่าสนใจเรื่องนักโทษและการลงโทษ หรือ หัวขโมย ที่มาและการลงโทษหัวขโมย ซึ่งต้องลองอ่านและตีความกันดู จริงๆจะว่าความหมายมันตรงๆก็ว่าได้อยู่ หรือจะเป็นเรื่องระบอบกษัตริย์กับประชาชนในบริบทนั้นก็น่าสนใจ

ในเล่มที่ 2 มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นให้ตีความและถกเถียงกัน ผมคงไม่ยกตัวอย่างมาก เพราะน่าอ่านครับ และเดี๋ยวนี้ก็ยังตีความกันได้อยู่ เอาความคิดผมเองแล้วกัน อ่านเสร็จแล้ว ผมคิดว่าในยูโทเปีย ค่อนข้างจะต้องใช้วินัย และการบังคับสูง(ผมคิดถึงคุก กลายๆนะและด้วยความที่มันเป็นเกาะและยากที่จะเข้าถึงยิ่งทำให้อดคิดในแง่นี้ไม่ได้) คือ มันต้องบังคับและควบคุมขนาดว่าให้ซึมไปในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว ฉะนั้นหลายเรื่องผมไม่คิดว่าจะเป็นไปได้แบบถ้าตีความกันตรงๆ แต่สิ่งที่เห็นได้อีกอย่างคือ มอร์ ตีแผ่ความเป็นปุถุชนออกมาอย่างเห็นภาพมาก เพราะสิ่งที่คนยูโทเปียทำ คนในโลกจริงๆแทบไม่มีทางทำได้เลย ต่อให้ว่าเลียนแบบของ เพลโตตรงๆก็ตามเพราะในชุมชน แบบเพลโต ซึ่งผมว่าเคร่งครัดน้อยกว่านี้ ก็ยังทำไม่ได้ นั่นหมายความว่า ไม่มีทางอะไรเลยหรือ คือผมว่าไม่ทั้งหมดหรอก แต่ปรับใช้ได้ทั้งในแง่คุณธรรมการเมือง หรือ ระบบคุมผู้มีอำนาจและผู้แทน หรือระบบการเลือกตั้ง ซึ่งจริงๆมีบางประเทศคล้ายๆนะครับไม่ถึงกับว่าเหมือนทีเดียว อย่างการเลือกผู้มีอำนาจโดยประชาชนในทุกกรณี หรือวิธีการคัดสรรผู้สมัคร ที่ผมว่าน่าสนใจและเป็นไปได้ แต่การลงโทษนั้นผมว่ายังห่างไกลอยู่มาก / จริงๆแล้วมีเรื่องมากมายจริงๆที่น่านำมาคุยกันจากหนังสือเล่มเล็กๆเล่มนี้
ลองผจญภัยกับมัน เพื่อดูให้แน่ว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงขึ้นหิ้งคลาสสิค รวมทั้งเป็นหนังสือบังคับอ่านของเด็กในมหาลัยมานาน / อีกประการนั่นคือการได้สุดยอดผู้แปลหนังสือ ประเภทปรัชญาการเมือง มาแปล รายละเอียดและ เชิงอรรถครบถ้วนอ่านง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น