วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

เพชฌฆาตข้างถนน - ฆอร์เก้ ลูอิซ บอร์เจส [Jorge Luis Borges]


เพชฌฆาตข้างถนน - ฆอร์เก้ ลูอิซ บอร์เจส [Jorge Luis Borges]
รวมเรื่องสั้น - แดนอรัญ แสงทอง แปล

สนพ. สามัญชน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 25 2009, 12:20 AM

เมื่อผมอ่านเรื่องสั้น 2 เรื่องแรก ความรู้สึกคือ บอร์เจส ชอบชีวิตกลางแจ้งแบบลูกทุ่งหรือแบบนักเลงค่อนข้างมาก หลังจากอ่านจบเลยลองย้อนกลับไปอ่านที่ แดนอรัญ แสงทองผู้แปล เขียนแนะนำเรื่องของ บอร์เจส แบบคร่าวๆเอาไว้ ซึ่งน่าสนใจครับ ประมาณว่าบอร์เจส บ้าหนังสือมาก เป็นบรรณารักษ์ ห้องสมุดแห่งชาติที่อาเจนตินาด้วย อีกทั้งเรื่องราวที่แกเชื่อว่าเหตุการณ์ทุกอย่างจะวนกลับมาที่เดิม แต่ต่างบุคคล หลายๆเรื่องในนี้ แกจึงกระทำตนดังนักบันทึกเรื่องราว ซึ่งตัวละครหลายๆเรื่องจะเชื่อมโยงกันไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง มีทั้งตัวละครที่มาจากนิยายดังๆของนักเขียนคนอื่นด้วย แต่ หลักๆแล้ว ประเด็นเชื่อมโยง คือมีด / ในเรื่องของบอร์เจส ตัวละครเกือบทุกตัว ล้วนเป็นนักเลงมีด ผู้ดำเนินไปตาม วิถีของนักเลงมีด ทั้งสั้นและยาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมีดสั้น

เนื่องว่าส่วนหนึ่งเพราะ วัยเด็กของแก ผูกพันกับวิถีชาวบ้านและนักเลงมาก ทั้งๆที่แกก็ถือว่าเป็นพวกมีอันจะกิน ในเรื่องสั้นชุดนี้สิ่งที่ บอร์เจสนำเสนอ ในเรื่องมีด นั้นแสดงในด้านสัญลักษณ์เยอะครับ ทั้งผลของมีด หรือตัวมีดเอง แบบตรงๆคือเรื่องความตาย จริงๆแล้วมีดถือว่าเป็นอาวุธประชิดตัวที่ดูเป็นกันเองมากสุด(ในความคิดผมนะ) เพราะมันถึงเนื้อถึงตัวกว่า เห็นกันชัดเจนกว่า ซึมซาบอารมณ์ได้มากกว่า ฟังดูคล้ายๆ ตัวละครอย่างโจ๊กเกอร์ในแบทแมนภาคใหม่จัง......ในบทแมนภาคใหม่มีตอนหนึ่งที่ โจ๊กเกอร์ บอกว่า ชอบใช้มีด(ฉากที่โดนตำรวจจับมาแล้วปรากฎว่าในตัวมีมีดเป็นสิบเล่ม) เพราะมีดทำให้ตายช้าทั้งซึมซับความรู้สึกได้ดีกว่าปืน จนถึงขนาด โจ๊กเกอร์ เคลมว่า บางทีเค้าอาจรู้จักผู้ตายดีกว่าเพื่อนของผู้ตายซะอีก (จริงๆประโยคคล้ายๆกันนี้ผมเคยได้ยินรุ่นพี่สมัยเด็กคนหนึ่งพูดให้ผมฟังนานมาแล้ว....ซึ่งแกก็ตายเรียบร้อยไปแล้วเหอๆ)

ในแง่ตายช้ากว่าอาวุธอื่นหรือไม่ ในส่วนของ บอร์เจส เสนอทั้งช้าและเร็ว แล้วแต่ว่าต้องการเสนอวัตถุประสงค์ใด อย่างใน "เรื่องเล่าจากปากคำของ โรเซนโด ฮัวเรซ" บอร์เจสนำเสนอ สัจจะของการดวลมีดว่าง่ายทั้ง ฆ่าเขาและถูกเขาฆ่า แต่ในเรื่อง "ท้าดวล" เรื่องของการดวลมีด กลับมีสัญลักษณ์ในแง่การฝากรอยแผล เพื่อการตามหาในอนาคต และเรื่องของความแค้นที่ยาวนาน ซึ่งก็อย่างที่ว่าไปแล้ว ว่าแก่นเรื่องอีกอย่างคือ บอร์เจส เชื่อเรื่อง ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือชะตากรรม ต่อเหตุการณ์ซ้ำๆนั่นเอง ซึ่งในบางกรณี ในบางเรื่อง
เป็นเรื่องออกแนว อำนาจลี้ลับของการแก้แค้นและศักดิ์ ของอาวุธ อย่างในเรื่อง "นัดพบมรณะ" ซึ่งจัดถึงเดาไม่ถูกทีเดียว

ตอนที่ออกแนวหักมุมๆ ที่ติดใจมากๆเช่น "คนผู้ซึ่งได้ตายไปแล้ว" ออกนักเลงจ๋าๆทีเดียว ต้องลองอ่านดู กับอีก 2เรื่องที่ผมว่าแหวกแนวออกไปจากหลายๆเรื่องในนี้คือเรื่อง "ผู้แส่สะเออะเข้ามากั้นขวาง" กับเรื่อง "บทสดุดีพระกิตติคุณแห่งพระคริสต์เจ้าตามที่นักบุญมาร์คได้เรียบเรียงเอาไว้" ทั้งสองเรื่องมีประเด็นศาสนา เข้ามาเกี่ยวข้องนิดๆหน่อยๆในเรื่องแรก และ เป็นแก่นหลักในเรื่องที่สอง ทั้งสองเรื่องหักมุมแบบไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม เรื่องแรกมีช๊อค เรื่องที่สอง ผมว่าขำนะ ไม่รู้สิ คงต้องลองอ่านดู เพราะอาจจะเป็นขำแบบร้ายๆก็ได้

โดยสรุปแล้ว อ่านๆไปผมมักจะนึกถึง เรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ ในแง่ที่เป็นเรื่องสั้นหักมุม แบบที่มีกลิ่นอายแบบบ้านๆ หรือลูกทุ่งๆ ซึ่งเรื่องอย่างนี้แหละที่ผมว่าอ่านสนุกนักคือจะเอาแบบเพลินๆ ก็ได้เพราะมันไม่ยากเกินที่เราจะเข้าใจ เนื่องจากเราอาจจะเคยพบมาแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน อ่านแบบได้แง่คิดทำนอง คติสอนใจแบบชาวบ้านก็ได้หรืออ่านเอาสัญลักษณ์แบบลึกๆ เป็นพวกบุคลาธิษฐาน, เป็นการเปรียบเทียบ ก็ได้ ซึ่งนักเขียนเรื่องสั้นชั้นครูล้วน ใส่กันไว้ทั้งนั้น ลองมาดูเสน่ห์ และถ้าใครเคยได้ยินชื่อเสียงของ บอร์เจสมาก่อน(ประเภทว่าเป็นนักเขียนที่ควรได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุด จนกลายเป็นรอยด่างพร้อยไปเลยเมื่อเขาไม่ได้รางวัล) นี่เป็นโอกาสดี ที่จะได้ลองอ่านก่อนหา ฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านแบบชุ่มปอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น