วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

Salt : A World History - Mark Kurlansky


Salt : A World History - Mark Kurlansky
ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ - เรืองชัย รักศรีอักษร
สนพ. มติชน

ต้นฉบับเขียนเมื่อ May 6 2009, 10:24 PM

"โฮเมอร์เรียกเกลือว่าสสารของพระเจ้า พลาโตกล่าวถึงเกลือว่าเป็นของโปรดพระเจ้า"

เป็นหนังสือไซด์กลางที่อ่านสนุกมากๆ เล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ภาค 26 บท เหมือนเยอะแต่ไม่มากเท่าไหร่สามารถอ่านได้ แบบสบายๆทีละบทตอนว่างๆได้ จริงๆแล้วหนังสือออกแนวประวัติ หรือ ความรู้ทั่วไปแบบเฉพาะเรื่อง ถือว่าขนาดนี้ยังธรรมดา แต่เล่มนี้อย่างที่บอก ไม่ธรรมดาเพราะอ่านสนุก อีกทั้งมีเรื่องหลายเรื่องที่ไม่รู้มาก่อน เช่นเกลือกับความหมกมุ่นทางเพศอย่างไร้เหตุผลและอยู่ใต้จิตสำนึกของคน อึมอ่านไม่ผิดอ่ะ มีคนทำวิจัยมาแล้วและคนนี้เป็นนักจิตวิทยาจากสำนักจุงด้วย โดยเล่มนี้จะนำเสนอเนื้อหาที่ ครอบคลุมหลายด้านของเกลือ ทั้งประวัติและความสัมพันธ์หรือที่มา

หลายคนคงเคยสังเกตว่าเกลือมีอิทธิพลเชิงความเชื่อในหลายวัฒนธรรม ทั้งการไล่สิ่งชั่วร้ายที่มีทั้งในยุโรปและเอเซีย / ส่วนหนึ่งยังเกี่ยวข้องทางด้านศาสนาทั้งอิสลาม และยูดาย(เชื่อว่าเกลือป้องกันดวงตาปีศาจได้), คริสต์ (แจกเกลือศักดิ์สิทธิ์), ชาวอังกฤษและเวลล์โบราณใช้เกลือกับขนมปังให้นักกินบาป กินเพื่อล้างบาปให้คนตาย, ในญี่ปุ่นเห็นๆก็ในซูโม่ หรือเรื่องของเกลือกับกลุ่มชนหนึ่ง หลายคนคงคุ้นชื่อกับ ชาวเซลต์ ซึ่งก็คือ คนที่ตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในไอร์แลนด์ กับ อังกฤษ เผ่านี้เป็นเผ่าเกลือ(ตามคำเรียกของชาวอิยิปต์) คือผลิตและนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกแฮม แล้วนำออกจำหน่ายและบริโภคกันเอง

แม้ว่าจีนอาจจะสามารถอ้างได้ว่ามีวิธีการผลิตเกลือที่ทันสมัยกว่าใคร (แถมอาจจะทำก่อนใครด้วย ย้อนไปถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) แค่วิธีต้มในหม้อดินเผาก็มีก่อนโรมันถึง 1,000 ปี แต่กลายเป็นว่า จีนกลับใส่เกลือลงในอาหารน้อยมาก เหตุใด และวิธีการทำซีอิ๊ว สมัยก่อนทำไง มีให้อ่านด้วยเหมือนกัน / แค่เทคโนโลยีขุดเกลือก็พาโลกก้าวหน้าไป มากมาย ในจีนขุดได้ลึกขนาดที่อีก หลายร้อยปีต่อมา ฝรั่งค่อยดีใจที่ตัวเองขุดถึงที่ระดับความลึกที่คนจีนทำได้ และเชื่อหรือไม่จีนรู้จัก กาซธรรมชาติ ก็เพราะแก้ปัญหาเวลาขุดบ่อเกลือนี่เอง / อีกอันที่น่าสนใจ เกลือกับน้ำมันมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ที่บางคนอาจจะรู้ว่า ที่เก็บน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาเก็บไว้ในโดมเกลือใต้ดิน หลายโดม แต่เป็นเพราะคุณสมบัติบางอย่างของเกลือต่างหาก

เกลือแบบละเอียดเริ่มทำครั้งแรกในจีน และจนถึงปัจจุบันอันเนื่องมาจากข้อกำหนดบางประการที่ทำให้ต้องใส่ไอโอดีนลงในเกลือ แต่อาหารหมักบางอย่างในจีนยังใช้เกลือแบบไม่ใส่ไอโอดีน เหตุผลก็เพราะรสชาดมันเปลี่ยน แต่ปัจจุบันเราสามารถทำเกลือให้มีขนาดเท่ากันได้ทุกเกล็ดแล้ว เพราะอะไร ก็มีให้อ่านด้วย / เคยสงสัยมานานแล้วว่า ทำไม ฝรั่งทำอาหารชอบใช้เกลือ ไม่ใช้น้ำปลา (ทั้งๆที่สมัยโรมันเริ่มทำกันแล้ว) ใจหนึ่งก็อยากเชื่อว่าเพราะกลิ่น แต่ใจหนึ่งว่า ถ้ากินบ่อยๆหรือคุ้นเพียงพอก็ไม่น่าที่กลิ่นจะทำอะไรได้มาก เคยไปโรงแรมที่หนึ่ง เสริฟ ไข่ดาวกินกับ เกลือเม็ดหยาบ ไม่แน่ใจว่าเป็นเกลือสินเธาว์ หรือ เกลือทะเล แต่ได้รสชาดไปอีกแบบ หรือว่าจะเกี่ยวกับการขนส่งมากกว่า

พึ่งรู้เหมือนกันว่าหลายๆคำในภาษาอังกฤษมีที่มาจากเรื่องเกลือๆ เช่น ที่มาของคำว่า ซาลาลี่ (salary - ค่าจ้าง) มาจากสมัยโรมันจ่ายค่าแรงทหารเป็นเกลือ หรือคำว่า สลัด (salad) เพราะพวกโรมัน ชอบนำผักสดมาหมักกับเกลือ (salted)

ถ้าอ่านไปเรื่อยจะสังเกตว่าเล่มนี้มีเมนู อาหารที่เกี่ยวเนื่องกับเกลือหลายเมนู หลายยุค หลายชาติ(อิยิปต์, รัสเซีย, จีน....) ก็อาจเป็นเพราะหลักๆของเกลือเค้าก็เอาไว้ทำอาหาร อยู่แล้ว ฉะนั้นพวกตำราการหมักดอง ถนอมอาหาร ก็เลยน่าจะมีเยอะเป็นพิเศษ แต่เผอิญว่า ชอบกินแต่ไม่ค่อยชอบทำ เลยสนใจได้น้อยกว่าปกติ เวลาอ่าน จึงอ่านในแง่มานุษยวิทยา มากกว่าจะเป็น คหกรรม แต่ถ้าใครชอบและอยากลองก็ไม่น่าพลาด หรือจะเป็นเรื่อง ซอสทาบาสโก้ กับ เกลือ ก็น่าสนใจดี ในแง่ที่มานะ

ถือว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกแบบเพลินๆได้ความรู้ แก้อาการชาด้านที่ปลายประสาทได้ดีเล่มหนึ่ง สมดังประสงค์ ของธรรมชาติที่ให้เราต่างจากไพรเมตก็ที่มีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าเพื่อคิดและสร้างสรรค์ กับ ตำแหน่งและขนาดกล่องเสียงที่เหมาะสมต่อการออกเสียงเป็นคำพูดเพื่อสื่อสาร ฉะนั้นอย่าใช้กันแต่ปากล่ะ เหอๆๆๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น