วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

The Crusades Through Arab Eyes - Amin Maalouf


The Crusades Through Arab Eyes - Amin Maalouf
สงครามครูเสดจากสายตาชาวอรับ - สุธาสินี พานิชชานนท์ แปล

สนพ.คบไฟ

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Mar 13 2009, 10:53 PM

ประการแรกในการอ่านเล่มนี้ของผมเอง ก็เนื่องมาจากช่วงนี้เห็นและสนใจเรื่องอรับ ทั้งปรัชญาและ หนังที่เกี่ยวข้อง อันที่จริงแล้ว วัฒนธรรมและความเจริญก้าวหน้าของ อรับ มีความสำคัญในระดับโลก หมายความว่าส่งผลไปในวงกว้าง ไม่ต่างจาก จีน หรือ อินเดีย ว่ากันว่าวิทยการหลายๆอย่างของตะวันตก มาเจริญก็เพราะลอกเลียนหรือรับไปใช้จาก อรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โหรศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ หรือ แม้กระทั่งพวก อาหารเครื่องดื่ม อย่าง พวกชอร์แบต์ หรือ น้ำผลไม้เข้มข้นแช่แข็ง ของบ้านเราก็ได้รับผลที่สำคัญๆ ก็เช่นการเข้ามาของพ่อค้าจากอิหร่านคนหนึ่งสมัยอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม "ท่านเฉกอะหมัด" ซึ่งต่อมาคือต้นตระกูลบุนนาค เป็นต้น(หาอ่านเพิ่มถ้าสนใจได้จากศิลปวัฒนธรรม ปี 25 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2547 ผมว่าน่าสนใจมากๆครับ บทความอื่นๆก็น่าสนใจเช่นกัน)

มีหลายชื่อ ที่พอจะรู้จักมาก่อนบ้างทั้งจากหนัง หรือ หนังสือบางเล่ม ก่อนหน้าที่จะอ่านเล่มนี้ ผมพอจะรู้ว่า สงครามครูเสด มีหลายครั้ง กินเวลายาวนาน(ประมาณ 200ปี)ถ้าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องก็รู้จัก เช่น ริชาร์ดใจสิงห์ กับ ซาลาดิน ซึ่งอันนี้มาจากหนังเรื่อง kingdom of heaven นอกนั้น รู้แต่พวกรายละเอียด นิดๆหน่อย เช่น พวก เท็มเพลอร์ ซึ่งก้อมาจากหนังในช่วงหลังๆกับหนังสือขายดี อย่าง ดาวิดชี โค็ด หรือ ประโยคเด็ด "ฆ่าคนนอกศาสนาไม่บาป" (ที่มีคนใช้กันเกลื่อน ทั้งเมืองไทย หรือเมืองนอก เมืองไทยคนใช้ มีทั้งพระ และ กลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มที่เปลี่ยนจากฆ่า มาเป็นคำว่าทำร้ายไม่ผิด) นอกนั้นน่าจะเรียกว่าความรู้น้อย แต่เป็นประเด็นให้อยากหามาอ่านต่อยอดความอยากรู้

เล่มนี้เจตนาผู้เขียน คือต้องการให้อ่านง่ายสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวอรับ ซึ่งสมเจตนาเพราะ เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่อ่านง่ายและถือว่าเพลิน แต่ไม่เสียรสชาดในเรื่องข้อมูลไปแม้แต่น้อย / "ครูเสด"แปลตรงๆว่าประดับด้วยไม้กางเขน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการทำสงครามครั้งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ จริงหรือไม่ ณ.เวลานี้คงตอบได้ว่าแล้วแต่ว่า กลุ่มใดมอง ....ในความเป็นจริง ผมว่าเป็นนโยบาย ศาสนานิยมที่มาในรูปผลประโยชน์และการแผ่ขยายอำนาจของชาติตะวันตก ในตะวันออกกลาง โดยเล่นกับความเชื่อของคน เพราะแต่ละเมืองที่เข้ายึด ในช่วงหลังๆเป็นเมืองท่า สำคัญๆซะส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนมีผลประโยชน์มากมาย

ว่ากันที่เรื่องยังไม่เคยรู้มาก่อน คือ ในสงครามนี้ช่วงแรกๆ ฝรั่งพอชนะแล้วมีการต้มและย่าง เชลยศึกกินด้วย อันนี้ความรู้ใหม่มาก เพราะมีการกล่าวกันน้อยในเอกสารฝั่งตะวันตก (คือในความรู้สึกของผม เล่มนี้เป็นกลางในระดับหนึ่ง....ถ้าลองอ่านไปเองอาจจะตอบได้ว่าทำไมผมคิดเช่นนั้น) ประเด็นต่อมา อรับทั้งทะเลาะกันเองและหักหลังกันเองแบบถล่มทลาย คือ โกงกันทุกรูปแบบ มีตั้งแต่ หันไปหาฝ่ายตรงข้ามด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น...คำตอบคือ เหมือนทุกที่ในโลก เมื่อมีผู้ปกครองมากมาย ต่างเมืองก็ต่างใจ ทุกคนกลัวการถูกแทรกแซงจากภายนอก บางเมือง พี่น้องทะเลาะกันเอง ยาวนานจนเป็นสาเหตุให้แพ้ตะวันตก อีกอันคือ ในบริเวณนี้เรียกอรับ จริงๆแล้ว หมายถึงพวกเปอร์เซีย แต่คนสำคัญๆในประวัติศาสตร์ที่มีส่วนในสงครามครูเสดที่ยาวนานนี้ไม่ใช่คนอรับแท้ๆ แต่เป็นคนตุรกี ซะเป็นส่วนใหญ่ทั้งกษัตริย์ หรือ พวกผู้บันทึกเหตุการณ์, ซุลตานบางคนเป็นอาร์มาเนีย, ซาลาดิน เป็นชาวเคิร์ด ซึ่งในปัจจุบันเป็นชนกลุ่มน้อย ทางตอนเหนือของอิรักที่โดนถล่มด้วยอาวุธชีวภาพโดย ซัดดัม ฮุสเซน.....วีรบุรุษเหล่านี้ถูกขนานนามว่าเป็นคนอรับ อันนี้ก็ความรู้ใหม่

อีกเรื่องที่ส่วนตัวสงสัยมานาน ว่าทำไมคนในภูมิภาคนี้บางส่วนมักมีอาการเหมือนผวาฝรั่ง หรือ ทำไมคนที่ลอบยิง พระสันตปะปา จอน์ห พอลที่ 2 ถึงบอกว่าเพื่อ แก้แค้นในนามสงครามครูเสด พออ่านดู ผมถึงเข้าใจว่า ด้วยระยะเวลาอันยาวนานของสงคราม 200 ปี กับ การทารุณโหดร้ายอันเป็นผลเกี่ยวเนื่องของสงคราม ยังไงๆก็ลบจากใจยาก จริงๆแล้วก็ทั้งผู้บุกรุกและผู้ถูกบุกรุก / สงครามกลายเป็นสัญลักษณ์ไปแล้ว

อีกเรื่องที่พึ่งรู้ก้อคือ กลุ่มนักลอบสังหาร หรือ กลุ่มอัสแซสซิน หัวหน้ากลุ่ม เป็นเพื่อน กับ โอมาร คัยยัม กวีคนดังที่แต่ง รุไบยาต อีกอันหนึ่งคือ ที่มาของชื่อกลุ่มนี้มาจาก ที่คนสงสัยกันว่าทำไม กลุ่มคนกลุ่มนี้ถึงยอมตายกันง่ายนัก คนจึงเชื่อกันว่า สงสัยเล่นกัญชาแน่นอน พวกชาวบ้านเลยเรียก กลุ่มนี้ว่า พวก ฮัชชัชชูน หรือ ฮัชชีชชีน ที่แปลว่ากัญชานั่นเอง แล้วค่อยเพี้ยนมาเป็น อัสแซสซิน

โดยสรุปแล้ว ผมว่าผู้เขียนทำหน้าที่ในการค้นคว้าและนำเสนอได้หมดจด กลุ่มอภิธานศัพท์ท้ายเล่ม ก็สุดยอดมาก อ่านเพลินได้ความรู้ แบบที่หนังสือเชิงประวัติศาสตร์ที่ ชมกันอย่างเดียวให้ไม่ได้ เพราะ ด้วยความเป็นคน ย่อมมีผิด และดี กันอยู่แล้วนั่นเอง อีกหนึ่งคือ ผู้แปล คงรสชาดได้เกือบครบถ้วน ส่วนที่ขาด (ก้อจำเป็น อันนี้อ้างจากคำกล่าวของผู้แปล) ในแง่ การใส่คำออกเสียง ซึ่งผมว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสาระที่ได้ / และสุดท้าย เผื่อใครจะอยากต่อยอดไปทำความเข้าใจที่ภาคใต้บ้านเราต่อ ว่ามันซับซ้อนขนาดไหน ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องที่คนส่วนกลางคุยกันแล้วเลิก บางเรื่องผมว่ามันลงลึกแล้วล่ะ คงต้องหาทางช่วยแก้กันให้ถูกจุดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น