วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

นอกบท - มนัส จรรยงค์


นอกบท - มนัส จรรยงค์
รวมเรื่องสั้นอันเป็นที่รัก พิมพ์ในวาระครบ 100ปี
สนพ.แพรวสำนักพิมพ์

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Apr 13 2009, 12:03 AM

ถ้าใครเคยมีโอกาสอ่านเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ มาก่อนคงแทบไม่ต้องสาธยายให้มากความ เนื่องว่าสไตล์ของ มนัสเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น ในสไตล์ที่เรียกว่า ท้องทุ่งไทยๆกินใจ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา รักก็รักมาก แค้นก็แค้นมาก มีบุญคุณต้องทดแทนแค้นต้องชำระ วิธีการแก้ปัญหาตรงไปตรงมาอีกเช่นกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้พบเจอได้ยากในสังคมสมัยใหม่ ที่ใช้ปากพูดมากกว่าใช้สองมือทำ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นแน่ๆคือ ตัวละครของมนัส ดูเป็นจริงมากๆ ถึงแม้ว่าในบริบทแบบปัจจุบันก็ตาม

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนที่เดินทางและผจญภัยไปทั่ว ทำให้มีวัตถุดิบมากมายในการเขียน หลายเรื่องมาจาก วัตถุดิบเหล่านั้น เช่น เรื่องดังๆ อย่าง จับตาย ก็มีในเล่มนี้เช่นกัน และมาจากประสบการณ์ตอน นักเขียนเดินทางไปใช้ชีวิตทางใต้ที่นราธิวาส บรรยากาศแบบป่าดงดิบและการดำเนินชีวิต ทำให้ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครก็จะกินใจในการอ่านครั้งแรกได้แน่ เพราะอย่างที่บอกเนื่องจากความเรียบง่ายและจริงใจของเนื้อเรื่องและตัวละครทำให้ผู้อ่าน รักและรับเรื่องประเภทนี้ได้ไม่ยาก อีกทั้งผู้เขียนลงไป คลุกคลีกับสถานที่และเหตุการณ์นั้นๆเลยทำให้ความสมจริงยิ่งเพิ่มทวี ถ้ายกตัวอย่างในระดับสากล ก็อย่าง จอห์น สไตน์เบ็ค หรือ แฮมมิ่งเวย์ หรือ ลามู (อันนี้จะออกไปทางแนวตะวันตกอย่างเดียว แต่อ่านสนุกมากนะครับ ยิ่งถ้าชอบ cowboy ไม่ควรพลาด)เป็นต้น

นั่นเป็นบรรยากาศแบบป่าๆ ซึ่งจริงๆยังมีอีก เรื่องสองเรื่อง มาในแนวนี้เช่นกัน หรือแนวทะเลๆก็มีหลายเรื่อง แต่แน่นอนว่าร้อยละ 80 ในนี้เป็นเรื่องท่ามกลางท้องทุ่ง ได้บรรยากาศ ดีๆมากมาย แต่ก็มีบางเรื่อง ที่มุ่งประเด็นด้านสังคมและแนวคิดทางการเมืองในสมัยนั้น ซึ่งทำให้เห็นภาพคร่าวๆไปด้วยในตัว เหมือนหลายคนว่าวรรณกรรมนั้นสะท้อนสังคม เช่นเรื่อง นรกคำราม อันนี้แนวปะชดสังคมสมัยใหม่แต่นำเสนอกันในบริบทสังคมท้องทุ่ง, อนุเสารีย์ 2580 ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่แหวกแนวมากๆ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตในมุมมองของผู้เขียน แต่กลับสะท้อนมุมในปัจจุบันมากกว่าอนาคต ประมาณว่าเอาเรื่องปัจจุบัน(สมัย มนัส)มาเขียนแบบอนาคต อึม...ไม่รู้จะว่าไงดีแต่มันประมาณนี้แหละมั้ง

ถ้าเรื่องที่ก่อนหน้านี้เป็นอนาคต เรื่อง ฟองซิกา ก็เป็นแนวย้อนอดีตแบบสุดๆ เรื่องน่าจะเกิดขึ้นในสมัย ร 4. และตัวเอกเป็น โปรตุกีส แหวกแนวจริงๆเมื่อคิดว่าเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2520 ทั้งแนวการดำเนินเรื่องหรือจุดหักมุม ถือว่าโดดเด่น จริงๆแล้วทุกๆเรื่องมีดี ต่างกันไป มีทั้งออกแนวผีๆ และออกแนวเหมือนจะผีแต่ตลก และแนวหักมุม / ในเล่มนี้กล่าวว่ามนัส สามารถเขียนเรื่องสั้นได้ 2 เรื่อง หรือมากกว่านั้นในวันเดียวถ้าจำเป็นหมายความว่าแกวางพล็อตเรื่องและการเขียนรวดเร็วสุดๆนั่นเอง ซึ่งยากมากๆที่ใครจะทำได้ขนาดนั้น เหตุก็คือ เรื่องสั้นนั้นไม่เหมือนเรื่องยาว เพราะมันจะจบกันภายในไม่กี่หน้า ฉะนั้นพล็อตเรื่องจะสั้นๆง่ายและตรงประเด็นในขณะเดียวกันก็ต้องน่าสนใจด้วย ฉะนั้นการคิดเรื่องใหม่ๆแบบนี้จึงถือว่าหนักและหินทีเดียว

ดังนั้นเห็นได้เลยว่าแก เขียนได้หลากหลายแนวจริงๆ ทำให้รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไม่น่าเบื่อ อีกทั้งหลายเรื่อง อาจหาอ่านยากซักหน่อย ก็มีรวบรวมไว้ ขนาดผู้รวบรวมว่า ถือเป็นงานยากที่จะตัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไป เลยทำให้เล่มนี้มีขนาดที่หนามากๆ แต่อย่างที่ว่าไป อ่านลื่นมากจนรู้สึกว่าถ้าทำให้สมบูรณ์มากๆ หนากว่านี้ก็ไม่เป็นไร เหอๆ / เล่มนี้มากันแบบสะใจ 35 เรื่องสั้น บวกด้วย ภาคผนวกที่มีเกร็ดชีวิตและบทสัมภาษณ์ สั้นๆโดย 'รงษ์ วงษ์สวรรค์ เรื่อง จับตาย และ บทชม โดย อัศศิริ ธรรมโชติ / น่าสะสมและน่าอ่านถ้ายังไม่เคยอ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น