วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

อารยะขัดขืน

อารยะขัดขืน
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
(สมบัติ จันทรวงศ์, พจนา จันทรสันติ, ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ แปล)
สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง
ปี 2549
หนา 160 หน้า

ต้นฉบับเขียนเมื่อ Sep 8 2008, 11:05 PM

หนังสือขนาดบางๆที่ริเริ่มในการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยให้กับคำนี้ ก่อนหน้านั้นมักแปลกันว่า "การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย" โดยแปลมาจากคำเดียวกันว่า Civil disobedience ซึ่งแน่นอนไม่ว่าจะแปลอย่างไร นี่คือ"การกระทำทางการเมืองที่มีลักษณะสาธารณะ, สันติวิธี และมีมโนธรรมสำนึกที่ขัดต่อกฎหมาย ปกติเป็นการกระทำโดยมุ่งในเกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐ"(หน้า17) ซึ่งมิใช่การเปลี่ยนระบอบการปกครองเหมือนหลายคนอ้าง / ผู้เขียนเสนอถึงความแตกต่างระหว่างการลุกฮือของพลเรือน Civilian Insurrection ผมว่าจะคล้ายกับในเมืองไทยมากกว่า กับอารยะขัดขืนไว้ด้วย

ผู้เขียนชี้ว่า เนื่องจากคำว่าดื้อแพ่งมีความหมายเป็นด้านลบมากเกินไปจึงเสนอคำนี้แทน ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายของการขัดขืน จงใจละเมิดกฎหมาย คำสั่งทางการที่เห็นว่าไม่ชอบธรรมด้วยเหตุผลบางประการ อย่างเปิดเผยและสันติ (แต่มิใช่ทำตัวอภิสิทธิ์) ก็เพื่อต้องการให้สังคมมีอารยะขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น สังคมนั้นจะต้องถือว่ามีความอารยะทางด้านกฎหมายแล้วในระดับหนึ่ง การขัดขืน เพราะมีบางอย่างไม่ถูกต้อง ประชาชนจึงลุกขึ้นมาขัดขืนแต่ในขณะเดียวกันประชาชนนั้น ต่างยอมรับบทลงโทษจากผลของการกระทำของตน เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น

กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าออกมาอารยะขัดขืน เนื่องจากรัฐบาลไม่ชอบธรรมโดยทำการประท้วงแบบสันติ แต่เมื่อศาลตัดสินว่ากลุ่มคนกลุ่มนั้นผิด สิ่งที่กลุ่มคนกลุ่มนั้นควรทำคือเข้ามอบตัวเพื่อแสดงสิทธิ์นั้นของตัวเอง มิใช่หาคนมาเป็นกำบัง หรือหนีคดี หรือบางคนหนักกว่านั้น ระดมชื่อเพื่อขอปลดศาล (ลุงจำลองที่เคารพนั่นเอง)

หรืออีกอย่างคือ นักศึกษา คิดว่าการกระทำของอาจารย์อย่างนี้ผิดจึงกระทำการอารยะขัดขืน โดยไม่เข้าเรียน หากอาจารย์ จะปรับตกซ้ำชั้นซัก 1 ปี ก้อไม่ตอบโต้แต่อย่างใดอย่างนี้จึงเป็นอารยะขัดขืน

หรือ กรณีข้าราชการ อันนี้ ธอโร เสนอในบทความว่าให้ลาออก กันให้หมดแทน เพราะการหยุดงานประท้วงแล้วยังขอเงินอยู่ ดูจะเป็นการเคลื่อนไหวธรรมดาออกจะหน้าด้านด้วยซ้ำไปเพราะมันไม่สามารถแสดงพลังในแบบประชาธิปไตย แต่มันแสดงพลังในแง่ของ พวกฉันคือชนชั้นอภิสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้ใครเดือดร้อนก้อได้ถ้าฉันไม่เห็นด้วย และแน่นอนกรณีนี้ คนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อนโดยที่ฉันไม่ต้องรับผลของการกระทำนั้น (ออกจะเหมือนพวกพรรคนาซีมากกว่า)

การประท้วงแบบอารยะขัดขืน แท้จริงแล้ว จะไม่มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้นเลย นึกสภาพ คนยอมถูกจับเป็นหมื่นๆ เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นคิดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิครับ มันจะมีพลังขนาดไหน แล้วแน่นอนรัฐแทบไม่สามารถหาความชอบธรรมใดๆมากระทำการรุนแรงใดๆ หรือประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือ ออกมาด่าประชาชนกลับได้เลย ถ้าเป็นแบบขั้นสุด ก้อคือการยอมตายแบบ โสเกรตีส แต่แน่นอนหมายถึงว่า ศาลตัดสินนะครับ ไม่ใช่ศาลเตี้ย

แต่ถ้าเป็นจำพวกฉันจะทำผิดกฎหมายด้วย แต่ฉันไม่ยอมให้จับ ก้อจะทำให้เกิด อคติในหมู่คนทั่วไปได้ง่าย ถึงประเด็นในแง่ความเป็นอภิสิทธิ์ชน เพราะแน่นอนทุกการกระทำย่อมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า เห็นต่าง เช่นหากมีกลุ่มคนประมาณ หลักหมื่นออกมาประท้วง ให้ฉายหนังโป๊ได้อย่างเสรี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บางพวกจะไม่เห็นด้วยทันที หากไม่รับฟังกัน ก้อทะเลาะกันแน่นอน

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยบทความ 3ตอน และเรื่องแปลประกอบ 3 เรื่องได้แก่
- ไครโต ของ โสเกรตีส
สิ่งที่ โสเกรสตีส เสนอคือ การยอมตายเพื่อชีวิตทางปรัชญาที่ตนเชื่อ และ เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เขาถูกพิพากษา นั้นไม่ถูกต้อง อีกอย่างหนึ่ง เขาเสนอเพิ่มเพื่อแย้งด้วยว่า ความเห็นของคนส่วนมากนั้น ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป หรืออีกบทหนึ่ง เขากล่าวว่า เราไม่ควรตอบสนองการกระทำผิดด้วยการกระทำผิด เพราะมันไม่สามารถกลายเป็นสิ่งที่ถูกไปได้ (หน้า74)

- ต้านอำนาจรัฐ ของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร
ธอโรเรียกร้องให้ขัดอำนาจรัฐในกรณีที่ต้องกลายเป็นตัวแทนของความอยุติธรรม / กรณี ธอโร คือ เขาไม่จ่ายภาษี (เหมือนหมอที่ภาคอีสานบ้านเรา แต่ของบ้านเราไม่ยอมให้จับ) เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วย ที่รัฐจะนำภาษีของเขา ไปใช้ในการทำสงคราม กับเม็กซิโก ซึ่งแน่นอน เขาถูกจับ แต่เขากลับบอกว่า คุกไม่สามารถขังความคิดเสรีของเขาได้ และแน่นอน ตัวเขาเชื่อในอำนาจของมนุษย์ หรือความเป็นปัจเจกชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งที่อ่านๆดู ผมว่าของ ธอโร จะเข้ากับบ้านเรามากที่สุด (อันนี้ความเห็นส่วนตัวครับ แต่ดูๆจะเข้า ไปที่รัฐทุกดอก เพราะ ธอโร เน้นต่อต้าน รัฐที่ชั่วร้าย แต่เราไม่สามารถ จับแต่เรื่องนี้ได้)

- จดหมายจากคุกเบอร์มิงแฮม ของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
สำหรับกรณีนี้ จะเป็นเรื่องของแบ่งแยกสีผิว โดยเปรียบเทียบเรื่องฉันกับท่าน และฉันกับมัน (ผมเริ่มเห็นกรณีนี้ในสังคมไทยมากขึ้นเมื่อเราเห็นต่างกัน) ในกรณีนี้ มีบทและข้อความที่แน่สนใจมากมายจริงๆครับ เพราะแกเขียนได้ต่อเนื่อง และครอบคลุมมากๆ น่าเสียดายที่โดนยิงตายไป เสียก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น